สาระน่ารู้
สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ตุลาคม 2567
วันนี้ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. ....
4. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
5. เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ทราบในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตํารวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจ เพื่อการแสดง พ.ศ. ....
7. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
เศรษฐกิจ-สังคม |
8. เรื่อง ขออนุมัติขยายระยะเวลาดําเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จํานวน 2 โครงการ [โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) และโครงการอ่างเก็บน้ำ ลําสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดชัยภูมิ]
9. เรื่อง ผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 การช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐให้เข้าถึงสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา และการเร่งรัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ
10. เรื่อง โครงการปรับระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3)
11. เรื่อง ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2567
12. เรื่อง ขอทบทวนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567
ต่างประเทศ |
13. เรื่อง ร่างเอกสารถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ [ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation (AMMSTI) Statement on Artificial Intelligence (AI)]
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974 (Protocol of 1988 relating to the International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974) และพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 (Protocol of 1988 relating to the International Convention on Load Lines, 1966)
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Promoting Sustainable Agriculture)
16. เรื่อง ขอความเห็นชอบเพื่อลงนามเอกสารข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงาน IFAD ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
17. เรื่อง หนังสือสัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit): GIZ)
18. เรื่อง ร่างแถลงการณ์สำหรับการประชุมระดับผู้นำกลุ่มพันธมิตรเอเชียเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting)
19. เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change : ACCC)
20. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 29)
21. เรื่อง การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
แต่งตั้ง |
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม)
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
28. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
31. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์
32. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
*****************************
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางรางประกอบด้วย 1) การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวเส้นทางเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง 2) การเสนอโครงการการขนส่งทางรางโดยแยกเป็นกรณีรถไฟและรถไฟฟ้าให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการ และกรณีรถรางให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการ โดยโครงการใดที่มีเอกชนร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ 3) การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง กำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางรางโดยกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดข้อห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางราง กำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง มี 3 ประเภท ได้แก่ 1) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง 2) ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง และ 3) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางในการจัดให้มีประกันความเสียหาย หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่จะทำให้การเดินรถขนส่งทางรางหยุดชะงัก เหตุฉุกเฉินหรืออุปสรรคต่อการขนส่งทางราง กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง และไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง กำหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์ กำหนดให้มีผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้รถขนส่งทางรางที่จะให้ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนและกำหนดประเภทรถขนส่งทางรางที่ไม่ต้องจดทะเบียน ได้แก่ พระราชพาหนะและรถขนส่งทางทหาร กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการบริหารและการให้บริการระบบการขนส่งทางรางมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถให้บริการด้วยความถี่ที่เหมาะสมต่อความต้องการใช้บริการ ตลอดจนการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนของระบบราง และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการการส่งเสริมด้านมาตรฐาน การให้บริการ และการซ่อมบำรุง โดยมีเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกในการขนส่งและมีอัตราค่าบริการต่อหน่วยที่เหมาะสม อันจะจูงใจให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น และการมีกฎหมายในการกำกับดูแลระบบการขนส่งทางรางจะทำให้เอกชนสามารถเข้ามาประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางรางในเส้นทางที่มีความจุทางเหลืออยู่ได้ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันการประกอบกิจการขนส่งทางราง อีกทั้งจะก่อให้เกิดการขยายโครงข่ายทางรถไฟที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ ลดความแออัดของประชากรในเขตเมืองทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการการขนส่งทางรางที่มีคุณภาพ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการขนส่งทางรางมีอัตราการปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล
กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณเห็นชอบในหลักการ โดยสำนักงบประมาณ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ใช้จ่ายในการบังคับใช้กฎหมายที่จะเกิดขึ้นในระยะ 3 ปีแรกจำนวน 427.88 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เห็นควรให้กรมการขนส่งทางรางเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วนในทุกมิติ โดยคำนึงถึงภารกิจความจำเป็นความสามารถในการดำเนินงานความคุ้มค่าของค่าใช้จ่าย ความครอบคลุมของแหล่งเงินอื่นนอกเหนือจากงบประมาณ และจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นอย่างประหยัดในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานฯ แล้ว คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562 ) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ สธ. เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การนำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้ง การควบคุมกำกับดูแลและการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม สรุปได้ดังนี้
ประเด็น | รายละเอียด |
1. ผู้มีสิทธิขออนุญาต | |
1.1 วัตถุประสงค์ในการขออนุญาต | ㆍการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติด ㆍการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ |
1.2 คุณสมบัติผู้ขออนุญาต | ㆍ เป็นหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานในกำกับของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ㆍเป็นสภากาชาดไทย ㆍเป็นสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ㆍเป็นผู้รับอนุญาตด้านยา ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง หรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือผู้รับอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้อง ㆍเป็นผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ |
2. กระบวนการขออนุญาต | |
2.1 การยื่นคำขออนุญาต | การยื่นคำขออนุญาตจะใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานที่แตกต่างกันไปตามประเภทของบุคคลที่เป็นผู้ขอรับใบอนุญาต โดยให้ดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก |
2.2 ระยะเวลาการพิจารณาคำขออนุญาต |
ㆍให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระ ㆍในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้อนุญาตแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต เมื่อผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตให้ผู้ขออนุญาต ㆍในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ |
3. สิทธิและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต | |
3.1 การขอใบแทนใบอนุญาตและการแก้ไขรายการในใบอนุญาต | ㆍในกรณีที่ใบอนุญาตผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 สูญหาย ถูกทำลาย หรือเสียหายในสาระสำคัญให้ผู้รับอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามแบบคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ㆍผู้รับอนุญาตประสงค์จะแก้ไขรายการในใบอนุญาตให้ยื่นคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้น พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาต |
3.2 หน้าที่ของผู้รับอนุญาต | ㆍนำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออก ㆍผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุ ออกฤทธิ์ในประเภท 1 เฉพาะสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น จัดให้มีการเก็บวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 แยกจากยาหรือวัตถุอื่น จัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 สูญหายหรือมีการนำไปใช้โดยมิชอบ ㆍ แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาต หากประสงค์จะทำลายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ซึ่งคงเหลือจากการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาต ㆍจัดให้มีการทำบัญชีรับจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามที่ได้รับอนุญาตโดยต้องเก็บรักษาบัญชีไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาในขณะเปิดดำเนินการ ㆍเสนอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็นรายเดือนภายในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันสิ้นเดือน - จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 |
4. อัตราค่าธรรมเนียม | |
ㆍกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้ (1) ใบอนุญาตผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 10,000 บาท (2) ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 10,000 บาท (3) ใบอนุญาตส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 1,000 บาท (4) ใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 1,000 บาท (5) ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 500 บาท (6) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราววัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 500 บาท (7) การต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละ กึ่งหนึ่งของ ค่าธรรมเนียม สำหรับใบอนุญาตนั้น กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีผู้ขออนุญาตเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์การมหาชน และหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข 5. บทเฉพาะกาล |
|
ㆍ กำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวงเดิมใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่กฎกระทรวงนี้ มีผลใช้บังคับ |
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงาน ก.พ.ร. สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดําเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไปพิจารณาดําเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการออกกฎหมายลําดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่บัญญัติให้การขออนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การให้ผู้รับอนุญาตดําเนินการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกํากับดูแล และการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้บรรดากฎกระทรวงยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวงมาใช้บังคับ ซึ่งมีการนําสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูก ภายในประเทศ ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมภายในประเทศ และอาจมีการนําไปใช้ในทางที่ผิดซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ จึงมีความจําเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. 2564 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ มีสาระสําคัญเป็นการกําหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง กําหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทน ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การดําเนินการของผู้รับอนุญาต เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล และการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม การวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่โดยที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 กําหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้แก่ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ยกเว้นสารสกัด ดังต่อไปนี้
1) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ
2) สารสกัดจากเมล็ดของกัญชาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ จึงได้เพิ่มนิยาม “สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชา” และ “ผลิต” เพื่อให้สอดรับกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 และกําหนดให้การยื่นคําขออนุญาตให้ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก รวมทั้งกําหนดคุณสมบัติ ผู้ขอรับอนุญาต ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย สถาบันอุดมศึกษา โดยแยกตามวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต เช่น เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม การวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและกําหนดให้ใบอนุญาตใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ 3 นับจากปีที่อนุญาต ตลอดจนกําหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต เช่น 1) จัดให้มีการแยกเก็บสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนสัดจากยาหรือวัตถุอื่น 2) จัดให้มีการวิเคราะห์หาปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ทุกครั้งที่ผลิต และกําหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งไม่เกิน อัตราค่าธรรมเนียมที่กําหนดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบด้วยแล้ว
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงาน ก.พ.ร. สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีข้อสังเกตเพิ่มเติมบางประการ เช่น สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นว่าควรมีการอนุญาตให้ผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง เฉพาะกรณีเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากเป็นวัตถุประสงค์ที่มีความชัดเจนและเกิดประโยชน์ทางสุขภาพสูงสุด ซึ่งเป็นผลที่คาดหวังและเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักในการอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากพืชกัญชา หรือกัญชง ส่วนสารสกัดกัญชาและกัญชงควรกําหนดให้มีการแสดงรายละเอียดแหล่งที่มาของวัตถุดิบพืชกัญชาหรือกัญชงให้ชัดเจนว่ามีแหล่งที่มาจากแหล่งใด เพื่อเป็นการแสดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและเพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณสารสกัดให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
4. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ออกไป 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การเสนอเรื่องขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองฯ ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ที่มีผลใช้บังคับหลังวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 มกราคม 2564 แต่โดยที่ในการจัดทำกฎหมายลำดับรองในเรื่องนี้จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียหลายภาคส่วน อาทิ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และองค์กรผู้เชี่ยวชาญรายใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางทั้งรายเก่าและรายใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในดำเนินการ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2567 จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการออกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
2. สธ. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ดังนี้
กฎหมายลำดับรอง | เหตุผลความจำเป็นในการขอขยายระยะเวลา |
1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบเครื่องสำอาง พ.ศ. .... | เนื่องจากร่างประกาศดังกล่าว มีขั้นตอนในการจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญเดิมที่เคยขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญที่สนใจสมัครเป็นรายใหม่ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจให้ตรงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการจัดทำและเสนอร่างประกาศ |
2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาเครื่องสำอาง พ.ศ. ..... |
เนื่องจากร่างประกาศดังกล่าวมีขั้นตอนในการจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางรายเก่าและรายใหม่ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญเดิมที่เคยขึ้นบัญชีไว้กับ อย. และผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ ที่สนใจสมัครเป็นรายใหม่ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจให้ตรงกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการจัดทำและเสนอร่างประกาศ |
3.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินที่จัดเก็บตามกระบวนการพิจารณาเครื่องสำอาง พ.ศ. .... | อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (กค.) โดย สธ. ได้จัดทำหนังสือถึง กค. แล้ว |
5. เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญร่างระเบียบฯ เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 โดยปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ การกำกับดูแล และการรายงานข้อมูลหนี้ของ อปท. เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ของ อปท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ตลอดจนมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขอกู้เงินเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักการเดิม
ร่างระเบียบฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็น | ระเบียบ คนน. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินของ อปท. พ.ศ. 2561 | ร่างระเบียบฯ ที่ กค. เสนอปรับปรุง |
1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงิน การบริหารหนี้ และการกำกับดูแลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ |
ㆍโครงการลงทุนที่ อปท. จะต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการจะต้องไม่เป็นโครงการที่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน [ข้อ 8(3)] ㆍไม่ได้กำหนดไว้ |
ㆍโครงการลงทุนที่ อปท. จะต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ อปท. สามารถดำเนินการแข่งขันกับเอกชนได้ เฉพาะกรณีเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ [ร่างข้อ 9(3)] ㆍกรณีที่ อปท. จะกู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศหรือกู้เงินจากต่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีก่อนด้วย [ร่างข้อ 14] |
2. กระบวนการก่อนการเสนอขอกู้เงินของ อปท. โดยรวบรวมกระบวนการจัดทำโครงการลงทุนและขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลไว้ในข้อเดียวกัน เพื่อให้ขั้นตอนการเสนอขอความเห็นชอบ หรืออนุมัติการกู้เงิน มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน | ㆍกำหนดให้ อปท. เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินเพื่อทำโครงการลงทุน และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้แก่ประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน ก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ (ข้อ 22) ㆍกำหนดรายละเอียดข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ ตามข้อ 22 โดยต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น - เหตุผลความจำเป็นในการกู้เงิน - รายละเอียดของการกู้เงิน - ผลการศึกษาความเป็นไปได้ ฯลฯ [ข้อ 23] (เดิม ข้อ 22 และ 23 อยู่ในหมวด 3 การกำกับดูแล และการรายงาน) |
ㆍกำหนดให้ อปท. ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และแสดงรายได้หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรายละเอียดวงเงินกู้ และแผนการชำระหนี้เงินกู้ ทั้งนี้ หากโครงการมีผลกระทบต่อชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม ให้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมทั้ง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (เป็นกระบวนการที่เพิ่มจากระเบียบฉบับเดิม) กำหนดให้ อปท. เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินเพื่อทำโครงการลงทุน และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้แก่ประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน ก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ (คงเดิม) ㆍกำหนดรายละเอียดข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ตามข้อ 22 โดยต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น - เหตุผลความจำเป็นในการกู้เงิน - รายละเอียดของการกู้เงิน - ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน ฯลฯ (คงเดิม) [ร่างข้อ 12] (รวบรวมกระบวนการเกี่ยวกับการเสนอขอกู้เงินตามข้อ 22 และข้อ 23 เดิมมากำหนดไว้ในหมวด 1 การกู้เงินของ อปท.) |
3. ปรับปรุงบทนิยาม |
ㆍ กำหนดคำนิยามคำว่า “ภาระชำระหนี้” ที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน โดยไม่รวมถึงค่าธรรมเนียม [ข้อ 3] |
- กำหนดคำนิยามคำว่า “ภาระชำระหนี้”เพิ่มเติม โดยให้รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน เพื่อให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด ที่เป็นต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของ คนน. สถาบันการเงินและองค์การระหว่างประเทศ อื่น ๆ [ร่างข้อ 4] |
4. การรายงานข้อมูล หนี้ของ อปท. |
ให้ อปท. จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของ อปท. ซึ่งประกอบด้วย การก่อหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ยอดหนี้คงค้าง ภาระหนี้ วัตถุประสงค์การกู้เงิน วงเงิน อัตราดอกเบี้ย อายุเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ สัดส่วนยอดหนี้คงค้างต่อรายได้ และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ รวมทั้งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และ สบน. เป็นรายไตรมาสตามแบบที่ สบน. กำหนด [ข้อ 25] | - ให้ อปท. จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของ อปท. เพิ่มเติม โดยกำหนดการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการกู้เงินให้ครอบคลุมข้อมูลหนี้เงินกู้จากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการของ อปท. อื่น และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการนำส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังหน่วยงานกลางในการกำกับดูแล อปท. แต่ละประเภท และสบน. เพื่อให้กรอบในการคำนวณเพดานการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการลงทุนครอบคลุมถึงต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินของ อปท. ได้อย่างครบถ้วน [ร่างข้อ 25] |
5. วันบังคับใช้ | - 17 กรกฎาคม 2561 | - วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา |
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ทราบในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตํารวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจ เพื่อการแสดง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ทราบ ในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตํารวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจเพื่อการแสดง พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับประเด็นการแจ้งโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย และดำเนินการต่อไปได้
สาระสําคัญ
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ทราบ ในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตํารวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจเพื่อการแสดง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกําหนดการแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่จะทําการแสดงทราบ เมื่อมีผู้แสดงที่แต่งเครื่องแบบตํารวจโดยไม่มีสิทธิ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กําหนดไว้สําหรับเรื่องการแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจ เพิ่มเอกสารหลักฐานที่ใช้ยืนยันตัวตนในการแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตํารวจ เช่น สําเนาหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และกําหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้การแจ้งที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเป็นการแจ้งที่สมบูรณ์ตามกฎกระทรวงนี้
ตร. พิจารณาเห็นว่า แม้ว่ากฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ทราบ ในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตำรวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจเพื่อการแสดง พ.ศ. 2553 จะยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้แต่เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ทราบ ในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแบบแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจเพื่อการแสดงสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 5 และมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ 2565 ตร. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ทราบ ในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบ ตํารวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจเพื่อการแสดง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานี ตํารวจแห่งท้องที่ทราบฯ พ.ศ. 2553 | ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ การแจ้งให้หัวหน้าสถานี ตํารวจแห่งท้องที่ทราบฯ |
1. บทอาศัยอํานาจ - กําหนดบทอาศัยอํานาจในการออกกฎกระทรวงให้เป็นตามกฎหมายแม่บทในปัจจุบัน |
|
- อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ | - อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ |
2. คำนิยาม - การกำหนดนิยามเกี่ยวกับ “ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดง” ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน |
