สาระน่ารู้
สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 เมษายน 2568
วันนี้ 8 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่...) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่เป็นการเฉพาะราย พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ การแจ้ง และการออกใบรับรอง พ.ศ. 2567 พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ-สังคม |
7. เรื่อง มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
8. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานและขอขยายเวลาการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง
9. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
10. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ฝึกซ้อม/แข่งขัน (กีฬาทางน้ำ) ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
11. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินงานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 และงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 115 kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงสถานีไฟฟ้าบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรี
12. เรื่อง การจัดทำโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579)
13. เรื่อง มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567
14. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 2/2568
15. เรื่อง ผลการพิจารณาญัตติมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โรงงานผลิตพลุและดอกไม้เพลิงระเบิด
16. เรื่อง ข้อเสนอแนะกรณีการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ
17. เรื่อง (ร่าง) ข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน
18. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อดำเนินการโครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก
19. เรื่อง การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
20. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ข้อเสนอหลักการ กฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
ต่างประเทศ |
21. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2028 - 2034 และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2029 – 2031
22. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร (ITU Council) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในระหว่างการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม (Plenipotentiary Conference) ค.ศ. 2026
แต่งตั้ง |
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
*****************************
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่...) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณา และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ดังนี้
1) แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
(1) แก้ไขวันใช้บังคับโดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (เดิม ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
(2) แก้ไขบทนิยามคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” โดยกำหนดให้มีความหมายรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและเพิ่มบทนิยามคำว่า “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์”
(3) เพิ่มเติมให้มีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล และเพิ่มเติมให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์สินดิจิทัลเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล (เดิม ไม่ได้กำหนดไว้)
(4) เพิ่มเติมการกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อคัดกรองจากข้อความที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นข้อความที่เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงซึ่งไม่ต้องกดเข้าไปอ่านเนื้อหาภายในข้อความนั้น เช่น ข้อความชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์ หรือข้อความที่หลอกลวงชักชวนให้นำเงินไปลงทุน (เดิม ไม่ได้กำหนดไว้)
(5) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการด้านการระงับการให้บริการโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ชัดเจนว่า เมื่อปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต้องแจ้งให้ สำนักงาน กสทช. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ระงับการให้บริการโทรคมนาคม (เดิม กำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือสำนักงาน กสทช. แล้วแต่กรณี สั่งระงับการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์)
(6) เพิ่มเติมการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (เดิม ไม่ได้กำหนดไว้)
(7) แก้ไขเพิ่มเติมการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้นำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายกำหนดไว้ในกฎกระทรวง และเพิ่มเติมการดำเนินการกรณีที่ไม่มีผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมายื่นคำร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ครบกำหนดที่ต้องยื่นคำร้องคัดค้าน หรือมีเงินที่เหลือภายหลังจากได้คืนเงินแก่ผู้เสียหายแล้ว ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินที่จะขอรับเงินคืนจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
(8) แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดภาระการพิสูจน์ของหน่วยงานเอกชนโดยให้หน่วยงานเอกชนมีภาระการพิสูจน์เพื่อไม่ต้องมีความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำที่กำกับดูแลแล้ว (เดิม ไม่ได้กำหนดไว้)
(9) เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ระวางโทษปรับ เนื่องจากเป็นนิติบุคคล เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ที่ผู้แทนสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องรับผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ผู้ซื้อเลขหมายโทรศัพท์หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดโดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด (เดิม ไม่ได้กำหนดไว้)
2) ตัดหลักการที่กำหนดมาตรการห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer (P2P) และตัดการกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนโดยซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม P2P
3) ตัดบทกำหนดโทษกรณีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นการพนันหรือพนันออนไลน์
4) เพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกำหนดให้มีหน้าที่ เช่น แจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
2. ร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่...)
พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 กำหนดวันใช้บังคับโดยให้ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2.2 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ
2.3 กำหนดลักษณะที่ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร เช่น มีการแสดงผลโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย สามารถเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท มีการรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย หรือมีเงื่อนไขให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกำหนดให้ดำเนินคดีในศาลไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ดศ. ได้ให้ความเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชกำหนด จำนวน 2 ฉบับ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. ..... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ อสม. เป็นกำลังสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนตามหลักการสาธารณสุขมูลฐาน และยกระดับทักษะและขีดความสามารถของ อสม. ให้ดำเนินการตามหลักการดังกล่าวได้สัมฤทธิ์ผล ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายการประสานงานบริหารกิจการ อสม. และดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพภายในชุมชนให้เป็นไปอย่างมีระบบ และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... เป็นการยกระดับกฎหมายจากระเบียบ (ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2554) เป็นพระราชบัญญัติ เพื่อให้การดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีความเข้มแข็ง และ อสม. ได้รับการคุ้มครองในระดับที่สูงขึ้น มีหลักประกันในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ อสม. มี 3 ประเภท (เหมือนเดิม) ได้แก่ (1) อสม. (2) อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และ (3) อาสาสมัครสาธารณสุขอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการระดับประเทศ และกำหนดให้มีคณะกรรมการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุน อสม. แบ่งเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการระดับประเทศ คณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ คณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร (เดิม กำหนดให้มี 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกลาง คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัด คณะกรรมการส่งเสริมและคณะกรรมการสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร) ซึ่งคณะกรรมการระดับประเทศทำหน้าที่ในการเสนอนโยบายด้านการดำเนินงาน อสม. คณะกรรมการระดับเขตสุขภาพทำหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายในการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนสวัสดิการ ให้แก่ อสม. ที่คณะกรรมการระดับประเทศกำหนดไว้ และจัดสรรให้มี อสม. ในแต่ละจังหวัดในสัดส่วนที่กำหนด ส่วนคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ลักษณะเดียวกัน โดยดำเนินการตามนโยบายที่คณะกรรมการระดับประเทศกำหนดไว้ และกลุ่มที่ 2 คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขอื่น (เพิ่มจากเดิม) ทำหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายเพื่อส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุน อสม. อื่นซึ่งเกิดขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากนี้ได้ปรับปรุงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียน อสม. เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ (เดิม ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยมิได้กำหนดเกณฑ์อายุขั้นสูงและมิได้กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้) เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านประชากรสูงวัยของประเทศในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น กำหนดบทบาทหน้าที่และมาตรฐานจริยธรรมของ อสม. โดยให้ อสม. มีบทบาทและหน้าที่ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ดำรงตนและปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามที่คณะกรรมการระดับประเทศกำหนดไว้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของ อสม. มีมาตรฐานยิ่งขึ้น (เดิม มิได้กำหนดบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการดำรงตนและปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมไว้) ปรับปรุงวิธีร้องเรียน อสม. โดยให้ผู้ร้องเรียนยื่นคำร้องต่อนายทะเบียน เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการระดับจังหวัดต่อไป เพื่อให้วิธีปฏิบัติในการร้องเรียนมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น (เดิม กำหนดให้หัวหน้าครัวร้อน หรือผู้แทนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หลังหาเรือนร่วมกันลงลายมือร้องเรียน อสม. ต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อส่งให้คณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาต่อไป) เพิ่มเหตุของการพ้นสภาพจากการเป็น อสม. ได้แก่ การไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานและได้รับโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (เดิม กำหนดไว้เพียง 4 เหตุ ได้แก่ ตาย ลาออก เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมีคำสั่งให้พ้นสภาพ) เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับ อสม. ได้แก่ สิทธิในการรวมกลุ่มในลักษณะชมรม สมาคม หรือมูลนิธิ และสิทธิในการแต่งเครื่องแบบ อสม. (เดิม มิได้กำหนดไว้) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ อสม. และเป็นการสร้างเครือข่ายของ อสม. ให้มีความเข้มแข็ง ตลอดจนเพิ่มเติมในเรื่องการสนับสนุนกิจการ อสม. โดยให้ความช่วยเหลือเยียวยาและให้สวัสดิการแก่ อสม. 2 กลุ่ม คือ 1) อสม. ที่ปฏิบัติงานอยู่ และ 2) อาสาสมัครสาธารณสุขอื่น เช่น อสม. ที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งเคยปฏิบัติงาน จึงไม่ได้รับค่าป่วยการ (เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดเพดานอายุขั้นสูงไว้ ทำให้ อสม. ผู้สูงอายุ ไม่ผ่านคุณสมบัติด้านอายุ และกำหนดให้มีการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งอาจไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานได้) โดยกำหนดให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานกลางในการสนับสนุน ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน และดอกผลที่ได้รับเพื่อใช้ในการสนับสนุนกิจการดังกล่าว เช่น รายได้จากการบริจาค เงินสมทบจาก อสม. และรายได้อื่น ๆ ไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้พิจารณาเห็นชอบในเรื่องไม่นำเงินส่งคลังด้วยแล้วตามนัยมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (เดิมมิได้กำหนดเงินและทรัพย์สินที่นำมาใช้ในการสนับสนุนกิจการ อสม.)
