สาระน่ารู้
กรมการขนส่งทางบก ประกาศปรับปรุงข้อกำหนดเครื่องดับเพลิงบนรถโดยสาร
กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมฯ ปรับปรุงข้อกำหนดเครื่องดับเพลิงที่ต้องมีบนรถโดยสาร เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 พร้อมกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่ง/เจ้าของรถต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบเครื่องดับเพลิงให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เครื่องดับเพลิงบนรถโดยสารเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างมากในการช่วยชีวิตผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแลรถโดยสารให้มีความปลอดภัย จึงออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ชนิด ประเภท และขนาดของเครื่องดับเพลิง ที่ต้องมีไว้ประจำรถใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ. 2567 เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพของเครื่องดับเพลิงบนรถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยข้อกำหนดมี ดังนี้
1. รถโดยสารปรับอากาศ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อย 2 เครื่อง ติดตั้งไว้ที่หน้ารถ 1 เครื่อง และด้านท้ายรถ 1 เครื่อง (ขนาดบรรจุของเครื่องดับเพลิงต้องเป็นไปตามที่ประกาศกรมฯกำหนด)
2. รถโดยสารสองชั้นปรับอากาศ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยชั้นละ 2 เครื่อง โดยแต่ละชั้นให้ติดตั้งไว้ที่หน้ารถ 1 เครื่อง และด้านท้ายรถ 1 เครื่อง (ขนาดบรรจุของเครื่องดับเพลิงต้องเป็นไปตามที่ประกาศกรมฯกำหนด)
โดยเครื่องดับเพลิงต้องมีลักณะเป็นแบบยกหิ้ว ชนิดผงเคมีแห้ง (ในกรณีที่ไม่ใช้ชนิดผงเคมีแห้งต้องมีประสิทธิภาพในการดับเพลิงทัดเทียมกัน) มีคุณภาพใช้งานได้ดี สารเคมีที่ใช้ในการดับเพลิงต้องเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซพิษหรือมีปฏิกิริยาเมื่อได้รับความร้อนจากไฟ เป็นเครื่องที่พร้อมใช้งาน สลักต้องล็อกอยู่ตลอดและซีลต้องไม่ฉีกขาด ความดันหรือน้ำหนักต้องเป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด มีบันทึกการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงไว้ประจำเครื่องดับเพลิง ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว เครื่องดับเพลิงต้องพร้อมใช้งานได้ทุกขณะ โดยต้องผ่านการตรวจสอบโดยผู้ประกอบการขนส่ง เจ้าของรถ บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager: TSM) หรือผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเครื่องดับเพลิง อย่างน้อยทุก 12 เดือน หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด ทั้งนี้ รถโดยสารที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ประกาศฯ นี้บังคับใช้ ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบกแนะนำให้ผู้ประกอบการขนส่งหมั่นตรวจเช็ก ดูแลเครื่องดับเพลิงให้อยู่สภาพพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ถังต้องไม่บุบ ไม่แตกร้าว และไม่ขึ้นสนิม สายฉีดต้องไม่แข็ง ไม่แตกร้าว ไม่มีรอยฉีดขาด ให้ทำการตรวจสอบสภาพของสารดับเพลิงโดยการยกถังดับเพลิงคว่ำหงาย ผงเคมีต้องมีการเคลื่อนตัว
ไม่จับกันเป็นก้อน และต้องเปลี่ยนถ่ายผงเคมีโดยผู้เชี่ยวชาญตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ เจ้าของรถ บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัย ในการขนส่ง (TSM) ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องดับเพลิง สามารถดาวน์โหลดประกาศฯและแบบฟอร์มใบบันทึกการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงได้ที่ QR Code (ดังแนบ) หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนตรวจสอบสมรรถนะรถ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ อาคาร 6 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก โทร 0-2271-8609
ที่มา : https://www.facebook.com/PR.DLT.NEWS/posts/pfbid029up6sE1QsxsSohYA6TtE4xYeNhHWcM2pGWuyRnhGQAyCDZoPCzeN4JA7QsCtatnbl