|
- “การแสดง” หมายความว่า การแสดงภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอื่นใดทํานองเดียวกันที่ประสงค์ จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน ฯลฯ “ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดง” หมายความว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยเป็นผู้ควบคุมดูแลการถ่ายทํา หรือ กํากับการแสดง ณ สถานที่ที่จะทําการถ่ายทําหรือมีการแสดงแล้วแต่กรณี และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมดูแลการถ่ายทํา หรือกํากับการแสดงด้วย ฯลฯ |
-“การแสดง” หมายความว่า การแสดงภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอื่นใดทํานองเดียวกันที่ประสงค์ จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน ฯลฯ “ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดง” หมายความว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยเป็นผู้ควบคุมดูแลการถ่ายทําหรือกํากับการแสดง หรือผู้แสดงที่เป็นผู้ถ่ายทําหรือกํากับการแสดงด้วยตนเอง ณ สถานที่ที่จะทําการถ่ายทำหรือมีการแสดงแล้ว แต่กรณี และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลเช่นว่านั้นด้วย ฯลฯ |
3. ระยะเวลาการแจ้งการถ่ายทำหรือการแสดง | |
- ข้อ 2 ในการแสดงที่ต้องมีผู้แสดงซึ่งมีสิทธิแต่งเครื่องแบบตํารวจ หรือผู้แสดงจะแต่งเครื่องแบบตํารวจหรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจ ให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดงนั้น แจ้งต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่จะทําการถ่ายทําหรือทําการแสดงนั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันก่อนที่จะมีการถ่ายทําหรือมีการแสดง ทั้งนี้ ตามแบบที่กําหนดท้ายกฎกระทรวงนี้ | คงเดิม |
4. เอกสารหลักฐานประกอบการแจ้งยืนยันตัวตนการแสดงละคร - กำหนดเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการแจ้งต่อหัวหน้าสถานี |
|
- ข้อ 3 การแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ตามข้อ 2 ให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดงแนบเอกสารและหลักฐานประกอบ ดังต่อไปนี้ (1) สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน (2) บทข้าราชการตํารวจที่ใช้แสดง และเนื้อหา ของงานตํารวจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ โดยย่อ (3) รายละเอียดของเครื่องแบบตํารวจหรือเครื่องแต่งกายที่คล้ายเครื่องแบบตํารวจที่ใช้แสดง |
- ข้อ 3 การแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ตามข้อ 2 ให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดงแนบเอกสารและหลักฐานประกอบ ดังต่อไปนี้ (1) สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน หรือสําเนาหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือใบสําคัญประจําตัวคนต่างด้าวที่สมบูรณ์ (2) คงเดิม (3) คงเดิม |
5. การให้คำแนะนำสำหรับการแต่งกายเครื่องแบบตำรวจ | |
- ข้อ 4 ให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่ได้รับแจ้ง ดูแลและแนะนํา โดยให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแสดงดําเนินการมิให้มีการแต่งเครื่องแบบหรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจและบทบาทการแสดงที่ไม่เหมาะสมกับแบบธรรมเนียมปฏิบัติของตํารวจหรือทําให้ราชการตำรวจถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ทางราชการตำรวจ | คงเดิม |
6. บทเฉพาะกาล - กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อให้การแจ้งที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเป็นการแจ้งที่สมบูรณ์ตามกฎกระทรวงนี้ |
|
ไม่มี |
- ข้อ 5 บรรดาการแจ้งตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้งให้หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ทราบ ในกรณีที่จะแต่งเครื่องแบบตํารวจ หรือแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตํารวจเพื่อการแสดง พ.ศ. 2553 ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือว่าเป็นการแจ้งตามกฎกระทรวงนี้ |
7. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาตามมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567 และขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ออกไป 1 ปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. การเสนอเรื่องการขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ของคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ เป็นการดําเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งบัญญัติให้ ภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาร่วมกันพิจารณาเพื่อดําเนินการให้หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทําความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน โดยคํานึงถึงประสิทธิภาพ และการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่และการแบ่งเบาภารกิจของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ และให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุกสามเดือน และเมื่อได้ข้อยุติประการใดแล้วให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนแปลง กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสํานักงานตํารวจแห่งชาติให้สอดคล้องกัน ประกอบกับมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ระยะเวลาดําเนินการตามที่กําหนดในมาตรา 165 หากมีความจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติจะขยายเวลาออกไปครั้งละหนึ่งปีก็ได้ แต่จะขยายได้ไม่เกินสามครั้ง
2. โดยที่การดําเนินการในเรื่องนี้มีกระบวนการหลายขั้นตอนซึ่งมีความจําเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาและใช้ระยะเวลาในการดําเนินการ จึงไม่สามารถ ดําเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายกําหนดภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งจะครบกําหนดในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 อีกทั้งในการตราพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนแปลงกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติจะต้องกําหนดขั้นตอน การถ่ายโอนงาน การโอนและรับโอนข้าราชการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งหน้าที่ และอํานาจในการดําเนินการเกี่ยวกับคดีหรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างดําเนินการด้วย จึงมีความจําเป็นต้อง เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาการดําเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2657 สําหรับการขอขยายระยะเวลาการดําเนินการตราพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนแปลงกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติออกไปอีก 1 ปี ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาตินั้น การขอขยายระยะเวลาดําเนินการตามมาตรา 165 ได้ครอบคลุมถึงการขยายระยะเวลาการดําเนินการตราพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนแปลงกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติแล้ว จึงเข้าข่ายเป็นเรื่องที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
เศรษฐกิจ-สังคม |
8. เรื่อง ขออนุมัติขยายระยะเวลาดําเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จํานวน 2 โครงการ [โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) และโครงการอ่างเก็บน้ำ ลําสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดชัยภูมิ]
คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
โครงการ | เดิม | เป็น |
โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) (โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิฯ) | 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567) |
9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2570) |
ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จำนวน 3,440 ล้านบาท | ||
โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดชัยภูมิ (โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ) | 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567) |
8 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2569) |
ภายใต้กรอบวงเงินโคงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จำนวน 3,100 ล้านบาท |
สาระสำคัญ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาดําเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จํานวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จากเดิม 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2567) เป็น 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2570) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จํานวน 3,440 ล้านบาท และ (2) โครงการอ่างเก็บน้ำลําสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดชัยภูมิ จากเดิม 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2567) เป็น 8 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2569) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จํานวน 3,100 ล้านบาท (ขอขยายระยะเวลาดําเนินโครงการเป็นครั้งแรกทั้ง 2 โครงการ) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (Covid - 19) ซึ่งรัฐบาลได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อจํากัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลและสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจํากัด ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร – เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้
กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สํานักงบประมาณ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานควรมีแผนการติดตามตรวจสอบและเร่งรัดการดําเนินโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการโดยเร็วตามแผนปฏิบัติการที่กําหนดและระยะเวลาที่ขอขยายไว้โดยคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งประโยชน์และความคุ้มค่าที่ประชาชนจะได้รับเป็นสําคัญ นอกจากนี้ สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังเห็นควรให้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติรับทราบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เนื่องจากทั้ง 2 โครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาดําเนินการที่ต่างจากที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เคยมีมติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติรับทราบการขอขยายระยะเวลาของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว
9. เรื่อง ผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 การช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐให้เข้าถึงสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และการเร่งรัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในการผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐให้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น ในพื้นที่นำร่องจังหวัดกาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน โดยมีกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น กลุ่มเป้าหมายที่ 1 ประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน หรือ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 กลุ่มนี้ควรจะได้รับการพิจารณาผ่อนผันก่อนเป็นลำดับแรก และกลุ่มเป้าหมายที่ 2 ประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ ควรจะพิจารณาผ่อนผันตามเหตุผลและความจำเป็น เป็นรายกรณี โดยไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการการบุกรุกที่ดินของรัฐมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน และการใช้ประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ
2. เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) กาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ รวบรวม ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อเร่งรัด การพิสูจน์สิทธิ ในที่ดินให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี หากมีเหตุผลความจำเป็นให้ สคทช. ประสานกำหนดแผนการดำเนินการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเสนอสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาต่อไป
สาระสำคัญ
เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 และ 12 มีนาคม 2567 ที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เร่งพิจารณาขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 (ประชาชนผู้ได้รับทะเบียนบ้านชั่วคราวมาขออนุญาตใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาจะอนุญาตได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานของรัฐเจ้าของที่ดิน) เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงผู้ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาได้เป็นการชั่วคราวตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน ซึ่งในครั้งนี้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ได้กำหนดประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
ประชาชน | ความหมาย | ผ่อนผันการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี |
กลุ่มที่ 1 | ประเภทที่ 1 คือ ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน (ประมาณ 33,019 แปลง) ประเภทที่ 2 คือ ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 (ประมาณ 5,582 ครัวเรือน) |