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดให้มีการตรวจติดตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนแล้วและตรวจติดตามความพร้อมของผู้ประกอบการในการรับงานกับหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องและกำหนดมาตรการการควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นไปด้วยความถูกต้องและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเหมาะสมกับกรอบระยะเวลาการตรวจติดตาม และเพื่อปรับอัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการตรวจติดตามเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ตลอดจนยังเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (4 กุมภาพันธ์ 2568) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวขึ้น โดยมีสาระสำคัญแบ่งได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. การตรวจติดตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว โดยการแก้ไขให้กรมบัญชีกลางตรวจติดตามผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนแล้วว่ายังเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยให้มีการตรวจติดตามทุก 3 ปี (เดิม 2 ปี)
2. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบการเพิ่มเติมและแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาการยื่นขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใหม่ โดยกำหนดเพิ่มเติมให้เพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบการในกรณีผู้ประกอบการที่ถูกปรับลดระดับชั้น 3 ครั้ง ติดต่อกันภายใน 2 ปี เนื่องจากการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักวิชาช่างในงานก่อสร้างหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใหม่ได้ เมื่อพันระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียน) และแก้ไขเพิ่มเติมให้กรณีเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับคุณสมบัติที่เป็นเกณฑ์ความต้องการขั้นต่ำ เช่น ฐานะการเงิน ผลงานหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา บุคลากร หรือเครื่องมือเครื่องจักร สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใหม่ได้ตลอดเวลา เมื่อมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (เดิม สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใหม่ได้เมื่อพ้นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียน) รวมทั้งกรณีผู้ประกอบการที่ยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อขอขึ้นทะเบียนหรือการเลื่อนชั้นผู้ประกอบการเท็จ หรือกระทำการทุจริตอื่นใด เพื่อให้มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียนหรือการเลื่อนชั้นผู้ประกอบการ กำหนดให้สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการใหม่ได้ เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียน (เดิม ถูกเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถมายื่นคำขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการได้อีกเลย) ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนได้เมื่อครบกำหนดเวลา
3. ปรับอัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการตรวจติดตาม โดยการแก้ไขเพิ่มเติมและกำหนดบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายกฎกระทรวง ดังนี้
3.1 การปรับอัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้าง โดยปรับอัตราค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ชั้น 6 อัตรา 3,000 บาท ส่วนชั้นอื่น ๆ ให้ปรับอัตราเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดขั้นละ 1,000 บาท และสูงสุดที่ชั้นพิเศษในอัตรา 9,000 บาท (เดิม ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนเริ่มต้นที่ชั้น 6 อัตรา 500 สูงสุดที่ชั้นพิเศษอัตรา 5,000 บาท)
3.2 การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการตรวจติดตามผู้ประกอบการงานก่อสร้าง โดยเริ่มต้นที่ชั้น 6 อัตรา 3,000 บาท ส่วนชั้นอื่น ๆ ให้ปรับอัตราเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดชั้นละ 1,000 บาท (เดิมไม่มี โดยกำหนดในร่างกฎกระทรวงฯ เป็นบัญชีแนบท้ายเดียวกัน กับอัตราค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างเนื่องจากมีการปรับอัตราและกำหนดอัตราภายใต้อัตราเดียวกัน)
3.3 การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์การก่อสร้าง กรณีประเภทหลักเกณฑ์เฉพาะอื่น ๆ หลังจากที่กรมบัญชีกลางตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนแล้ว อัตราอำเภอละ 5,000 บาท (เดิมไม่กำหนดไว้)
3.4 การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนและการตรวจติดตามผู้ประกอบการพัสดุอื่น อัตรา 5,000 บาท (เดิม ไม่กำหนดไว้)
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่มีสิทธิเป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้ขอรับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้าง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประเภทสาขางานก่อสร้าง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
4. กำหนดให้มีการปรับลดระดับชั้นของผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการปฏิบัติงาน โดยการกำหนดเป็นบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง (เดิมไม่กำหนดไว้) ซึ่งการปรับลดระดับชั้นของผู้ประกอบการงานก่อสร้าง 2 กรณี ดังนี้
4.1 กรณีผู้ประกอบการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหลักวิชาช่างในงานก่อสร้างหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยหากมีผู้ถึงแก่ความตายจะมีการปรับลดระดับชั้นลงมา 1 ชั้น เป็นระยะเวลา 12 เดือน และหากมีผู้บาดเจ็บสาหัส จะมีการปรับลดระดับชั้นลงมา 1 ชั้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน และหากมีการปรับลดระดับชั้น 3 ครั้งติดต่อกันภายใน 2 ปีจากกรณีดังกล่าวจะถูกเพิกถอนใบทะเบียน
4.2 กรณีที่ผู้ประกอบการทำงานล่าช้า จะมีการปรับลดระดับชั้นลงมา 1 ชั้น เป็นระยะเวลา3 เดือน โดยหากจะกลับคืนสู่ชั้นทะเบียนเดิมก่อนถูกปรับลดระดับต้องมีผลการเพิกถอนและต้องมีผลงานสะสมในรอบเดือนถัดไปผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ รวม 6 ชนิด ได้แก่ 1) เหรียญกษาปณ์ทองคำ ชนิดราคาสามหมื่นบาท ประเภทขัดเงา 2) เหรียญกษาปณ์ทองคำ ชนิดราคาสามหมื่นบาท ประเภทธรรมดา 3) เหรียญกษาปณ์เงิน ชนิดราคาหนึ่งพันบาท ประเภทขัดเงา 4) เหรียญกษาปณ์เงิน ชนิดราคาหนึ่งพันบาท ประเภทธรรมดา 5) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท ประเภทขัดเงา และ 6) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท ประเภทขัดธรรมดา เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาส พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ในราชวงศ์จักรี ที่ทรงเจริญพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อที่จะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว
5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่เป็นการเฉพาะราย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่เป็นการเฉพาะราย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่ฯ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข และอัตราค่าใช้จ่ายในการบริหารแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่เป็นการเฉพาะราย พ.ศ. 2555 เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้การขอรับบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศสีเชิงเลข ภาพถ่าย ออร์โธสีเชิงเลข เป็นต้น มีค่าใช้จ่ายในการบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่ และสงวนมิให้ผู้ขอรับบริการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ จำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่แก่บุคคลที่ 3 โดยเด็ดขาด ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับบริการไม่สามารถนำแผนที่ที่ขอไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อยอด หรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ อีกทั้งไม่สามารถทำซ้ำเพื่อส่งให้กับผู้เกี่ยวข้องในการใช้ข้อมูลต่อไปได้ด้วยดังนั้น ร่างกฎกระทรวงนี้จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้ขอรับบริการแผนที่ หรือข้อมูลทางแผนที่สามารถเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ข้อมูลทางแผนที่ (ยังคงห้ามการจำหน่าย) เพื่อพัฒนาข้อมูลให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยยกเลิกค่าใช้จ่ายในการบริการแผนที่หรือข้อมูลทางแผนที่เป็นการเฉพาะราย เว้นแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้รับบริการต้องจัดหาอุปกรณ์ในการบันทึกข้อมูล เช่น ฮาร์ดดิสก์ แฟลชไดรฟ์ หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งการยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้จากยกเว้นค่าใช้จ่ายการให้บริการทั้งหมด เป็นจำนวนประมาณ 401,933 บาท/ต่อปี แต่การยกเลิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชน ภาครัฐ และเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับหลักการข้อมูลเปิดของภาครัฐ (Open Data) ที่ส่งเสริมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้เกิดการใช้งานที่กว้างขวางและเป็นประโยชน์มากขึ้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เช่น การวางแผนผังเมือง การจัดการที่ดิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
นอกจากนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังได้จำกัดความรับผิดในความเสียหายระหว่างผู้ให้บริการ (กรมพัฒนาที่ดิน) กับบุคคลที่ 3 ในกรณีที่ผู้ขอรับบริการแผนที่นำแผนที่ไปจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น ความเสียหายเหล่านี้จะไม่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดินไม่ว่าจะเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองก็ตาม และกรมพัฒนาที่ดินสามารถสงวนสิทธิ์ในการบริการแผนที่ตามความจำเป็นและความเหมาะสมเพื่อป้องกันการขอข้อมูลโดยไม่มีเหตุหรือไม่มีความจำเป็นด้วย
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ การแจ้ง และการออกใบรับรอง พ.ศ. 2567 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ การแจ้ง และการออกใบรับรอง พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ด้วยกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ การแจ้ง และการออกใบรับรอง พ.ศ. 2567 2560 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ได้กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ที่จะขายในราชอาณาจักรต้องแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบรับรอง โดยมีอัตราฉบับละ 100,000 บาท แต่โดยที่กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดยกเว้นการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และยกเว้นการควบคุมปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ถึง 22 พฤษภาคม 2572) ซึ่งส่งผลให้กระบวนการตรวจสอบสารที่ใช้ในการปรุงแต่งของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกระบวนการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น หากมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ จึงเห็นสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองการจดแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ การแจ้ง และการออกใบรับรอง พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองการจดแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ ตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ การแจ้ง และการออกใบรับรอง พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ถึง 22 พฤษภาคม 2572
2. สธ. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบอาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยได้นำร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์ กรมควบคุมโรคและได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค รวมทั้ง ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว โดยจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5,700,000 บาทต่อปี (รวม 4 ปี ประมาณ 22,800,000 บาท) อย่างไรก็ตาม การออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้จะมีความสอดรับกับกระบวนการตรวจสอบสารที่ใช้ในการปรุงแต่งของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบในห้องปฏิบัติการที่ดำเนินการโดย สธ. ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีขึ้นเมื่อมีการแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2572 เป็นต้นไป
_______
*พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ม. 159 บัญญัติให้ในส่วนนี้ “ยาสูบ” หมายความว่า บุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ ซิการ์ บุหรี่อื่น ยาเส้น ยาเส้นปรุง ยาเคี้ยว และให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นใดที่บริโภคได้เช่นเดียวกับยาสูบที่กำหนดในกฎกระทรวง “บุหรี่ซิกาแรต”หมายความว่า ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ไม่ว่าจะมีใบยาแห้งหรือยาอัดเจือปนหรือไม่ ซึ่งมวนด้วยกระดาษหรือวัตถุที่ทำขึ้นใช้แทนประกาศหรือใบยาแห้งหรือยาอัด “บุหรี่ซิการ์” หมายความว่า ใบยาแห้งหรือยาอัด ซึ่งมวนด้วยใบยาแห้งหรือยาอัด
เศรษฐกิจ-สังคม |
7. เรื่อง มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย และร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
2. มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความเหมาะสมเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจปกติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ที่กระทรวงการคลังเสนอ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหลักการเช่นเดียวกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เมษายน 2567) ตามข้อ 2 ซึ่งสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยรวม 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา (จากเดิมร้อยละ 2) เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวโดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุดตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยลดค่าจดค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา (จากเดิมร้อยละ 2) เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01 โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและผู้ขายที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และห้องชุดในราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทและให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569
2.กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จำนวนไม่เกิน 20,014.65 ล้านบาท (1,334.31 ล้านบาทต่อเดือน) แต่จะช่วยสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน รักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 537,303.88 ล้านบาทต่อปี (44,775.32 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศได้ประมาณ 88,690.22 ล้านบาทต่อปี (7,390.85 ล้านบาทต่อเดือน) และเพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 303,434.15 ล้านบาทต่อปี (25,286.18 ล้านบาทต่อเดือน) และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ
3. โดยที่เรื่องนี้เป็นการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และผู้ขายที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยอาคารพาณิชย์ และห้องชุดซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ จึงเห็นควรให้มีความเห็นกระทรวงมหาดไทยสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย ประกอบกับเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 2 (7) (ฎ) ซึ่งกำหนดให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.01 ได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุด พ.ศ. 2553 ข้อ 1 (7) (ช) ซึ่งกำหนดให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.01 ได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
8. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานและขอขยายเวลาการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง (โครงการฯ)
2. เห็นชอบให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรถูกต้องครบถ้วนแล้ว และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non - Performing Loan : NPLs) ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
3. เห็นชอบให้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง คิดดอกเบี้ยและเบิกจ่ายเงินชดเชยเงินต้นครึ่งหลัง (ร้อยละ 50) ที่พักไว้ทั้งจำนวนของเกษตรกร จำนวน 16,794 ราย และที่แจ้งเพิ่มเติมภายหลังที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ ให้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ต้องควบคุมกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรของแต่ละธนาคาร โดยไม่เกินกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 15,481.66 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566
4. เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2568 โดยให้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการสิ้นสุดลงภายใน 150 วัน นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ทั้งนี้ ต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 และ 11 ธันวาคม 2567 ที่มาแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2568 โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
4.1 ให้เกษตรกรและสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ส่งมอบเอกสารแบบแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ (ปคน.1) (ปคน.2) และแบบ (ผค.1/4) ให้สถาบันเจ้าหนี้ให้แล้วเสร็จ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมิมติ
4.2 ให้สถาบันเจ้าหนี้ดำเนินการทำสัญญาให้แล้วเสร็จ ภายใน 150 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
