สาระน่ารู้


สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 15 ตุลาคม 2567


วันนี้ (15 ตุลาคม 2567)  เวลา 10.00 น.  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

 
          1.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการส่งข้อมูลการอุดมศึกษาและการอื่นที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ....
          2.        เรื่อง     ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ
          3.        เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  
          4.        เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  
 

เศรษฐกิจ- สังคม

          5.        เรื่อง     การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565
          6.        เรื่อง     ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
          7.        เรื่อง     ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4/2567
          8.        เรื่อง     การขยายระยะเวลาการขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดิน       ทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6)
 

ต่างประเทศ

          9.        เรื่อง     การขอความเห็นชอบร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิค (Contract for Technical Assistance) โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการของประเทศไทย (Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan) ภายใต้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency)
          10.      เรื่อง     ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6
          11.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ประจำปี 2567
 

แต่งตั้ง

          12.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ  (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
          13.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ)
          14.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงบประมาณ)
          15.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
          16.      เรื่อง     การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          17.      เรื่อง     คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)
          18.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
          19.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร (กระทรวงการคลัง)
          20.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงยุติธรรม)
          21.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
          22.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
          23.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
          24.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง  (กระทรวงสาธารณสุข)
          25.      เรื่อง     แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงวัฒนธรรม)
          26.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการส่งข้อมูลการอุดมศึกษาและการอื่นที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการส่งข้อมูลการอุดมศึกษาและการอื่นที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และข้อมูลเพิ่มเติมที่ อว. เสนอไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้                                                           
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     อว. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

หลักเกณฑ์

รายละเอียด

1. คำนิยาม

  • “ข้อมูลการอุดมศึกษา” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาและการดำเนินงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันอุดมศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและมาตรฐานการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการทางวิชาการ รวมทั้งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

  • “ฐานข้อมูลการอุดมศึกษา” หมายความว่า ฐานข้อมูลที่รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลการอุดมศึกษา เพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการตรวจสอบสถาบันอุดมศึกษา และการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลการอุดมศึกษาของประเทศ และให้หมายความรวมถึงฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษาด้วย

  • “การจัดส่งข้อมูล”  หมายความว่า การนำเข้าข้อมูลฐานข้อมูลการอุดมศึกษาเพื่อให้สามารถเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างถูกต้อง

  • “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอัยการ หรือองค์กรอิสระ

  • “หน่วยงานภาคเอกชน” หมายความว่า หน่วยงานภาคเอกชนที่มีลักษณะตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ประกาศกำหนด

2. หลักการสำคัญในการส่งข้อมูลฯ

  • ไม่สร้างภาระเกินสมควรให้แก่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้

  • มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบฐานข้อมูลต่าง ๆ

  • จัดเก็บข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

  • การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและยกระดับความปลอดภัยข้อมูล

  • กำหนดขั้นความลับในการเข้าถึงข้อมูล

  • การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย ข้อมูลข่าวสารบุคคลและข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

3. หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาการส่งข้อมูล

  • ให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการอุดมศึกษาและการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หรือ อว. ร้องขอ

  • การจัดส่งข้อมูล อาจจัดส่งข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบอื่นตามที่ สป.อว. หรือ อว. กำหนด

  • ให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานภาคเอกชนส่งข้อมูลภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ สป.อว. หรือ อว. ร้องขอ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นและเหมาะสม ปลัดกระทรวงอาจกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 180 วัน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่ร้องขอก่อนการดำเนินการ

4. การบริหารจัดการข้อมูลการอุดมศึกษา

  • ให้ สป.อว. มีหน้าที่จัดหาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลการอุดมศึกษาเพื่อประโยชน์ในการให้บริการข้อมูล ณ จุดเดียว รวมถึงการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และฐานข้อมูลอื่นกับหน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน

  • กรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนจัดส่งข้อมูลฯ ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ สป.อว. มีหนังสือเตือนไปยังหัวหน้าหน่วยงานนั้นให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยหากไม่ปฏิบัติตามหนังสือเตือนให้ได้รับสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย ตามที่สภานโยบายประกาศกำหนด

  • หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามหนังสือเตือนโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตามที่กำหนด