ให้ได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 เพื่อให้สามารถขออนุญาตใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาได้ โดยไม่ต้องมีทะเบียนบ้านชั่วคราวหรือได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานของรัฐเจ้าของที่ดิน |
กลุ่มที่ 2 | ประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่ม 1 (ประมาณ 6,086 ครัวเรือน) | ให้พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการผ่อนผันการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 เพื่อให้สามารถขออนุญาตใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาได้เป็นรายกรณี |
2. การผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 ในครั้งนี้ เป็นขั้นตอนในการผ่อนคลายข้อกำหนดในการขออนุญาตใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาตามหลักมนุษยธรรม สำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยในป่าประเภทต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิการครอบครอง โดยลดเงื่อนไขที่ผู้ขออนุญาตจะต้องมีทะเบียนบ้านชั่วคราวหรือได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานของรัฐเจ้าของที่ดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ให้บริการไฟฟ้า (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) หรือน้ำประปา (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) แต่สำหรับการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคของประชาชนที่อยู่อาศัยนอกเขตพื้นที่ให้บริการไฟฟ้าหรือน้ำประปานั้น ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบการให้บริการสาธารณูปโภคดังกล่าวหรือความเหมาะสมคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อขยายเขตบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การปักเสาไฟฟ้าเพื่อขยายเขตไฟฟ้า การวางท่อขยายเขตให้บริการน้ำประปา โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีลักษณะเป็นเชิงเขา
3. กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น ควรผ่อนผันการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เพื่อวางท่อส่งน้ำประปาและการขยายเขตระบบไฟฟ้าหากมีกิจกรรมที่รบกวนระบบนิเวศต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เขตอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายังไม่สามารถก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคใหม่ได้ในขณะนี้เว้นเป็นการบำรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างส่วนการขอทำประโยชน์ในเขตป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
10. เรื่อง โครงการปรับระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (Transmission System Improvement Project in Northeastern, Lower Northern, Central Regions and Bangkok Area to Enhance System Security) (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TIEC ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 แล้ว
สาระสำคัญ
1. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ทั้งหมด 3 ระยะ ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 94,040 ล้านบาท โดยให้ดำเนินโครงการดังกล่าวเฉพาะระยะที่ 1 - 2 วงเงินลงทุน 36,690 ล้านบาท ไปก่อน สำหรับการดำเนินโครงการ TIEC ในระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 55,350 ล้านบาท ให้ กฟผ. พิจารณาปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานทดแทนในปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ตลอดจนความจำเป็นในการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าสำหรับรองรับไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง กฟผ. ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการ TIEC ระยะที่ 3 และดำเนินการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานทดแทน รวมทั้งให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อจากโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) โดยได้แบ่งการดำเนินโครงการ TIEC ระยะที่ 3 ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะ | การดำเนินการ | งบประมาณ (ล้านบาท) |
ระยะที่ 3.1 | ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในช่วงปี 2566 - 2571 | 38,500.00 |
ระยะที่ 3.2 | ปรับปรุงระบบไฟฟ้าตามความจำเป็นเพิ่มเติมในอนาคต | 16,850.00 |
รวมวงเงินทั้งสิ้น | 55,350.00 |
ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินลงทุนตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ และคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีมติอนุมัติรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว แต่โดยที่โครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 มีขอบเขตงานเปลี่ยนแปลงไปจากขอบเขตงานโครงการ TIEC ระยะที่ 3 ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยเห็นชอบไว้ กระทรวงพลังงานจึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 ในครั้งนี้
2. โครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีศักยภาพในการรองรับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ได้ในอนาคต ประกอบกับโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยแล้ว โดยมีแผนการดำเนินงานระหว่างปี 2566 - 2571 ภายในกรอบวงเงิน 38,500 ล้านบาท [แบ่งเป็น (1) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 8,202.50 ล้านบาท และ (2) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้าง 30,297.50 ล้านบาท] มีขอบเขตงานที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kV วงจรคู่ ในเส้นทางต่าง ๆ เช่น (1) ชัยภูมิ 2 - นครราชสีมา 3 ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (2) นครราชสีมา 3 - วังน้อย ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตรและ (3) วังน้อย - หนองจอก ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งแบบใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่และใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมแล้วก่อสร้างใหม่เป็นวงจรคู่และการก่อสร้าง/ปรับปรุง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง
3. ภาพรวมโครงการ
ประเด็น | สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ | - เพื่อให้ระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีศักยภาพในการรองรับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน - เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ได้ในอนาคต |
ขอบเขตงานก่อสร้าง | (1) ก่อสร้าง/ปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง - สายส่ง 500 KV ชัยภูมิ 2 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (ใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่) - สายส่ง 500 KV นครราชสีมา 3 - วังน้อย วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร (ใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่) - สายส่ง 500 kV วังน้อย - หนองจอก วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร (ใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิม โดยรื้อสายส่งวงจรเดี่ยวออก แล้วก่อสร้างใหม่เป็นวงจรคู่) (2) ก่อสร้าง/ปรับปรุง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง - หนองจอก (ก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500/230 kV) - นครราชสีมา 3 (ก่อสร้าง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500/230 kV) - ชัยภูมิ 2 และวังน้อย (ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500 kV) - ท่าตะโก (ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 kV) |
ระยะเวลาดำเนินการ | กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2571 |
ประโยชน์และผลกระทบ | - เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาวโดยก่อสร้างระบบส่ง 500 kV เพื่อรองรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านตามกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งขยายจาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ - เพิ่มความสามารถในการส่งพลังไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ไปยังศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งช่วยรักษาระดับความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง - เพิ่มความคล่องตัวในด้านปฏิบัติการควบคุมและการจ่ายไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง รวมทั้งกรณีที่ต้องปลดโรงไฟฟ้าเข้า/ออกในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและหยุดซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน - รองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) |
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม | - พื้นที่แนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าของโครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 ไม่พาดผ่าน พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) - แนวสายส่ง 500 kV นครราชสีมา 3 - วังน้อย พาดผ่านพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) (ระยะทางประมาณ 0.615 กิโลเมตร) จึงต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) |
11. เรื่อง ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2567 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานฯ ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์
สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้
1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์และมีคดีที่สำคัญ รวมทั้ง เร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
1) การจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 2,306 คน ลดลงร้อยละ 7.58 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 2,495 คนต่อเดือน
2) การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 980 รายโดยมีจำนวนลดลงร้อยละ 7.89 โดยใกล้เคียงกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ที่มีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 1,064 คนต่อเดือน
3) การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 208 รายซึ่งลดลงร้อยละ 13.33 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 จำนวน 240 คนต่อเดือน
4) การจับกุมครั้งสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2567 อาทิ (1) จับกุม เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ 5 เครือข่าย ได้แก่ เว็บไซต์ “4dking.club” เว็บไซต์ “88lotto.club” เว็บไซต์ “mawin8s.com” เว็บไซต์ “huay-dd.com” และเว็บไซต์ “viphuay88.com” และจับกุมผู้กระทำความผิด จำนวน 11 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ ได้เป็นจำนวน 360 ล้านบาท (2) จับกุมเว็บพนันออนไลน์ จำนวน 2 เว็บไซต์ ได้แก่ www.kingpigs1.com และ www.duckystars.com ซึ่งมีผู้เข้าเล่นกว่า 5 หมื่นคน และจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 4 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ ได้เป็นจำนวน 190 ล้านบาท (3) จับกุมขบวนการหลอกลงทุน TURTLE FARM จำนวน 11 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ 116 ล้านบาท (4) ทลายขบวนการหลอกนำแรงงานต่างด้าวมาเปิดบัญชีม้า โดยสามารถจับกุมนายหน้าได้ 1 ราย พบเงินหมุนเวียนกว่า 3 พันล้านบาท
สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จับกุมคดีที่สำคัญในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้แก่ กรณี Tvsod.com, Bee789.com, Ballza.com, 7mscorethai.com, 7mscorethai.net Suckballhd.com, Amloin789.com และ 7upth.com เผยแพร่รายการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเชื่อมโยงกับเว็บไซต์พนันออนไลน์รายใหญ่ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สนธิกำลังร่วมกับกรมการปกครองนำกำลังกว่า 160 นายตรวจค้นสถานที่เป้าหมาย 21 จุด ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ การพนันออนไลน์ และบัญชีม้า
ทั้งนี้ ในภาพรวมการจับกุมในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการจับกุมในช่วงก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 โดยเฉพาะการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า ที่ลดลงถึงร้อยละ 13.33 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ในช่วงวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้
1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท ในเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 16,279 รายการ เพิ่มขึ้น 7.10 เท่า จากเดือนกรกฎาคม 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท จำนวน 2,294 รายการ
2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 6,519 รายการ เพิ่มขึ้น 67.21 เท่า จากเดือนกรกฎาคม 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ จำนวน 97 รายการ
3. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน
1) การระงับบัญชีม้าสะสมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวม 920,694 บัญชี แบ่งเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปิด 451,188 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 169,506 บัญชี
2) กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคารจากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยในเดือนกรกฎาคม 2567 มีการปิดบัญชีม้าไปแล้วจำนวน 34,840 บัญชี
3) การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ยกระดับการจัดการ “บัญชี” เป็น “บุคคล” ทุกธนาคารจัดการบัญชีม้าตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกันและมาตรการที่ให้สถาบันการเงินดำเนินการ โดยมีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถล็อคเงินในบัญชีไม่ให้ทำธุรกรรมผ่าน ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และปลดล็อคได้ยากขึ้น และ/หรือ ปรับลดจำนวนวงเงินในการสแกนใบหน้าเพื่อทำธุรกรรมใน mobile banking รวมทั้งการเสนอบริการเพิ่มเติม อาทิ การถอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ(double authorization) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
4. มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และซิมที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง
ผลการดำเนินงานสำคัญถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ดังนี้
1) การระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน จำนวน 71,122 เลขหมาย
มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย และไม่มายืนยันตัวตน 70,704 เลขหมาย
2) การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และผลการดำเนินงาน ดังนี้
2.1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีจำนวนเลขหมายที่เข้าข่ายจำนวน 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีการระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.0 ล้านเลขหมาย
2.2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6 - 100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย โดยมีการระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.9 ล้านเลขหมาย
ทั้งนี้ การเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของสำนักงาน กสทช. เพื่อป้องกันการนำชิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย
5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยปฏิบัติการสนับสนุนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนธิกำลังกับหัวเรือใหญ่ สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย AIS DTAC TRUE NT และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ในการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพ ซึ่งเป็น “แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ” สามารถลักลอบนำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนชาวไทยได้อีก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมกวาดล้างเสาส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตเถื่อน 4 จุด ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหา พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์ของกลางเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมเถื่อนที่ใช้ในการส่งสัญญาณข้ามแดน
2) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดปฏิบัติการ Season 2 โค่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดเครื่องมือส่งสัญญาณ Starlink - ซิมการ์ดต่างประเทศ ก่อนส่งเมียนมา โดยได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์รับ – ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จำนวน 73 เครื่อง ประกอบด้วยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 30 เครื่อง กรุงเทพมหานครจำนวน 28 เครื่อง และจังหวัดตาก จำนวน 15 เครื่อง และสามารถทำการตรวจยึดซิมการ์ด รวมทั้งสิ้นจำนวน 18,742 ชิ้น
3) สถานีตำรวจภูธรแม่สอด ตรวจยึดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ส่งสัญญาณ ณ ท่าข้ามที่ 46 จากผลการตรวจค้นพบอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ได้แก่ (1) กล่องรับส่งสัญญาณประมาณ 400 ชุด (2) อุปกรณ์เชื่อมสายสัญญาณ 1 ชุด (3) เสาอากาศ 4 ต้น และ (4) อุปกรณ์ติดตั้ง 2,500 ชิ้น
6. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการปรับเป็นพินัย กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Internet service provider: ISP) ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ให้บริการโทรคมนาคม จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัยผู้ให้บริการโทรคมนาคม จำนวน 4 ราย
7. การบูรณาการข้อมูล
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการประชุมหารือการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ thaipoliceonline (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ข้อมูลเส้นทางการเงิน (สมาคมธนาคารไทย) ข้อมูล HR 03 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ซึ่งจะทำให้ระงับบัญชีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดการคดีได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยยังต้องขอความร่วมมือทางสมาคมธนาคารไทยในการส่งข้อมูลเส้นทางการเงิน และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล thaipoliceonline เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตาม MOU และเร่งรัดในการจับกุมปัญหาบัญชีม้าอย่างเร่งด่วน
8. การสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ควบคู่กับการปราบปราม
ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจับมือ 10 หน่วยงาน พันธมิตรคิกออฟ “Digital Vaccine” จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทย ห่างไกล “โจรออนไลน์” โดยมี 11 หน่วยงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ “Digital Vaccine” ประกอบด้วย (1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (4) กรมประชาสัมพันธ์ (5) ธนาคารแห่งประเทศไทย (6) สำนักงาน กสทช. (7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (8) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (9) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (10) สมาคมธนาคารไทย (11) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ทั้งนี้ ในเรื่องการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมทั้งเร่งการอายัดบัญชีธนาคารตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์มีความคืบหน้าไปมาก อย่างไรก็ตามการปราบปรามจับกุมให้ถึงต้นตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ นอกจากนี้จากการร่วมทำงานแก้ปัญหาที่ผ่านมา ยังพบปัญหาจากข้อกฎหมาย กฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องการติดตามเงินและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายให้พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน
9. การแก้กฎหมายเร่งด่วน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดประเด็นสำคัญในการดำเนินการปรับปรุง พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ให้ได้ข้อยุติโดยด่วน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกฎหมายทำหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการเสนอร่างพระราชกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทราบต่อไป
ในภาพรวมการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดจับกุมคนร้ายกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายและเว็บพนันออนไลน์ ผลงานมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถิติการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า มีจำนวนลดลงในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้มีการพิจารณาและกำชับในเรื่องนี้ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันฯ ประเมินว่า จากการปรับปรุงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อมุ่งลดข้อขัดข้องในด้านกฎ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงในระยะต่อไป
12. เรื่อง ขอทบทวนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และให้ใช้แทนหลักเกณฑ์เดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 16.30 น.)
(1) มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ในพื้นที่ 50 จังหวัด จำนวน 63,296 ครัวเรือน
(2) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ แล้วรวมจำนวน 6,363 ครัวเรือน เป็นเงิน 31,857,000 บาท
2. ขอทบทวนหลักเกณฑ์ฯ และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ภายใต้กรอบวงเงินเดิม ดังนี้
หลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน
จากเดิม
1) กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท
3) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท
ขอทบทวนเป็น
กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท
สำหรับผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ไปแล้ว ให้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ เพิ่มเติมให้ครบ จำนวนเงิน 9,000 บาท กรณีผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือฯ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ ตามหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินฯ ที่ขอทบทวนในครั้งนี้
ประโยชน์และผลกระทบ
ครัวเรือนผู้ประสบภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน ตามข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 สำหรับเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย เป็นกรณีพิเศษและเพื่อให้การดำรงชีพของประชาชนเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ต่างประเทศ |
13. เรื่อง ร่างเอกสารถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ [ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation (AMMSTI) Statement on Artificial Intelligence (AI)]
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างเอกสารถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ (การประชุมรัฐมนตรีฯ) [ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation (AMMSTI) Statement on Artificial Intelligence (AI)] (ร่างเอกสารฯ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ อว. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างเอกสารฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ตระหนักถึงศักยภาพของ AI ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี AI โดยมีสาระสำคัญ เช่น 1) ความสำคัญของศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงของ AI อาทิ ความสำคัญของศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงของ AI ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด และตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก AI รวมถึงการเน้นย้ำถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และจริยธรรมในหลายมิติ 2) ผลกระทบของ AI ต่อเศรษฐกิจอาเซียน เช่น AI ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ที่สูงขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 18 ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 35 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 3) คณะทำงานภายใต้การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Senior Officials’ Meeting: ADGSOM) 4) การประกาศแนวทางการติดตามข้อริเริ่มของคณะกรรมการฯ ในด้าน AI เช่น การประกาศแนวทางการติดตามข้อริเริ่มของคณะกรรมการฯ ในด้าน AI ระหว่างปี 2024-2025 ซึ่งเป็นการยกระดับกิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพด้าน AI ในระดับภูมิภาค 5) การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึง AI เพื่อรองรับความท้าทายและโอกาสที่มีร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา สารสนเทศ การเกษตร และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 6) การผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เช่น เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำการขยายการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นว่าการใช้ประโยชน์จาก AI จะถูกแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันในทุกภาคส่วนของสังคม 7) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้กำลังคนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เช่น เน้นย้ำความสำคัญของการศึกษา การฝึกอบรม การมีส่วนร่วมของประชาชน และข้อริเริ่มในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้กำลังคนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI 8) แนวทางปฏิบัติและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น (1) แบ่งปันแนวทางปฏิบัติและทรัพยากรที่ดีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะ (2) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะกำลังคน โดยการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและลดปัญหาช่องว่างด้านทักษะ 9) ความสำคัญของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI เช่น เน้นย้ำความสำคัญของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI รวมถึงข้อมูลทรัพยากรคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่อเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและการปรับใช้แอปพลิเคชันและบริการ AI อย่างทั่วถึงในอาเซียน 10) กลไกการกำกับดูแลข้อมูล เช่น เน้นย้ำความสำคัญของความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งของกรอบและกลไกการกำกับดูแลข้อมูลเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของข้อมูล รวมทั้งการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล การเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันของระบบและนวัตกรรมในแอปพลิเคชัน AI 11) การสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี AI เช่น สนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนอย่างทั่วถึงเพื่อการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในอาเซียน 12) การส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น สัญญาที่จะส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา องค์กรระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากร รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ด้าน AI และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนมีความรับผิดชอบและไม่เหลื่อมล้ำแบบก้าวกระโดด