4.3 ในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน เช่น ติดปัญหาเรื่องหลักประกัน หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมายหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการของส่วนราชการ ให้ขยายระยะเวลาการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารออกไปอีกแต่ไม่เกิน 150 วัน นับแต่วันที่ศาล มีคำสั่ง หรือคำพิพากษาถึงที่สุดหรือวันที่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
5. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง นำมติคณะรัฐมนตรีไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบการขยายเวลาข้างต้นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
9. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบฯ ปี 68 งบกลางฯ) เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย (โครงการฯ) จำนวน 554 รายการ วงเงิน 1,182,396,800 บาท
สาระสำคัญ
1. กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการฯ เพื่อซ่อมแซมอาคารและสิ่งปลูกสร้างทางชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 67 ซึ่งส่งผลทำให้การบริการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและกิจกรรมอื่น ๆ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอันตรายที่อาจจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ประชาชนทั่วไปจากการใช้งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างทางชลประทานดังกล่าว
2. โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารและระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้งานให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยจากน้ำท่วมรวมทั้งเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. โครงการฯ ใช้จ่ายงบฯ ปี 68 งบกลางฯ ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยใน 12 จังหวัด ดังนี้
1. จังหวัด ชุมพร จำนวน 17 โครงการ งบประมาณ 130,020,000 บาท
2. จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 37 โครงการ งบประมาณ 19,763,800 บาท
3. จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 197 โครงการ งบประมาณ 219,516,000 บาท
4. จังหวัดตรัง จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 4,850,000 บาท
5. จังหวัดสงขลา จำนวน 98 โครงการ งบประมาณ 308,340,000 บาท
6. จังหวัดพัทลุง จำนวน 58 โครงการ งบประมาณ 38,812,000 บาท
7. จังหวัดนราธิวาส จำนวน 63 โครงการ งบประมาณ 184,064,000 บาท
8. จังหวัดปัตตานี จำนวน 33 โครงการ งบประมาณ 97,051,000 บาท
9. จังหวัดยะลา จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 20,900,000 บาท
10. จังหวัดระนอง จำนวน 1 โครงการ งบประมาณ 37,000,000 บาท
11. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 41 โครงการ งบประมาณ 67,080,000 บาท
12. จังหวัดสตูล จำนวน 1 โครงการ งบประมาณ 55,000,000 บาท
รวมทั้งสิ้น จำนวน 554 โครงการ งบประมาณ 1,182,396,8000 บาท
10. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ฝึกซ้อม/แข่งขัน (กีฬาทางน้ำ) ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568
(ค.ศ. 2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) จากงบประมาณรายจ่าย
งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 320,268,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานที่ฝึกซ้อม/แข่งขัน (กีฬาทางน้ำ) ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
รายการค่าใช้จ่าย/กิจกรรม |
งบประมาณ (บาท) |
1. งานปรับปรุง เช่น สระว่ายน้ำ สระกระโดด อาคาร ร้านอาหาร และห้องน้ำสาธารณะ |
307,950,000 |
2. ค่าควบคุมงาน (ร้อยละ 4) |
12,318,000 |
รวมทั้งสิ้น |
320,268,000 |
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (27 กันยายน 2565) เห็นชอบการรับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ตามที่ กก. เสนอ สำหรับกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการเป็นเจ้าภาพให้ กก. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความพร้อมในด้านต่าง ๆ และแนวทางการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงถึงความประหยัด การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ พิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ รวมทั้งกำหนดแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงินที่ต้องใช้ในการเป็นเจ้าภาพแข่งขันดังกล่าว โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณานำรายได้จากการบริหารสิทธิประโยชน์ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน รวมทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชนมาสมทบการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดภาระต่องบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสม ตลอดจนจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การบริหารจัดการรายได้จากการถ่ายทอดในช่องทางต่าง ๆ หรือกรณีที่รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2. กก. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีสถานที่ฝึกซ้อม/แข่งขัน (กีฬาทางน้ำ) ที่ได้มาตรฐานตามที่สหพันธ์กีฬาทางน้ำโลก (World Aquatics) กำหนด เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ระหว่างวันที่ 9 - 20 ธันวาคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสงขลา และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ระหว่างวันที่ 20 - 26 มกราคม 2569 ณ จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงสถานที่ฝึกซ้อม/แข่งขัน (กีฬาทางน้ำ) ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว และได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
3. สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ กก. โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 320,268,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานที่ฝึกซ้อม/แข่งขัน (กีฬาทางน้ำ) ภายในสนามกีฬาหัวหมาก ด้วยแล้ว และให้ กก. พิจารณากำหนดกลไกในการขับเคลื่อนโครงการปรับปรุงดังกล่าว ให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ประหยัด คุ้มค่า การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับรวมถึงจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ครบถ้วนทุกมิติ โดยพิจารณาถึงผลกระทบจากการดำเนินการที่อาจไม่เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่ฝึกซ้อมแข่งขัน (กีฬาทางน้ำ)
11. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินงานก่อสร้าง ระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 และงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 115 kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงสถานีไฟฟ้าบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 เพื่อดำเนินงานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22 kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 (งานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22 kV ) และงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 115 kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงสถานีไฟฟ้าบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรี (งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 115 kV ) 017 ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (1 สิงหาคม 2560) อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดย กฟภ. ได้มีแผนก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22 kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และแนวก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 115 kV ช่วงสถานีไฟฟ้ากาญจนบุรี 4 ถึงสถานีไฟฟ้าบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตรวจสอบแล้วพบว่าแนวก่อสร้างๆ ดังกล่าว ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นระยะทาง 2.71 กิโลเมตร กระทรวงมหาดไทยจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
มติคณะรัฐมนตรี |
สาระสำคัญ |
12 ธันวาคม 2532 |
คณะรัฐมนตรีมีมติว่าต่อไปจะไม่อนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ |
21 กุมภาพันธ์ 2538 |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการศึกษาวิจัย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตลอดจนข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ รวมทั้งแผนที่แสดงชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตกว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณี |
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม งานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22 kv และสายส่งไฟฟ้า 115 kV จังหวัดกาญจนบุรี แล้ว
2. กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน (พน.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมที่สำคัญ
เช่น ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและหน่วยงานกำกับดูแลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อย่างเคร่งครัด (ทส.) ให้ กฟภ. พิจารณาเตรียมค่าใช้จ่ายปลูกป่าทดแทน โดยใช้เงินรายได้ของ กฟภ. ต่อไป (สงป.) การสร้างสายส่งไฟฟ้าในเขตทางหลวงจะต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางเป็นสำคัญ (คค.)