 
2. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้  
                    สาระสำคัญ
                    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (23 กรกฎาคม 2567) เห็นชอบในหลักการและคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศฉบับปัจจุบัน (ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงานและยานพาหนะ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมรักษาการ กำหนดความผิดและมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งร่างประกาศในเรื่องนี้ยังคงหลักการเดิมในการกำหนดให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ เช่น สถานบริการ โรงแรม โรงงาน เป็นต้น อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ได้ปรับแก้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลให้เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ดำเนินกิจการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเพิ่มฐานความผิดการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เช่น (1) ชี้แจงให้ความรู้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับบริการ เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ อย่างน้อยปีละครั้ง (2) อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ (3) ตรวจสอบให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดกล่าวอ้างว่ามีการใช้กำลังบังคับ หรือทำร้ายเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เป็นต้น
          ร่างประกาศดังกล่าวมีมีสาระสำคัญ ดังนี้ 
                    1. กำหนดให้ พม. กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะตามกฎหมายนั้น กำกับ ดูแลให้เจ้าของ   ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการ ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะดังต่อไปนี้
                               (1) ชี้แจงหรือให้ความรู้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับบริการอย่างน้อยปีละครั้ง
                               (2) อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้
                               (3) ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดกล่าวอ้างว่ามีการใช้กำลังบังคับหรือทำร้ายเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
                               (4) อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในสถานประกอบกิจการ โรงงาน หรือยานพาหนะ ที่ตนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง
                               (5) ควบคุม สอดส่อง และดูแล ไม่ให้มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
                               (6) แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือให้ข้อมูลข่าวสาร หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลซึ่งมีเหตุอันสมควรสงสัยหรือควรเชื่อได้
                    2. กำหนดให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงานและยานพาหนะ ได้แก่ สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ อาคารที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ อาคารชุด เกสต์เฮ้าส์ (Guest House) หรืออาคารที่ให้ผู้อื่นเช่า1 โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย อยู่ภายใต้บังคับของมาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
 
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....   
                     คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา  แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับ สาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567 โดยมีสาระสําคัญเป็นการเพิ่มเติมปริญญาดุษฎีบัณฑิตของสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย และแก้ไขชื่อ “สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์” เป็น “สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ” รวมถึงกําหนดปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา และสีประจําสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ที่ได้เปิดสอนเพิ่มขึ้น ดังนี้
 

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567

ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

มาตรา 3 ให้กําหนดชื่อปริญญาในสาขาวิชา และอักษรย่อสําหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(2) สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พท.ด.”
 
(ข) โท เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พท.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยบัณฑิต”ใช้อักษรย่อ “พท.บ.”
ฯลฯ

มาตรา 3 ให้กําหนดชื่อปริญญาในสาขาวิชา และอักษรย่อสําหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(2) สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พท.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
(ข) โท เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต”  ใช้อักษรย่อ “พท.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยบัณฑิต”          ใช้อักษรย่อ “พท.บ.”
ฯลฯ

(8) สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตร ดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
(ข) โท เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.บ.”
 
ฯลฯ
มาตรา 7 สีประจําสาขาวิชา มีดังต่อไปนี้
(1) สาขาวิชาการบัญชี             สีฟ้าเทา
(2) สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย สีเขียวหัวเป็ด
(3) สาขาวิชาการศึกษา            สีฟ้า
(4) สาขาวิชาเทคโนโลยี           สีทอง
(5) สาขาวิชานิติศาสตร์           สีขาว
(6) สาขาวิชานิเทศศาสตร์        สีน้ำเงินอ่อน
(7) สาขาวิชาบริหารธุรกิจ        สีชมพู
(8) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สีม่วง
(9) สาขาวิชารัฐศาสตร์          สีม่วงอ่อน
(10) สาขาวิชาวิจิตรศิลป์         สีแดง
      และประยุกต์ศิลป์
(11) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์      สีเหลือง
(12) สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สีเลือดหมู     
(13) สาขาวิชาศิลปศาสตร์       สีแสด
(14) สาขาวิชาศึกษาศาสตร์     สีเทาเข้ม
(15) สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สีน้ำตาล
(16) สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สีบานเย็น
 
 
 
 