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (Protocol of 1988 relating to the International Convention for the Safety of Life at Sea, 1974) และพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 (Protocol of 1988 relating to the International Convention on Load Lines, 1966)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (Protocol of 1988 relating to the International Convention for the Safety of Life at Sea (SOLAS) 1974] และพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 (Protocol of 1988 relating to the International Convention on Load Lines, 1966)
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำภาคยานุวัติสาร (Instrument of Accession) เพื่อเข้าเป็นภาคีพิธีสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ยื่นต่อเลขาธิการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) (เลขาธิการ IMO) ต่อไป
สาระสำคัญ
1. เดิมประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (อนุสัญญา SOLAS 1974) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2528 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 (อนุสัญญา Load Lines 1966) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุม (1) การตรวจเรือและอุปกรณ์ประจำเรือ (2) การออกใบสำคัญรับรอง และ (3) ข้อกำหนดเชิงเทคนิคที่เกี่ยวกับมาตรฐานโครงสร้างของเรือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเรือ (อนุสัญญา SOLAS 1974) และหลักเกณฑ์การกำหนดเส้นแนวน้ำบรรทุกและการบรรทุกของเรือ (อนุสัญญา Load Lines 1966) และต่อมาอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (พิธีสาร SOLAS 1988) และพิธีสาร ค.ศ. 1988 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 (พิธีสาร Load Lines 1988) ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในส่วนของการตรวจเรือและอุปกรณ์ประจำเรือ รวมถึงใบสำคัญรับรองให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและเป็นการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของรัฐเจ้าของธง โดยมีการปรับปรุงในส่วนที่สำคัญ เช่น
อนุสัญญา | อนุสัญญาฉบับก่อนปรับปรุงแก้ไข | อนุสัญญาฉบับปรับปรุงแก้ไข โดยพิธีสาร ค.ศ. 1988 |
อนุสัญญา SOLAS 1974 | ชนิดของใบสำคัญรับรอง ปรับปรุงชนิดของใบสำคัญรับรองให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน |
|
ใบสำคัญรับรอง มีดังนี้ (1) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยเรือโดยสาร (2) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของโครงสร้างเรือบรรทุกสินค้า (3) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของอุปกรณ์เรือบรรทุกสินค้า (4) ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรเลขของเรือสินค้าเพื่อความปลอดภัย (5) ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรศัพท์ของเรือสินค้าเพื่อความปลอดภัย (6) ใบสำคัญรับรองการยกเว้น |
ใบสำคัญรับรอง มีดังนี้ (1) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยเรือโดยสาร (2) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของโครงสร้างเรือบรรทุกสินค้า (3) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของอุปกรณ์เรือบรรทุกสินค้า (4) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของอุปกรณ์วิทยุเรือบรรทุกสินค้า (5) ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยเรือบรรทุกสินค้า (6) ใบสำคัญรับรองการยกเว้น |
|
อายุของใบสำคัญรับรองสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เดิมใบสำคัญรับรองของเรือบรรทุกสินค้าแต่ละชนิดมีระยะเวลาที่สั้นและมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันส่งผลให้เจ้าของเรือต้องออกใบสำคัญรับรองใหม่หลายครั้ง จึงมีการขยายอายุของใบสำคัญรับรองของเรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวและกำหนดให้มีอายุเท่ากันทุกชนิด เพื่อให้เจ้าของเรือสามารถดำเนินการออกใบสำคัญรับรองทั้งหมดได้ในคราวเดียวและสามารถใช้งานได้นานขึ้น |
||
ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยเรือโดยสารมีอายุไม่เกิน 12 เดือน ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของโครงสร้างเรือบรรทุกสินค้า มีอายุไม่เกิน 24 เดือน ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของอุปกรณ์เรือบรรทุกสินค้า มีอายุไม่เกิน 24 เดือน ใบสำคัญรับรองวิทยุโทรเลขของเรือสินค้าเพื่อความปลอดภัย และใบสำคัญรับรองวิทยุโทรศัพท์ของเรือสินค้าเพื่อความปลอดภัยมีอายุไม่เกิน 12 เดือน |
คงเดิม ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของโครงสร้างเรือบรรทุกสินค้า มีอายุตามที่ทางการกำหนดซึ่งไม่เกิน 5 ปี ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของอุปกรณ์เรือบรรทุกสินค้า มีอายุตามที่ทางการกำหนดซึ่งไม่เกิน 5 ปี ใบสำคัญรับรองความปลอดภัยของอุปกรณ์วิทยุเรือบรรทุกสินค้า มีอายุตามที่ทางการกำหนดซึ่งไม่เกิน 5 ปี |
|
รอบการตรวจเรือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเรือบรรทุกสินค้า กำหนดรอบการตรวจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และเหมาะสมกับอายุของใบรับรอง |
||
ไม่ได้ระบุ (เดิมไม่ได้ระบุรอบการตรวจเรือที่ชัดเจนโดยให้รัฐเจ้าของธงเป็นผู้กำหนดเอง) |
กำหนดการตรวจ 5 รูปแบบ ได้แก่ การตรวจครั้งแรก การตรวจเพื่อออกใบสำคัญรับรองใหม่ การตรวจตามรอบระยะเวลา การตรวจประจำปี และการตรวจเพิ่มเติม | |
การสลักหลังใบสำคัญรับรองเพื่อยืนยันว่าเรือลำนั้นได้รับการตรวจแล้ว เพิ่มให้มีการสลักหลังใบสำคัญรับรองได้ในกรณีการตรวจตามรอบระยะเวลาหรือการตรวจประจำปี |
||
ไม่ได้ระบุ (เดิมไม่มีการตรวจตามรอบระยะเวลาและการตรวจประจำปี จึงไม่มีการสลักหลังใบสำคัญรับรอง) |
รัฐเจ้าของธงและรัฐภาคีสลักหลังใบสำคัญรับรองได้สำหรับกรณีการตรวจตามรอบระยะเวลาหรือการตรวจประจำปี |
|
อนุสัญญา Load Lines 1966 | การตรวจเรือ มีการกำหนดมาตรฐานของเส้นแนวน้ำบรรทุก โดยห้ามไม่ให้เส้นนี้เลือนหายไป |
|
ไม่ได้ระบุ |
เครื่องหมายเส้นแนวน้ำบรรทุกได้ถูกจัดให้มีอย่างถูกต้องและถาวร | |
การสลักหลังใบสำคัญรับรองเพื่อยืนยันว่าเรือลำนั้นได้รับการตรวจแล้ว กำหนดเพิ่มให้รัฐภาคีสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองได้ในกรณีการตรวจประจำปี |
||
ให้รัฐเจ้าของธงสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองได้เมื่อดำเนินการตรวจประจำปีเสร็จสิ้นแล้ว | ให้รัฐเจ้าของธงและรัฐภาคีสามารถสลักหลังใบสำคัญรับรองได้เมื่อดำเนินการตรวจประจำปีเสร็จสิ้นแล้ว |
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการภายในประเทศเป็นไปตามข้อกำหนดตามพิธีสารทั้งสองฉบับข้างต้น กระทรวงคมนาคม (คค.) จึงได้จัดทำกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว (เช่น ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 19/2562 เรื่อง แบบใบสำคัญรับรองและแบบบันทึกรายการอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าธรรมเนียมการตรวจและการออกใบสำคัญรับรองแนวน้ำบรรทุก พ.ศ. 2565) โดยดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ดังนั้น คค. จึงเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อม ที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารทั้งสองฉบับแล้ว
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าเป็นภาคีพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้
1. ทำให้ประเทศไทยสามารถกำหนดมาตรฐานและกลไกสำคัญในการตรวจเรือและการออกใบสำคัญรับรองของเรือไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุ้มครองความปลอดภัยของเรือไทยให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ รวมถึงสามารถควบคุมเรือต่างชาติที่เข้ามาในน่านน้ำของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์
2. เพื่อให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์การดำเนินการตามข้อกำหนดของ MMO ในด้านการส่งเสริมความปลอดภัยของชีวิตในทะเลในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่งและรัฐเมืองท่า
3. เป็นการสร้างกรอบความร่วมมือด้านการตรวจเรือระหว่างประเทศ โดยในพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ได้มีบทบัญญัติให้รัฐภาคีสามารถดำเนินการตรวจเรือ ออกหรือสลักหลังในใบสำคัญรับรองได้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่รัฐหนึ่งอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอในการตรวจเรือ โดยให้สามารถร้องขอรัฐบาลของรัฐภาคีอื่นให้สามารถดำเนินการตรวจเรือได้
4. เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการตรวจเรือ และออกใบสำคัญรับรองมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อกิจการให้บริการของรัฐและกิจการเดินเรือของประเทศ โดยพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ มีการกำหนดหลักการเรื่องช่วงเวลาการตรวจเรือ (Window Period) ในกรอบระยะเวลาที่กว้างมากขึ้น ซึ่งทำให้เรือสามารถสรรหาช่วงเวลา ที่เหมาะสมในการตรวจเรือได้มากขึ้น ช่วยให้กิจการการเดินเรือเป็นไปอย่างคล่องตัว ส่งผลดีต่อระบบทางทะเลและระบบเศรษฐกิจการขนส่งทางทะเลของประเทศในภาพรวม
5. ช่วยลดภาระของรัฐจากการมอบอำนาจให้องค์กรที่ได้รับการยอมรับ ให้สามารถดำเนินการตรวจเรือ ออกหรือสลักหลังในใบสำคัญรับรองได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหากรณีที่รัฐใดรัฐหนึ่งอาจมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอในการตรวจเรือ
6. สามารถควบคุมมาตรฐานด้านการตรวจเรือของเรือต่างชาติที่เข้ามาในน่านน้ำไทย โดยเรือต่างชาติที่มีข้อบ่งชี้ชัดแจ้งว่า สภาพเรือ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในใบสำคัญรับรอง ก็สามารถกักเรือหรือให้เรือดำเนินการแก้ไขก่อนออกเดินทางได้ รวมทั้งสามารถแจ้งให้เมืองท่าถัดไปทราบถึงสภาพของเรือนั้นและอาจร้องขอให้เมืองท่าของรัฐอื่น ๆ ดำเนินมาตรการควบคุมได้
7. พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ อยู่ภายใต้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (No more favorable treatment) ซึ่งจะช่วยขจัดข้อได้เปรียบของประเทศที่ไม่เป็นรัฐภาคีโดยต้องบังคับใช้ข้อกำหนดของพิธีสารกับทุกรัฐอย่างเท่าเทียมกัน แม้มิได้เป็นภาคีพิธีสารก็ตาม
8. ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะสมาชิก IMO เนื่องจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความร่วมมือกับ IMO ในการส่งเสริมความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือระหว่างประเทศ
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Promoting Sustainable Agriculture)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Promoting Sustainable Agriculture) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้ง ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Promoting Sustainable Agriculture) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 มีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 11 ตุลาคม 2567 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในการประชุมนี้ จะมีการรับรองปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน ซึ่งปฏิญญาฉบับนี้ จะเป็นการกำหนดแนวทางสำหรับความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการเกษตรที่ยังยืน สนับสนุนการให้คู่เจรจา องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน ในการพัฒนาและดำเนินโครงการและแผนงานที่สนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืนในภูมิภาค เสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรรายย่อย และรับประกันการมีส่วนร่วมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน โดยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการตลาด โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มรายได้ผ่านการเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด รวมถึงความยั่งยืนและความยืดหยุ่นของเครือข่ายโลจิสติกส์ การจัดเก็บ และการกระจายในห่างโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร รวมถึงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในภาคการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนฯ เป็นการกำหนดแนวทางสำหรับความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างระบบอาหารเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ยืดหยุ่นและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในภาคการเกษตร สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในภาคการเกษตร เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันในการพัฒนาและดำเนินโครงการและแผนงานที่สนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืนในภูมิภาค เสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการตลาด โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มรายได้ผ่านการเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด
16. เรื่อง ขอความเห็นชอบเพื่อลงนามเอกสารข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงาน IFAD ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ (1) เอกสารข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของ IFAD สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (2) เอกสารแนบท้ายร่างข้อตกลงฯ และ (3) ร่างเอกสารแผนการดำเนินงานเพื่อการตั้งสำนักงานภูมิภาค IFAD ณ กรุงเทพมหานคร (Business Case for the IFAD Regional Office in Bangkok)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของ IFAD สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3. อนุมัติหลักการ ในกรณีหากมีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารข้อตกลงดังกล่าว และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ
4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่ผู้ลงนามตามข้อ 2
สาระสำคัญ
1. กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตร (International Fund for Agricultural Development: IFAD) มีสถานะเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติทางด้านการเงินเพื่อเกษตรกรรมโดยเฉพาะ จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบต่อวิกฤติด้านอาหารที่เกิดขึ้นต้นศตวรรษที่ 1970 โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับประเทศในแอฟริกา (Sahelian countries) ตามมติที่ประชุมสมัชชาอาหารโลก (World Food Conference) ประเทศไทย ได้ลงนามให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2520 และมีประเทศสมาชิกลงนามให้สัตยาบันครบจำนวน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลีจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าร่วมประชุม และร่วมระดมทุน (pledge) ให้แก่
IFAD ประมาณ 3 – 4 ปี ต่อครั้ง ๆ ละ 300,000 เหรียญสหรัฐ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกำหนดการเยือนกรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Food Forum ระหว่างวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ในโอกาสเดียวกันนี้ IFAD ได้ร้องขอให้มีการลงนามเอกสารข้อตกลง HCA และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ในห้วงเวลาดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถเปิดสำนักงาน IFAD-APR ได้ในต้นปี 2568 ประกอบด้วยเอกสาร ดังนี้
1) ร่างเอกสารข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตรว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงาน IFAD ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย มีสาระสำคัญเป็นเอกสารข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและ IFAD เพื่อจัดตั้งสำนักงาน IFAD-APR ณ กรุงเทพมหานคร
2) เอกสารแนบท้าย ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตร (IFAD) ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปชิฟิกของ IFADในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็นเอกสารแนบท้ายข้อตกลงฯ ระบุถึงหน้าที่ของรัฐบาลไทยในการรับผิดชอบค่าเช่าและจัดเตรียมพื้นที่สำนักงานที่เหมาะสมให้แก่ IFAD เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
3. เอกสารแผนดำเนินงานเพื่อตั้งสำนักงานภูมิภาค IFAD ณ กรุงเทพมหานคร (Business Case for the IFAD Regional Office in Bangkok) เป็นเอกสารที่แสดงถึงการดำเนินความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ IFAD ในการจัดตั้งสำนักงาน IFAD-APR ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ประโยชน์และผลกระทบ เช่น การมีสำนักงานภูมิภาค IFAD-APR ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และความเป็นผู้นำด้านการเกษตรของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางและศูนย์รวมความรู้สำหรับองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีให้รัฐบาลไทยพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนในการปรับตัวของภาคการเกษตร โดยเฉพาะการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินจาก IFAD เพื่อเกษตรกรรายย่อยและการพัฒนาชนบท
17. เรื่อง หนังสือสัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit): GIZ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหนังสือสัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit): GIZ) และอนุมัติให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. กรมอุตุนิยมวิทยา โดยศูนย์ภูมิอากาศ ได้เห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนางานและบุคลากรของหน่วยงาน จึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการตามที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น ในหัวข้อ เรื่อง “Urban-Act Project Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient” เพื่อขอรับทุนกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Integrated Urban Climate Action for low carbon and resilient cities: Urban-Act) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและยกมาตรฐานการให้บริการด้านภูมิอากาศในระดับสากลตามกรอบการดำเนินงาน การให้บริการด้านภูมิอากาศแห่งชาติ (National Frameworks for Climate Services: NFCS) ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก รวมถึงเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือที่ทันสมัยให้กับบุคลากร และเพิ่มศักยภาพให้กับการปฏิบัติงานด้านภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สามารถให้บริการข้อมูลและสารสนเทศภูมิอากาศเชิงพื้นที่รายละเอียดสูงกับภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ พลังงาน การท่องเที่ยว การเกษตร การคมนาคม และสาธารณสุขนำไปประยุกต์ใช้ช่วยในการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการที่เหมาะสมลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อเสนอโครงการฯ ดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันและตามข้อกำหนดของการรับทุน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องลงนามในหนังสือสัญญาการให้ทุน (Grant Agreement with non-German recipients) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
2. สาระสำคัญของสัญญาการรับทุน “โครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้”
โครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) ได้รับทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry for Economic Affairs and Climate Action: BMWK) โดยผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทางการเงินและการจัดการโครงการ โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของเมือง โดยมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้แนวทางของโครงการ National Framework for Climate Services (NFCS) เพื่อให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
ประโยชน์และผลกระทบ เช่น
1. การดำเนินการภายใต้สัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศฯ จะไม่มีผลผูกพันที่จะเกิดขึ้นต่อรัฐบาลไทย และผลกระทบของเรื่องต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2. โครงการ “TMD - Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon and Resilient Cities” ที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้จะเป็นการถอดบทเรียน (Lesson Learned) การให้บริการสารสนเทศภูมิอากาศภาคเมืองเพื่อการวางแผนโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Urban climate services for evidence-based planning) ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและยกมาตรฐานการให้บริการด้านภูมิอากาศในระดับสากลตามกรอบการดำเนินงาน NFCS ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่มุ่งเน้นการให้บริการข้อมูล และสารสนเทศภูมิอากาศเชิงพื้นที่รายละเอียดสูงให้ตรงกับความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง อาทิ การบริหารจัดการน้ำ พลังงาน การท่องเที่ยว การเกษตร การคมนาคม และสาธารณสุข รวมถึงรองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) เป้าหมายที่ 13 คือ “ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น” และเป้าหมายที่ 11 คือ “ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน” เนื่องจากองค์ความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้จากโครงการนี้จะช่วยให้กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถนำไปศึกษาวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้าระยะนาน (แบบรายปี กึ่งทศวรรษ และรายทศวรรษ ฯลฯ) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศให้กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ช่วยในการตัดสินใจ วางแผนบริหารจัดการที่เหมาะสม สร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
18. เรื่อง ร่างแถลงการณ์สำหรับการประชุมระดับผู้นำกลุ่มพันธมิตรเอเชียเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์สำหรับการประชุมระดับผู้นำกลุ่มพันธมิตรเอเชียเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting)
2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรี (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว ในช่วงการประชุมระดับผู้นำกลุ่มพันธมิตรเอเชียเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting)
ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องการแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญ
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุม The 2nd AZEC Leaders Meeting มีสาระสำคัญที่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำกลุ่มพันธมิตร AZEC ที่จะเร่งการดำเนินการตามกรอบความตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม AZEC เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน โดยตระหนักถึงความสำคัญของหลักการ AZEC ที่เน้นย้ำถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จ 3 ประการ ได้แก่ การลดการปล่อยคาร์บอน การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานไปพร้อม ๆ กัน บนพื้นฐานของแนวทางที่หลากหลายและสามารถปฏิบัติได้จริงตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ที่เป็นรูปธรรมภายใต้ศูนย์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่านและการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บ และการใช้ประโยชน์คาร์บอน ตลอดจนการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตร AZEC สามารถมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานร่วมกัน
ประโยชน์และผลกระทบ เช่น ประเทศไทยในฐานะประเทศพันธมิตร AZEC มีบทบาทในการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมเพื่อผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ AZEC ที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศพันธมิตรในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงาน รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ไทยสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการความร่วมมือที่อยู่ในแผนงานของกรอบ AZEC โดยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคและวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยในอนาคต ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนพลังงานชาติของไทยที่มีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงาน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
19. เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change : ACCC)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างความตกลงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ร่างความตกลงฯ) และการร่วมลงนามในความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ทส. ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนลงนามในความตกลงฯ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในความตกลงฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างความตกลงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ร่างความตกลงฯ) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งศูนย์อาเขียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change : ACCC) ณ เนการาบรูไนดารุสซาลาม เพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนการประสานงานและความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียน และมีการจัดตั้งกองทุนศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACCC fund) โดย เนการาบรูไนดารุสซาลามจะสนับสนุนเงินเข้ากองทุนดังกล่าวจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นอาจสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนลงนามในร่างความตกลงฯ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) เพื่อให้มีการลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 - 45 (44th - 45th ASEAN Summit) ในระหว่างวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
2. ทส. แจ้งว่า ACCC จะสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียนและเชื่อมโยงกับการดำเนินงานในกรอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการยกระดับความร่วมมือของประเทศสมาชิกในการดำเนินงานตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) รวมถึงเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสมาชิกอาเซียน
20. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (ASEAN Joint