12. เรื่อง การจัดทำโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้
1. การจัดทำโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 91 โครงการ รวม 1,253 หน่วย ภายในวงเงินงบประมาณ 1,170.77 ล้านบาท
2. วงเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเต็มจำนวน จำนวน 1,170.77 ล้านบาท โดยมอบสำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าวให้กับ ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งนี้ ให้สามารถก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณได้ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) เป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) มีแนวทางการดำเนินงาน คือ
1.1 ส่วนราชการ หน่วยงานที่ต้องการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) เป็นผู้สำรวจปริมาณความต้องการ กำหนดรูปแบบที่อยู่อาศัย และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องพร้อมประมาณการงบประมาณโครงการเสนอต่อ พม. (การเคหะแห่งชาติ)
1.2 พม. (การเคหะแห่งชาติ) จะรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปภาพรวมความต้องการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) เป็นรายปี แล้วเสนอขออนุมัติกรอบการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี
1.3 ให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะจัดทำโครงการเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี
2. พม. (การเคหะแห่งชาติ) ได้สำรวจความต้องการในการจัดทำโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามลำดับความพร้อมของข้อมูลที่หน่วยงานได้จัดส่งให้การเคหะแห่งชาติ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) จำนวน 1 หน่วยงาน ได้แก่ ศธ. (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.))
3. โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของ ศธ. (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) มีรายละเอียด ดังนี้
3.1 วัตถุประสงค์
3.1.1 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของหน่วยงานของรัฐ โดยการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้านหลวงที่ได้มาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็น
3.1.2 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของตนให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ จากการได้รับการสนับสนุนสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย
3.1.3 เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในการเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม
3.2 เป้าหมายการดำเนินงาน
กำหนดเป้าหมายการดำเนินโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของ ศธ. (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) รวม 91 โครงการ 1,253 หน่วย งบประมาณ 1,170,77 ล้านบาท โดยดำเนินการตามความพร้อมของหน่วยงาน
3.3 งบประมาณและแหล่งที่มา
3.3.1 วงเงินงบประมาณรวม 1,170.77 ล้านบาท
3.3.2 พม. เป็นผู้เสนอขออนุมัติโครงการและกรอบงบประมาณในภาพรวม และส่วนราชการที่มีความต้องการจะดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติและขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป
3.3.3 ตามแผนการบริหารจัดการโครงการ ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
4. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการ
4.1 เพื่อตอบสนองความต้องการของข้าราชการและพนักงานหน่วยงานของรัฐ จำนวน 1,253 ครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนข้าราชการ พนักงานหน่วยงานของรัฐและครอบครัวกว่า 3,759 คน มีโอกาสได้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานใกล้สถานที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ
4.2 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการและครอบครัวก่อให้เกิดสวัสดิการและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มกำลังความสามารถ
4.3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ภาคการก่อสร้างและอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนภายในประเทศ ที่มีการใช้แรงงานและวัตถุดิบภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่
5. พม. แจ้งว่า สงป. พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่ พม. จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ซึ่งดำเนินการโดย ศธ. จำนวน 91 โครงการ รวม 1,253 หน่วย ภายในวงเงิน 1,170.77 ล้านบาท ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยเห็นควรให้ ศธ. ดำเนินโครงการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและเป็นธรรม พร้อมจัดทำรายละเอียด แบบรูปรายการประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละระดับ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด เป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
13. เรื่อง มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 (ตามข้อ 3)
2. ให้ความเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ) (ตามข้อ 3.1) และมอบหมายหน่วยงาน ดังนี้
2.1 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) รับผิดชอบการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ ด้านการลงทุน
2.2 มอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2.3 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กำหนดวิธีปฏิบัติและค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมในการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ ในด้านระดับการปล่อย CO2 การใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย และการติดตั้งระบบด้านความปลอดภัย
3. ให้ความเห็นชอบการขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) (มาตรการ EV3) (ตามข้อ 3.2) และมอบหมายหน่วยงาน ดังนี้
3.1 เห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV3 โดยให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ไม่สามารถผลิตชดเชยได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขมาตรการ EV3.5 ได้ โดยผู้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด และ/หรือ ให้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (Completely Built Up: CBU) ที่นำเข้าสำเร็จภายใต้มาตรการ EV3 ไปยังต่างประเทศโดยไม่นับเป็นยอดที่ต้องผลิตชดเชย
3.2 มอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ได้มีมติเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ การพิจารณาข้อเสนอการขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 และการพิจารณาข้อเสนอการขยายเวลาการนับมูลค่าเซลล์แบตเตอรี่นำเข้าจากต่างประเทศในการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศโดยมีรายละเอียดสรุป ดังนี้
1. มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ
คณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ โดยการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์แบบไฮบริด (HEV) และรถยนต์ Mild Hybrid Electric Vehicle (MHEV) ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
(1.1) รถยนต์ประเภท HEV |
(1.2) รถยนต์ประเภท MHEV |
|
(1) การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่ นั่งไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2569 - 2575 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะรับสิทธิดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนที่จะได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตตามมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ ดังต่อไปนี้ |
(1.1.1) ระดับการปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6 และระดับการปล่อย CO2 เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9 |
(1.2.1) ระดับการปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 และระดับการปล่อย CO2 เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12 |
(2) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ |
(2.1) มอบหมายให้ สกท. รับผิดชอบการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านการลงทุนของมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ |
2. การพิจารณาข้อเสนอการขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3
เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าขอให้พิจารณาข้อเสนอขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ในส่วนของกำหนดเงื่อนไข “ต้องผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถจักรยานยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า
1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ภายในปี 2568” ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายระยะเวลาช่วยลดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศและป้องกันปัญหาสงครามราคา จึงเห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการกรณีผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 ไม่สามารถผลิตชดเชยได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้
2.1 ให้ขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่าภายในปี 2570) โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการขยายเวลาข้างต้นจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนและรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตชดเชยภายใต้มาตรการ EV3.5 จะได้รับเงินอุดหนุนเมื่อผลิตชดเชยภายใต้มาตรการ EV3 ครบตามจำนวนที่ได้รับสิทธิขยายเวลาแล้ว ทั้งนี้ กรณีดำเนินการไม่ได้ตามเงื่อนไขเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ จะต้องรับบทลงโทษตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.5
และ/หรือ
2.2 ให้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ที่นำเข้าสำเร็จภายใต้มาตรการ EV3 ไปยังต่างประเทศโดยไม่นับเป็นยอดที่ต้องผลิตชดเชย
2.3 มอบหมายให้กรมสรรพสามิตรับผิดชอบการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาตรการฯ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และ/หรือนำเสนอต่อผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
3. การพิจารณาข้อเสนอการขยายเวลาการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศในการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศ
ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าขอให้มีการพิจารณาขยายกรอบระยะเวลามาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2565 - 2568 โดยให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศสำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน จากเดิม สิ้นสุดภายในปี 2568 เป็น ให้สิ้นสุดภายในปี 2570 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเห็นควรไม่ขยายระยะเวลาดังกล่าวเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทยและเป็นปัจจัยสนับสนุนในการชักจูงผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
4. การกำหนดมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะทำให้มีการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสามารถรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต และความต้องการของตลาดยานยนต์ในประเทศและต่างประเทศสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ในปี 2573
14. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 2/2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก
3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 80 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปีนัง
1.2 ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
2. รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปีนัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 เนื่องจากยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 80 (พื้นที่คงเดิม) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ยุติลงโดยเร็ว รวมทั้งหากไม่มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่อยู่ในการควบคุมตัวในกระบวนการซักถามของฝ่ายความมั่นคงและที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดซึ่งอาจส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
15. เรื่อง ผลการพิจารณาญัตติมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โรงงานผลิตพลุและดอกไม้เพลิงระเบิด
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณาญัตติมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โรงงานผลิตพลุและดอกไม้เพลิงระเบิด ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โรงงานผลิตพลุและดอกไม้เพลิงระเบิด (เนื่องจากเหตุการณ์ที่สุพรรณบุรีและนราธิวาส) โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ซึ่งกำหนดนิยามให้สถานประกอบการ หมายความรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลมลพิษอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ
2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 มอบหมายให้ มท. เป็นหน่วยงานหลักรับญัตติพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของญัตติพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. มท. ได้เสนอผลการพิจารณาญัตติพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว โดยสรุปผลได้ดังนี้
ประเด็น |
ผลการพิจารณา |
1. การกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัย |
มท. (กรมการปกครอง) ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้เพลิงโดยตลอด เช่น การมีหนังสือแจ้งนโยบายการควบคุมดอกไม้เพลิงชนิดประทัดไฟ (ให้นายทะเบียนส่งเรื่องการขออนุญาตทำ สั่ง หรือนำเข้า ให้กระทรวงพิจารณาทุกราย) ซักซ้อมความเข้าใจในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้สั่งดอกไม้เพลิงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดการจัดทำ “แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับดอกไม้เพลิงตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490” เพื่อให้นายทะเบียนท้องที่ได้ถือเป็น |
2. การปรับปรุงกฎหมาย |
มท. (กรมการปกครอง) ได้จัดการประชุมทบทวนความเหมาะสมและกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการค้าและการผลิตดอกไม้เพลิงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนความเหมาะสมของประกาศกระทรวงกลาโหม มท. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และ อก. เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547 และกำหนดแนวทางร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งในขณะนี้ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโดยอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบความเหมาะสมระหว่างหน่วยงานและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง เช่น |
4. การเยียวยา |
มท. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุและดอกไม้เพลิงระเบิด โดยเป็นการประสานความร่วมมือทั้งในส่วนภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จำแนก |
5. มาตรการในการตรวจสอบ |
มท. ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการที่เข้าข่ายเป็นผู้ผลิตดอกไม้เพลิง โดยกรมการปกครองได้ให้จังหวัดแจ้งนายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่เข้าข่ายเป็นผู้ผลิตดอกไม้เพลิงโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ |
16. เรื่อง ข้อเสนอแนะกรณีการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะกรณีการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้กระทรวงยุติธรรมสรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศถูกบังคับให้สวมกางเกง ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพและใส่เสื้อชั้นในเพื่อปกปิดอวัยวะสำคัญทั้งที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกแล้วเป็นเหตุให้ถูกคุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดเพศวิถีแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังโดยตรงเร่งผลักดันนโยบายการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้แตกต่างจากนักโทษเด็ดขาดและให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมีสิทธิและเสรีภาพที่จะพิจารณาความเหมาะสมของการแต่งกายเองได้ และแก้ไขปรับปรุงระเบียบกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขังและการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง ให้คำนึงถึงการรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อชั้นในของผู้ต้องขัง ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ทำศัลยกรรมหน้าอกแต่ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศ มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (3)
17. เรื่อง (ร่าง) ข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน
คณะรัฐมนตรีรับทราบ (ร่าง) ข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ตามที่สภาเกษตรแห่งชาติ (สภช.) เสนอ และมอบหมายให้ กษ. และ มท. รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับ ทส. สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยให้รับความเห็นของ กษ. ทส. มท. และ สศช. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 149.2 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น พื้นที่ที่มีระบบชลประทานประมาณ 32.75 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 21.95 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 116.45 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 78.05 เป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก แต่เนื่องจากฝนตกไม่สม่ำเสมอและไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น อ่างเก็บน้ำ หนอง บึง บ่อน้ำตื้น และบ่อบาดาล อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังขาดระบบส่งน้ำ ทำให้การนำน้ำไปใช้ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบ่อน้ำตื้น ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในฤดูแล้ง ส่วนบ่อบาดาลแม้จะลึกกว่า แต่ประสบปัญหาน้ำน้อย น้ำแห้งและน้ำเค็มรุกล้ำ ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่นอกเขตชลประทานประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง และประสบปัญหาน้ำท่วม หากปริมาณฝนมีมากจนเกินไปในฤดูฝน โดยที่พื้นที่นอกเขตชลประทานมีมากกว่าพื้นที่ในเขตชลประทาน การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีการกักเก็บน้ำฝนไว้ เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง รวมถึง พัฒนาพื้นที่ให้สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน
2. สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สภช.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตรกรรมของเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ดังนี้ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ในแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานและการปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานร่วมกับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) ระบบเปิด โดยดำเนินการเสริมประสิทธิภาพการกักเก็บด้วยการปรับปรุงบ่อที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เพิ่มประสิทธิภาพในไร่นานอกเขตชลประทานเดิม และป้องกันฟื้นฟูแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนด้วยธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดเพื่อเติมน้ำสะอาดลงสู่ชั้นบาดาล โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (กรมพัฒนาที่ดิน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมทรัพยากรน้ำบาดาล) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและ (2) การทำฝายชะลอน้ำและส่งเสริมการทำฝายแหล่งต้นน้ำเพื่อเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ระบบธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินให้เกิดความสมดุล โดยมี มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง) และ ทส. (กรมป่าไม้) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งนี้ กษ. ทส. มท. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น กษ. เห็นว่าควรหารือการดำเนินงานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในการคัดเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแหล่งน้ำ และมีการติดตามประเมินผลด้านวิชาการก่อนขยายผลขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวม ทส. เห็นว่า การทำฝายแหล่งต้นน้ำควรคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบนแหล่งต้นน้ำในระยะยาว และ สศช. เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณเห็นควรให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
18. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อดำเนินการโครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 370,390,200 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนต์รีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 รับทราบแผนที่พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทยและบัญชีแผนที่พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย จำนวน 1,984 ตำบล และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทยไปใช้ประกอบการเตรียมความพร้อม ป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัยในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว และนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณี) ระบุพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ดินโคลนถล่ม โดยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง และให้มีการซักซ้อมเตรียมความพร้อมในพื้นที่เพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าวและในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของกรมทรัพยากรธรณีในการจัดทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ขอเรียนว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่ม ลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นในการดำเนินโครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 และแผนปฏิบัติราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
2.1 ชื่อโครงการ โครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและ
น้ำป่าไหลหลาก
2.2 วัตถุประสงค์
(1) เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินถล่มระดับสูง - สูงมาก รายลุ่มน้ำ สำหรับการเฝ้าระวังแจ้งเตือนและอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันต่อสถานการณ์
(2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแผ่นดินถล่มและการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่เป้าหมายได้ทันต่อสถานการณ์
(3) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศดิจิทัลธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายและดำเนินการบริหารจัดการพิบัติภัย ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
(4) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลพื้นที่คาดการณ์การเฝ้าระวังเตือนภัยล่วงหน้าแผ่นดินถล่มเข้ากับระบบการเตือนภัยด้านการบริหารจัดการน้ำของกรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.3 สาระสำคัญของโครงการ
(1) ติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดินพร้อมอุปกรณ์ 120 สถานี จำนวน 310,840,000 บาท
(2) จัดทำระบบสารสนเทศดิจิทัลธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม จำนวน 40,351,000 บาท
(3) เสริมสร้างประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมรับมือธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มด้วยการสร้างภาคีเครือข่าย จำนวน 19,199,200 บาท
2.4 พื้นที่ดำเนินการ พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต และพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มประเทศไทย
2.5 งบประมาณ ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 370,390,200 บาท
2.6 ระยะเวลาดำเนินการ มีแผนระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี
2.7 ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ ทำให้มีการติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินถล่มระดับสูง - สูงมาก รายลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแผ่นดินถล่มและการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสามารถสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ สามารถลดความสูญเสียจากธรณีพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากยิ่งขึ้น
3. สำนักงบประมาณ แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 370,390,200 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มไหลหลาก ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินที่เห็นสมควรอนุมัติเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการนำเรื่องดังกล่าวเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขอให้กรมทรัพยากรธรณีจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
ประโยชน์และผลกระทบ
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง - สูงมาก ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อการแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจะช่วยลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
19. เรื่อง การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ภายใต้ชื่อ “Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece of Krung Rattanakosin” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
2. เห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”ภายใต้ชื่อ “Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece of Krung Rattanakosin” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซองศูนย์มรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
3. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาตินำเสนอเอกสารการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ภายใต้ชื่อ “Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece of Krung Rattanakosin” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
สาระสำคัญ
1. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 พิจารณาวาระการประชุมที่ 4.1 การนำเสนอแหล่งพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อบรรจุรายชื่อในบัญชีเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก โดยมีมติ ดังนี้
(1) เห็นชอบต่อเอกสารขอบรรจุรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) แหล่งพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(2) มอบฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประสานวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินงานส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 พิจารณาวาระการประชุมที่ 4 การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อขอรับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 โดยมีมติ ดังนี้
(1) เห็นชอบ (ร่าง) เอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อขอรับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ตามที่กรมศิลปากรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมนำเสนอ
(2) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอรับความเห็นประกอบการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามแนวทางที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด
(3) กรณีที่ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของ (ร่าง) เอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อขอรับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามขั้นตอนในการนำเสนอเอกสารดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ให้ทันต่อกำหนดเวลาที่กำหนดเอาไว้ในการยื่นขอรับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
3. สาระสำคัญของเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อขอรับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 สรุปได้ ดังนี้
(1) ข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย ภาคีสมาชิก ผู้เตรียมการเสนอ ชื่อ ที่อยู่ สถาบัน/หน่วยงาน วันที่เสนอ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โทรสาร และโทรศัพท์ ซึ่งวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร ในสังกัดมหาเถรสมาคม เป็นหน่วยงานนำเสนอ
(2) ชื่อนำเสนอ Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece of Krung Rattanakosin
(3) เหตุผลความสำคัญโดดเด่นระดับสากล (Justification of OUV) พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามฯ เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลและพระมหาธาตุแห่งพระนครกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการออกแบบและงานประดับตกแต่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลอย่างแท้จริง ด้านความสำคัญของงานศิลปกรรม ถือเป็นพัฒนาการด้านรูปแบบของพระปรางค์ในราชอาณาจักรไทยที่มีความสูงและมีขนาดใหญ่ที่สุด มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายประการจนเป็นลักษณะเฉพาะ และเป็นต้นแบบของพระปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
(4) คุณสมบัติตามเกณฑ์ (Criteria met)
เกณฑ์ข้อที่ 1 พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรม ประเภทเจดีย์ในพุทธศาสนาที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ด้านรูปแบบ เทคนิคการก่อสร้าง คติการสร้างและศิลปกรรม เป็นเจดีย์ประเภทพระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดในราชอาณาจักรไทยและเอเชีย
เกณฑ์ข้อที่ 2 พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ เป็นสถาปัตยกรรม ประเภทเจดีย์ในพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมสมัยอยุธยา และมีพัฒนาการด้านการออกแบบแผนผัง สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม จนเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสมัยรัตนโกสินทร์เพียงแห่งเดียวในราชอาณาจักรไทยและเอเชีย
(5) คำแถลงความแท้และความครบถ้วน (Statements of authenticity and/or integrity) พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ อยู่ภายในวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 และเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินเป็นประจำ จึงได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาให้คงความเป็นของแท้และดั้งเดิม ทั้งด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของราชอาณาจักรไทย โดยมีความครบถ้วนสมบูรณ์ด้านลักษณะแผนผังของกลุ่มเจดีย์ประกอบด้วย เจดีย์ประธาน เจดีย์บริวารประจำมุมและประจำทิศ และมีวิหาร 2 หลังตั้งอยู่ด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในวัดอรุณราชวรารามฯ มีการแบ่งสัดส่วนของเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจนและได้รับการประกาศ