(8) สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตร ดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
(ข) โท เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.บ.”
(9) สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “พยาบาลศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
(ข) โท เรียกว่า “พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “พยาบาลศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.บ.”
ฯลฯ
มาตรา 7 สีประจําสาขาวิชา มีดังต่อไปนี้
(1) สาขาวิชาการบัญชี             สีฟ้าเทา
(2) สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย สีเขียวหัวเป็ด
(3) สาขาวิชาการศึกษา            สีฟ้า
(4) สาขาวิชาเทคโนโลยี           สีทอง
(5) สาขาวิชานิติศาสตร์           สีขาว
(6) สาขาวิชานิเทศศาสตร์        สีน้ำเงินอ่อน
(7) สาขาวิชาบริหารธุรกิจ        สีชมพู
(8) สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ        สีม่วง
(9) สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์    สีชมพูอมส้ม
(10) สาขาวิชารัฐศาสตร์          สีม่วงอ่อน
(11) สาขาวิชาวิจิตรศิลป์         สีแดง
      และประยุกต์ศิลป์
(12) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์      สีเหลือง
(13) สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สีเลือดหมู     
(14) สาขาวิชาศิลปศาสตร์       สีแสด
(15) สาขาวิชาศึกษาศาสตร์     สีเทาเข้ม
(16) สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สีน้ำตาล
(17) สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สีบานเย็น

 
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  
                     คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร       (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา  แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสําคัญเป็นการกําหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสําหรับสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ และสาขาวิชาวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์และเพิ่มระดับชั้นปริญญาโทในสาขาวิชาเทคโนโลยี รวมถึงกําหนดสีประจําวิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ ดังนี้

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560

ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจําตําแหน่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ฉบับที่...) พ.ศ. ....

มาตรา 3 ให้กําหนดชื่อปริญญาในสาขาวิชา และอักษรย่อสําหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(4) สาขาวิชาเทคโนโลยี มีปริญญาหนึ่งชั้น คือตรี เรียกว่า “เทคโนโลยีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ทล.บ.”
 
ฯลฯ
 
“มาตรา 7 สีประจําคณะ และวิทยาลัย มีดังต่อไปนี้
(1) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม       สีม่วงแดง
(2) คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์   สีชมพู
(3) คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน     สีเทา
(4) คณะบริหารธุรกิจ                   สีฟ้า
(5) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สีเหลือง
(6) คณะวิศวกรรมศาสตร์              สีแดงเลือดหมู
(7) คณะศิลปศาสตร์                  สีขาวนวล
(8) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์        สีน้ำตาล
    และการออกแบบ
(9) คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ           สีน้ำเงินเข้ม
    และออกแบบแฟชั่น
    และประยุกต์ศิลป์

มาตรา 3 ให้กําหนดชื่อปริญญาในสาขาวิชา และอักษรย่อสําหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(4) สาขาวิชาเทคโนโลยี มีปริญญาสองชั้น คือ
(ก) โท เรียกว่า “เทคโนโลยีมหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ “ทล.ม.”
(ข) ตรี เรียกว่า “เทคโนโลยีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ทล.บ.”
ฯลฯ
(6) สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
(ข) โท เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “รป.บ.”
(7) สาขาวิชาวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ มีปริญญาสามชั้น คือ
(ก) เอก เรียกว่า “ศิลปดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ศล.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
(ข) โท เรียกว่า “ศิลปมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ศล.ม.”
(ค) ตรี เรียกว่า “ ศิลปบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ศล.บ.”
ฯลฯ
“มาตรา 7 สีประจําคณะ และวิทยาลัย มีดังต่อไปนี้
(1) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม       สีม่วงแดง
(2) คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์   สีชมพู
(3) คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน     สีเทา
(4) คณะบริหารธุรกิจ                   สีฟ้า
(5) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สีเหลือง
(6) คณะวิศวกรรมศาสตร์              สีแดงเลือดหมู
(7) คณะศิลปศาสตร์                  สีขาวนวล
(8) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์        สีน้ำตาล
    และการออกแบบ
(9) คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ           สีน้ำเงินเข้ม
    และออกแบบแฟชั่น
    และประยุกต์ศิลป์
(10) วิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ  สีทอง”