Statement on Climate Change to UNFCCC COP 29)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสําหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 รวมทั้ง มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทน ที่ได้รับมอบหมาย ให้ความเห็นชอบ (Endorsement) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และมอบหมายให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรอง (Adoption) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป โดยหากมีความจําเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธานอาเซียน ปี พ.ศ. 2567 ได้จัดทําร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสําหรับการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 เพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเด็นที่ประสงค์จะผลักดันร่วมกันต่อกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 35 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 คณะทํางานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change : AWGCC) และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : ASOEN) มีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ตามลําดับ โดยสํานักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเวียนร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (Endorsement) ในลักษณะ Ad-referendum ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และครั้งที่ 45 (44th - 45th ASEAN Summit) เพื่อพิจารณาให้การรับรอง (Adoption) ในระหว่างวันที่ 6 – 11 ตุลาคม 2567
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 สรุปสาระสําคัญ ดังนี้
1) การดําเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ AWGCC Action Plan อาทิ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change: ACCC) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationally Determined Contributions : NDC) และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2) การดําเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสําคัญ อาทิ การสนับสนุนทางการเงิน การเสริมสร้างศักยภาพ และเทคโนโลยีเพื่อการดําเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 (the First Global Stocktake) การเร่งระดมเงินสนับสนุนให้กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี การเข้าถึงกองทุน เพื่อการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) การมีส่วนร่วมของสตรี เยาวชนและชุมชนท้องถิ่น และความเท่าเทียม รวมถึงการผลักดันแนวปฏิบัติ และกฎการดําเนินงานสําหรับข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article 6 of the Paris Agreement)
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดําเนินงานและสอดคล้องกับนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและนําไปสู่ความยั่งยืน
21. เรื่อง การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) กรอบเจรจาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของประเทศไทย สำหรับการจัดทำและพิจารณาแถลงการณ์ร่วมหรือความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ระหว่างปี พ.ศ. 2567 - 2569 และ (ร่าง) ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 ระดับเจ้าหน้าที่ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกรอบเจรจาและท่าทีไทยดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่อีกครั้ง
2. เห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรอง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) เอกสารดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
3. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย
สาระสำคัญ
สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กำหนดจัดการประชุม CBD COP 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ประกอบด้วย 1) การประชุมระดับสูง (High-Level Segment) ระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2567 และ 2) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนที่จะทำให้บรรลุเป้าประสงค์และเป้าหมายของกรอบงานคุณหมิง - มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Kunming - Montreal Global Biodiversity Framework: KM - GBF) ซึ่งหัวข้อที่หารือจะมุ่งเน้นในประเด็น การแปลงแผนความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งเป็นแผนระยะแรกของ KM - GBF ไปสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ การระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการเร่งรัดการดำเนินงานด้านการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อให้การแบ่งปันผลประโยชน์จากการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกลับคืนสู่แหล่งทรัพยากรเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด โดยรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้าร่วมประชุม CBD COP 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกร่างเอกสารสำหรับการประชุม CBD COP 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) (ร่าง) กรอบเจรจาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2567 - 2569 มีสาระสำคัญ เช่น การสนับสนุนการแปลงแผนความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไปสู่แผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ การสนับสนุนกลไกการระดมทรัพยากรทางการเงินที่ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันดำเนินงานอนุรักษ์และคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนจากฐานชีวภาพ (Bio - Circular Economic) ในเวทีระหว่างประเทศ และการสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ
2) (ร่าง) ท่าที่ไทยสำหรับการประชุม CBD COP 16 ระดับเจ้าหน้าที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณารายละเอียดทางวิชาการของเอกสารผลลัพธ์การประชุม CBD COP 16 ให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 และ (ร่าง) แผนการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2566 - 2570 ของประเทศไทย
3) (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับการประชุม CBD COP 16 มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและความพยายามในการดำเนินการให้สามารถบรรลุเป้าหมาย KM - GBF ผ่านการจัดทำแผนความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน (ASEAN Biodiversity Plan) และสนับสนุนการดำเนินการตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งเน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศและภูมิภาค ตลอดจนการสนับสนุนด้านการเงิน การเสริมสร้างศักยภาพ และการส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพประโยชน์และผลกระทบ
ประโยชน์และผลกระทบ เช่น
การรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) ในการประชุมครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้วเป็นการร่วมแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน ในความมุ่งมั่นที่จะการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสเข้าร่วมและได้รับการสนับสนุนงบประมาณในโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานและเยาวชนจะมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสริมสร้างสมรรถนะ และเข้าร่วมเครือข่ายการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนและในระดับโลก
แต่งตั้ง |
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้ง พลเอก ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมเป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รัฐมนตรีเจ้าสังกัด เสนอการแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด ตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สังกัด สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 25 ราย ดังนี้
1. ให้นายขจร ศรีชวโนทัย พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. ให้นายสันติธร ยิ้มละมัย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำพูน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
3. ให้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
4. ให้นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพังงา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
5. ให้นายอดิเทพ กมลเวชช์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
6. ให้นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการปกครอง
7. ให้นายภาสกร บุญญลักษม์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง)
จังหวัดปทุมธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
8. ให้นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมโยธาธิการและ ผังเมือง
9. ให้นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดบุรีรัมย์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
10. ให้นายอังกูร ศีลาเทวากูล พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกระบี่
11. ให้นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครศรีธรรมราช และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดฉะเชิงเทรา
12. ให้นายชรินทร์ ทองสุข พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยโสธร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย
13. ให้นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดราชบุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนนทบุรี
14. ให้นายสมคิด จันทมฤก พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี
15. ให้นายวีระพันธ์ ดีอ่อน พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปราจีนบุรี
16. ให้นายทวี เสริมภักดีกุล พันจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครสวรรค์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิษณุโลก
17. ให้นายศรัณยู มีทองคำ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเพชรบูรณ์
18. ให้นายชุติเดช มีจันทร์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดแพร่ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง
19. ให้นายโชตินรินทร์ เกิดสม พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสงขลา
20. ให้นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดพัทลุง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสมุทรสงคราม
21. ให้นายนริศ นิรามัยวงศ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดระนอง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสมุทรสาคร
22. ให้นายพิริยะ ฉันทดิลก พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอ่างทอง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสุพรรณบุรี
23. ให้นายชำนาญ ชื่นตา พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสุรินทร์
24. ให้นายราชันย์ ซุ้นหั้ว พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุดรธานี
25. ให้ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
- นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 12 ราย ดังนี้
1. นายชัยเกษม นิติสิริ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
2. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
3. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
4. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
5. นายจักรพงษ์ แสงมณี ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
6. นายฉัตริน จันทร์หอม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง)
7. นายศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
(นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ)
8. นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
(นายประเสริฐ จันทรรวงทอง)
9. นายวัฒนา เตียงกูล ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายชูศักดิ์ ศิรินิล)
10. นายกฤช เอื้อวงศ์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นางสาวจิราพร สินธุไพร)
11. นายธเนศ กิตติธเนศวร ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายชูศักดิ์ ศิรินิล)
12. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
28. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. นายชยุต ภุมมะกาญจนะ
2. นายรัศม์ ชาลีจันทร์
3. นายศุภชัย ใจสมุทร
4. นายวรวงศ์ รามางกูร
5. นายพงศกร อรรณนพพร
6. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์
7. นายสิรภพ ดวงสอดศรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามประกาศแต่งตั้ง เป็นต้นไป
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
31. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ประธานกรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
2. นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร กรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
3. นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการ
4. นายธะเรศ โปษยานนท์ กรรมการ
5. นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ
6. นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ กรรมการ
7. นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
32. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ มอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ)
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้ง นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ วิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ มีประสบการณ์ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง ดังนี้
1. ให้ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง)สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
2. ให้ นางสาวบุปผา เรืองสุด พ้นจากตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
3. ให้ เรือเอก สาโรจน์ คมคาย พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
4. ให้ นางมารศรี ใจรังษี พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ (นักบริหารสูง) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
5. ให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/88903