(6) การเปรียบเทียบกับแหล่งอื่น (Comparison with other similar properties) นำเสนอการเปรียบเทียบกับแหล่งอื่น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงปรางค์ และ 2) คติการก่อสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมของปราสาทที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาในศิลปะอินเดียและที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย โดยได้เปรียบเทียบกับแหล่งมรดกโลก ได้แก่ พระปรางค์ในแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในแหล่งมรดกโลกเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร โบราณสถานประเภทปราสาทในแหล่งมรดกโลกนครวัดราชอาณาจักรกัมพูชา เจดีย์วิหารในแหล่งมรดกโลกเมืองโบราณพยู สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและเปรียบเทียบกับแหล่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ได้แก่ เจดีย์ทรงระฆังของแหล่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมของแหล่งพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม และเจดีย์ชเวดากอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งการเปรียบเทียบพบว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ มีคติการสร้างทางศาสนาที่คล้ายคลึงกับแหล่งอื่น แต่มีรูปแบบของพัฒนาการทางศิลปะสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่สามารถเปรียบเทียบกับแหล่งอื่นได้
4. (ร่าง) ขอบเขตพื้นที่นำเสนอ ประกอบด้วย
(1) พื้นที่นำเสนอ ประกอบด้วย วัดอรุณราชวรารามฯ เนื้อที่โดยประมาณ 28 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา
(2) พื้นที่กันชน โดยรอบวัดอรุณราชวรารามฯ โดยทิศเหนือ จรด คลองมอญ ทิศใต้ จรด คลองบางกอกใหญ่ ทิศตะวันออก จรด กึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตก จรด ถนนอิสรภาพ เนื้อที่โดยประมาณ 504 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา
20. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
คณะรัฐมนตรีมีมติขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยเห็นควรให้ยุติการดำเนินการ จัดทำร่างพระราชบัญญัติเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. .... ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน และมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของเรื่อง ได้แก่ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ไปร่วมกันดำเนินการศึกษาทบทวนแนวทางและมาตรการส่งเสริมและกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทยก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาความเหมาะสมของการมีกฎหมายดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้พิจารณาทบทวน มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างพระราชบัญญัติเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. .... ตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ให้บริการสื่อกลางดิจิทัล กำหนดหน้าที่พื้นฐานของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกขนาดและทุกประเภท อาทิ การจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ การเปิดเผยโปร่งใสด้านการโฆษณา กำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่มีหน้าที่เฉพาะในการรายงานข้อมูลของแพลตฟอร์มต่อหน่วยงานกำกับดูแล การจัดทำรายงานความโปร่งใสและแผนการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งระงับการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการซึ่งกระทำผิดกฎหมายที่มีความร้ายแรงหรืออาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศให้มีคณะกรรมการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นองค์กรกำกับดูแลผู้ให้บริการสื่อกลางดิจิทัลและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีหน้าที่และอำนาจของในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งกำหนดโทษปรับเป็นพินัยสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ดิจิทัลและผู้ให้บริการที่มีอำนาจควบคุมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งหลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม ภาคเอกชน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐ ยังมีข้อห่วงกังวลในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ ความซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันจนอาจสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการเกินสมควร ผลกระทบและต้นทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการปฏิบัติตามกฎหมาย (regulatory compliance costs) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหน้าที่ของ Gatekeepers ที่เข้มงวด ค่าปรับเป็นพินัยที่กำหนดไว้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และสถานะทางการเงินของธุรกิจแพลตฟอร์ม รวมถึงความเสี่ยงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นไม่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งจะกระทบการพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มของประเทศในภาพรวม ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้กฎหมายก่อผลกระทบในเชิงลบต่อการพัฒนานวัตกรรมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สมควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยเห็นควรให้ยุติการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ.... ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนและมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของเรื่อง ได้แก่ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ไปร่วมกันดำเนินการศึกษาทบทวนแนวทางและมาตรการส่งเสริมและกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาความเหมาะสมของการมีกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ จะเป็นการลดระดับความรุนแรงที่ประเทศไทยจะได้รับจากสงครามการค้าในปัจจุบัน และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอดังกล่าวและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เห็นว่า การนำร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมาพิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างเหมาะสม
ต่างประเทศ |
20. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2028 - 2034 และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2029 – 2031
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law: UNCITRAL) วาระปี ค.ศ. 2028 - 2034 และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2029 – 2031 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) วาระปี ค.ศ. 2028 - 2034 และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) โดยกำหนดการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2570 และเดือนมิถุนายน 2591 ตามลำดับ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยจะต้องดำเนินกระบวนการหาเสียงกับประเทศต่าง ๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ กต. แจ้งว่า ได้ตั้งงบประมาณในปี พ.ศ. 2568 - 2569 รองรับไว้แล้ว ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้กลไกดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทย มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ โดยจะทำให้ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการยกร่างอนุสัญญา กฎหมายแม่แบบ และคู่มือด้านกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศ และมีส่วนร่วมในการเสนอแนะนโยบายด้านการพัฒนาต่อประชาคมโลก รวมทั้งสะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการดำเนินความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องตามที่ กต. เสนอ
21. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร (ITU Council) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในระหว่างการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม (Plenipotentiary Conference) ค.ศ. 2026
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร (Council) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (international Telecommunication Union: ITU) (สมาชิกสภาบริหารของ ITU) อีกวาระหนึ่ง (ปี ค.ศ. 2027-2030) (พ.ศ. 2570 - 2573) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการขอเสียง/แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ ITU ในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ของประเทศไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) อีกวาระหนึ่ง (ปี ค.ศ. 2027 - 2030) (พ.ศ. 2570 - 2573) ซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องจากเดิมที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาบริหารของ ITU (11 สมัย) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 เมษายน 2564) อนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU วาระปี ค.ศ. 2023 - 2026 (พ.ศ. 2566 – 2569)] โดยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ในที่ประชุมใหญ่ผู้แทน ผู้มีอำนาจเต็ม ค.ศ. 2026 (ปี 2569) ระหว่างวันที่ 9 - 27 พฤศจิกายน 2569 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมากระบวนการในการขอเสียง/แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ITU จะใช้เวลาในการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ดังนั้น จึงเสนอคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการขอเสียง/แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ ITU ในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ของประเทศไทย รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของประเทศไทย ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสภาบริหารของ ITU จะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทันสมัยเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และช่วยในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพบริการ ด้านโทรคมนาคมของประเทศให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพทัดเทียมนานาอารยประเทศ
แต่งตั้ง |
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ
(สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นางสาวณฐิณี สงกุมาร ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองนวัตกรรมบริการภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567
2. นางสาวจิตตา กิตติเสถียรนนท์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองกิจการองค์การมหาชน
และหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น สำนักงาน ก.พ.ร. ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
1. นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายปรีดี ภูสีน้ำ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/95225