 

เศรษฐกิจ – สังคม

5. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 (โครงการฯ) ในประเด็นแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรฯ) (Exclusion Error) ตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน) เสนอ

จากเดิม

ปรับเป็น

การแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรฯ (Exclusion Error) จะเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการฯ อย่างน้อย  ปีละ 1 ครั้ง

การแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรฯ จะเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการฯ ครั้งต่อไปในระยะเวลาภายใน 2 ปี นับจากวันที่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรกในโครงการที่เปิดรับลงทะเบียนครั้งล่าสุด

         
                    สาระสำคัญ
                     คณะกรรมการฯ รายงานว่า
                     1. การดำเนินโครงการฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติ สามารถใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ในวันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากมีประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เพราะมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติจากเดิมที่ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลของผู้ลงทะเบียน เป็นตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน (เกณฑ์บุคคล) และครอบครัวของผู้ลงทะเบียน (คู่สมรสและ/หรือบุตร) (เกณฑ์ครอบครัว) โดยหากผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์บุคคลแล้ว จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ครอบครัว (ถ้ามี) ในขั้นตอนต่อไป ซึ่งส่งผลให้การตรวจสอบคุณสมบัติเกิดความคลาดเคลื่อน และทำให้มีการตรวจสอบข้อมูลของผู้อุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติอีกหลายครั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาเกินกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้อุทธรณ์กลุ่มสุดท้ายสามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกได้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ที่ได้รับสิทธิอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตน
                     2. เพื่อให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง คณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 จึงพิจารณาประเด็นดังกล่าวและมีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (1 กุมภาพันธ์ 2565) เรื่อง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ในประเด็นแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรฯ (Exclusion Error) โดยจะเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการฯ ครั้งต่อไปในระยะเวลาภายใน 2 ปีนับจากวันที่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรกในโครงการที่เปิดรับลงทะเบียนครั้งล่าสุด (ต้องเปิดรับลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2568 เนื่องจากสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566) โดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย (ประมาณการจากกลุ่มกรอกข้อมูลลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 ไม่ครบถ้วน 1.3 ล้านราย กลุ่มผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวนประมาณ 5.1 ล้านราย และกลุ่มผู้ที่ตกหล่น/ต้องการลงทะเบียนเพิ่มจำนวนประมาณ 2 ล้านราย รวมถึงกลุ่มผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากกรมการปกครองจำนวนประมาณ 1.4 ล้านราย)
                     3. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ส่งผลให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐสามารถพัฒนาปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและมีความถูกต้อง เพื่อลดปัญหาสถานะข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนลดการร้องเรียนเรื่องผลการตรวจสอบจากผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งยังส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่สมควรได้รับสิทธิสวัสดิการสามารถรับสิทธิสวัสดิการได้อย่างถูกต้องและช่วยให้การดำเนินโครงการฯ และการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 
6. เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2568
                     คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
                     สาระสำคัญ
                     สำนักงบประมาณนำเสนอเรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรวบรวมรายการงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายในปีต่อ ๆ ไป รวมทั้งจำนวนเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายมีผลใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                     1. อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี งบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1,612 รายการ เป็นวงเงินภาระผูกพันรวมทั้งสิ้น 352,583 ล้านบาท [อยู่ในสัดส่วนตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568)] สำหรับรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 33 รายการ วงเงิน 114,666.6 ล้านบาท เมื่อทราบผลประกวดราคาแล้วเห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณนำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป
                     2. อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 (เช่น รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20) สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณตามที่เสนอได้ จำนวน 102 หน่วยรับงบประมาณ
                     3. อนุมัติให้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพิ่มวงเงินรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการค่าเช่าทรัพย์สิน จากวงเงินผูกพัน 3,407,055,400 บาท เป็นวงเงินผูกพัน 3,407,055,500 บาท [เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้กำหนดค่าเช่าพื้นที่ให้แก่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินโครงการรวมระยะเวลา 33 ปี เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,407,055,426.83 บาท]
                     4. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่จะต้องจ่ายในรูปของเงินตราต่างประเทศ เช่น รายการค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าเช่าทรัพย์สินในต่างประเทศ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติวงเงินผูกพันที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้รับอนุมัติเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณสามารถปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
                     5. เพื่อเป็นการเร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งราคากลาง คุณลักษณะเฉพาะ แบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการ จัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบให้แจ้งสำนักงบประมาณทราบและดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้
 
7. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4/2567
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 78 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
                               1.1 ร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
                               1.2 ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
                     2. รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
                     สาระสำคัญ
                     สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน   ครั้งที่ 4/2567 มีสาระสำคัญเป็นการขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2568 (พื้นที่คงเดิม) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ยุติลงโดยเร็ว รวมทั้งหากไม่มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่อยู่ในการควบคุมตัวในกระบวนการซักถามของฝ่ายความมั่นคงและที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
8. เรื่อง การขยายระยะเวลาการขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1.เห็นชอบในหลักการการขอขยายระยะเวลาการขอยกเว้นการยื่นรายการ ตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6)  ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
2. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกํากับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลา ที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้
                     สาระสำคัญ
                      กต. เสนอว่า
1. ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าว บางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ รายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ลงวันที่ 11 เมษายน 2567 กําหนดให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ตามช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง ได้รับยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของ คนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 รวมจํานวน 16 ด่าน ได้แก่
1.1 ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ดังนี้
(1) ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
(2 ด่านตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เฉพาะช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางบกจากพรมแดนถึงที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร
(3) ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เฉพาะช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางบกจากพรมแดนถึงที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง หนองคาย และช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางรถไฟจากพรมแดนถึงบริเวณเขตสถานีรถไฟหนองคาย
(4) ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเฉพาะช่องทางอนุญาตเส้นทางคมนาคมทางบกจากพรมแดนถึงที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน
          (5) ด่านตรวจคนเมืองปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา
(6) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา
(7) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
(8) ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จังหวัดยะลา
1.2 ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำที่เดินทางมากับเรือสําราญและกีฬา (เรือยอร์ช) ดังนี้
(1) ด่านตรวจคนเข้าเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
(2) ด่านตรวจคนเข้าเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี
(3) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสีชัง จังหวัดชลบุรี
(4) ด่านตรวจคนเข้าเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง
(5) ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
(6) ด่านตรวจคนเข้าเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
(7) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
(8) ด่านตรวจคนเข้าเมืองสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะช่องทางอนุญาตทําเลจอดเรือบริเวณอ่าวหน้าทอน
2 . โดยที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยตามข้อ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 กต. (กรมการกงสุล) จึงได้หารือร่วมกับ มท. สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสํานักงานตรวจคนเข้าเมืองในเบื้องต้นแล้ว ไม่ขัดข้องต่อการขยายระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งไม่ขัดข้องต่อร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษโดยได้รับยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) (ฉบับที่ 2) โดยกําหนดรายชื่อช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ได้รับการยกเว้นทั้ง 16 ด่าน ไว้เช่นเดิม และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
 

ต่างประเทศ

 
9. เรื่อง การขอความเห็นชอบร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิค (Contract for Technical Assistance) โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการของประเทศไทย (Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan) ภายใต้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิค (Contract for Technical Assistance) โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการของประเทศไทย (Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan) ภายใต้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency) (ร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้ คค. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ลงนามในร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     ร่างสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคฯ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่เห็นชอบการขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ) ซึ่งให้เงินทุนแก่ประเทศไทย วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,360,740 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 48.59 ล้านบาท) เป็นเงินให้เปล่า เพื่อดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการของประเทศไทย (Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan) (โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฯ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดมลพิษและอุบัติเหตุทางถนน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค
 
10. เรื่อง ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6 (ร่างบันทึกการประชุมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกการประชุมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. พิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมฯ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6 (ร่างบันทึกการประชุมฯ) โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนของไทยและฟิลิปปินส์ โดยที่ประชุมดังกล่าวจะร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมฯ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมของทั้งสองประเทศที่จะกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน แบ่งเป็น (1) การหารือประเด็นทวิภาคีไทย – ฟิลิปปินส์ และ (2) การหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยมีสาระสำคัญ เช่น ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน การเกษตรและการประมง การท่องเที่ยว ด้านสังคมและวัฒนธรรม การจัดการแรงงาน พลังงาน ความร่วมมือดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านสารสนเทศและสื่อ และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นต้น
 
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ประจำปี 2567
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ประจำปี 2567 โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมปรับปรุงและแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการคลังดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     สาธารณรัฐเปรูในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี 2567 มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 31 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยเอเปคเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยึดหลักของความสมัครใจและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยร่างถ้อยแถลงฯ ไม่ถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (รัฐธรรมนูญฯ)
                     ร่างถ้อยแถลงฯ มีสาระสำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายทางการคลังและการเงินอย่างผสมผสานเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นพลวัต พร้อมกับให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจควรดำเนินนโยบายที่ช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล พัฒนาทุนมนุษย์ และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2567 ภายใต้การนำของสาธารณรัฐเปรู เขตเศรษฐกิจได้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน กลไกกำหนดราคาคาร์บอนในประเทศและมาตรการที่ไม่กำหนดราคา การเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การเงินที่เปิดกว้าง การเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมและการเงินเพื่อบรรเทาความเสี่ยงทางอุทกอุตุนิยมวิทยา (Hydrometeorological Risk) เพื่อให้เขตเศรษฐกิจบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนและการพัฒนาที่ยืดหยุ่น
 

แต่งตั้ง

12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                      (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอแต่งตั้ง                     นายอิสระ ละอองสกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง  (ผู้อำนวยการสูง) กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบูรณาการการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ)  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 29  พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองเสนอแต่งตั้ง  นายวัธนชัย ทองประเสริฐ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนัก 1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง      ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2567  ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
                     ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
14.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                        (สำนักงบประมาณ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุมสมบัติครบถ้วน             สมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นายธีรเดช ถิรพร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป. ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2567
                     2. นางสาวศรินทิพย์ ธนวิจิตรพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณ                เชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป. ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567
                     3. นายพลากร ม่วงพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป.ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567
                     4. นางอมรรัตน์ ภูมิวสนะ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สงป. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สงป.ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567
                     ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
 15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ  (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ               อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ  จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นางศศิพร ปาณิกบุตร ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567
                     2. นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) สำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567  
                        ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
16. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้
                     1. นายอัครา พรหมเผ่า 
                     2. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 
 
17. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai National Mekong Committee: TNMC) ดังนี้
                     องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้งขึ้นใหม่มีดังนี้ 1) รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เป็นประธานกรรมการ  2) เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ  3) กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ          เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน      ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ                   เจ้ากรมอุทกศาสตร์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชัยยุทธ สุขศรี (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำ)  นายวิจารย์ สิมาฉายา (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน)        โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ  ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็น
 
 
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  และผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 
 
18. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ                              (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ     รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 
 
19.  เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร (กระทรวงการคลัง)
                     คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เสนอแต่งตั้งในครั้งนี้ มีดังนี้ 1. นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ  2. ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ 3. นายนำชัย เอกพัฒนพานิชย์ 4. นางสาวนภัสชล    ทองสมจิตร และ 5. นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงยุติธรรม)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
                    1. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ                     ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
                     2. นายกูเฮง ยาวอหะซัน                     ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม             ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง  จำนวน 3 ราย ดังนี้
                     1. นายชื่นชอบ  คงอุดม            ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
                                                              (รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
                     2. นายสยาม   บางกุลธรรม       ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
                     3. นายโรจน์พิศาล  อินทรักษ์     ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งนางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี                   (นางสาวจิราพร สินธุไพร)
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 
 
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้
                     1. นางสาวพลอย ธนิกุล
                     2. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ             
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง เป็นต้นไป
 
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง  (กระทรวงสาธารณสุข)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายวิชัย ไชยมงคล เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 
 
25. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงวัฒนธรรม)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายวิเชียร  สุขสร้อย ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง  จำนวน 5 ราย ดังนี้
                     1. นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ     ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
                     2. นายสรวุฒิ   เนื่องจำนงค์       ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
                     3. นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์        ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง       คมนาคม                                                             (นางมนพร เจริญศรี)
                     4. นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร        ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง       คมนาคม                                                             (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ)
                     5. นางสาวณภัทรา กมลรักษา     ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ
                                                              กระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการ                                                          กระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ)
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป


ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/89130