สาระน่ารู้


สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 พฤษภาคม 2566


วันนี้ (16 พฤษภาคม 2566)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                   1.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561 พ.ศ. ....
                   2.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   3.       เรื่อง     ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   4.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. ....
 

เศรษฐกิจ-สังคม

                   5.       เรื่อง     เสนอจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)  และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)
                   6.       เรื่อง     การพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (มักกะสัน)
                   7.       เรื่อง     ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 และครั้งที่ 6/2566
                   8.       เรื่อง     การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
                   9.       เรื่อง     ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ประเด็นการสร้างและใช้ Big Data ภาคเกษตร ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา
                   10.      เรื่อง     รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566
                   11.      เรื่อง     รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                   12.      เรื่อง     รายงานผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
                   13.      เรื่อง     มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565
 

ต่างประเทศ

                   14.      เรื่อง     ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                   15.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
                   16.      เรื่อง     การรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยการทบทวนครึ่งวาระของกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยง ค.ศ. 2015-2030
                   17.      เรื่อง     การขออนุมัติในหลักการสำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมากรณีพายุไซโคลนโมคา
 

แต่งตั้ง

                   18.      เรื่อง     การเปลี่ยนโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
____________________________
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561 พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างประกาศที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอเป็นการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ต่อไปอีกสองปีนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นไปอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   ร่างประกาศในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561 ออกไปอีกสองปีนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2566
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้พัสดุส่งเสริมดิจิทัลตามบัญชีบริการดิจิทัลเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลของประเทศไทยของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) เช่น ระบบการบริหารจัดการบัญชีโดรนตรวจจับความร้อน กล้อง CCTV ที่มีระบบตรวจจับใบหน้า และระบบ Smart Parking เป็นพัสดุประเภทที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (โดยกำหนดไว้ในหมวด 9 ซึ่งกฎกระทรวงในเรื่องนี้ปัจจุบันมี 8 หมวด) และกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง (หากพัสดุที่จะจัดจ้างมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว หรือวิธีคัดเลือก (หากพัสดุที่จะจัดจ้างมีผู้ให้บริการตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมในการนำบริการดิจิทัลจากวิสาหกิจดิจิทัลของไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศษฐกิจของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาบริการดิจิทัล กระตุ้นการบริโภคบริการดิจิทัลภายในประเทศทดแทนบริการดิจิทัลจากต่างประเทศมาใช้โดยมีมาตรฐานเทียบเคียงที่เชื่อถือได้ ประกอบกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐเห็นชอบด้วยแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดเพิ่มเติมให้พัสดุส่งเสริมดิจิทัลตามบัญชีบริการดิจิทัลเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลของประเทศไทยของ สศด. เป็นพัสดุประเภทที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้างพัสดุประเภทดังกล่าว ดังนี้

ประเด็น

รายละเอียด

1. เพิ่มเติมหมวด 9 (เพิ่มใหม่ทั้งหมวด เดิมมีถึงหมวด 8)
2. กำหนดคำนิยาม “พัสดุส่งเสริมดิจิทัล”
 
 
 
 
 
 
 
 

หมวด 9
พัสดุส่งเสริมดิจิทัล1

  • ข้อ 32 “พัสดุส่งเสริมดิจิทัล” หมายความว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ บริการด้านดิจิทัล เนื้อหาดิจิทัล (ดิจิทัลคอนเทนต์) รวมถึงโปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่ใช้สั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงาน หรือตัวกลางที่นำพาผู้ใช้ให้เข้าไปถึงระบบต่าง ๆ ที่หลากหลายของอุปกรณ์ทำงานร่วมกัน และการให้บริการซอฟต์แวร์แบบ Cloud Computing โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ SaaS และฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ที่มีระบบฝังตัว หรือสมองกลฝังตัว2 (Embedded System) ที่มีระบบประมวลผลที่ใช้ชิป หรือไมโครโพรเซสเซอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะที่พัฒนาหรือผลิตโดยผู้ประกอบการดิจิทัลที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่ สศด. กำหนด

3. กำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน
4. กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง

  • ข้อ 33 ให้พัสดุส่งเสริมดิจิทัลตามบัญชีบริการดิจิทัลเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลของประเทศไทยของ สศด. เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน

  • ข้อ 34 วิธีการจัดจ้างพัสดุส่งเสริมดิจิทัลให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) หากพัสดุที่จะจัดจ้างมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ให้หน่วยงานของรัฐจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากผู้ให้บริการโดยตรง
(2) หากพัสดุที่จะจัดจ้างมีผู้ให้บริหารตั้งแต่สองรายขึ้นไป ให้หน่วยงานของรัฐจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก
หากหน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะจัดจ้างโดยวิธีตาม (1) และ (2) จะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก็ได้

 
_____________
พัสดุส่งเสริมดิจิทัลตามคำนิยามของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เช่น ระบบการบริหารจัดการบัญชี โดรนตรวจจับความร้อนกล้อง CCTV ที่มีระบบตรวจจับใบหน้า และระบบ Smart Parking (แจ้งสถานะและจองที่จอดรถยนต์ โดยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ใช้จะตรวจจับสถานะว่ามีรถจอดอยู่ในช่องจอดรถแต่ละช่องหรือไม่)
ระบบฝังตัว หรือสมองกลฝังตัว คือ ระบบที่มีการประมวล โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เหมือนมีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กฝังไว้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น เครื่องคิดเลข รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสามารถหรือเพิ่มความฉลาดให้กับอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ
 
3. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมติหลักการร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                   1. โดยที่กฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (5) ได้กำหนดชนิดของเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้นประกอบด้วย 1) หมวกทรงอ่อนไม่มีกะบัง (หมวกเบเร่ต์) สีน้ำเงินดำ หรือหมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสำน้ำเงินดำ 2) เสื้อคอพับติดกับกางเกงสีน้ำเงินดำ 3) เข็มขัดผ้าสีน้ำเงินดำ 4) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อหนังหรือวัตถุเทียมหนังสีดำ และ 5) ถุงเท้าสีดำ และข้อ 4 แห่งระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการแต่งเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร พ.ศ. 2564 กำหนดให้ส่วนของเครื่องแบบ อินทรธนู และเครื่องหมาย ให้มีรูปแบบและลักษณะตามท้ายระเบียบนี้
                   2. เนื่องจาก กค. โดยกรมศุลกากร มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรจากการนำสินค้าเข้าและการส่งสินค้าออก อำนวยความสะดวกทางการค้า โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน การควบคุมทางศุลกากรเพื่อปกป้องสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางศุลกากรจากการลักลอบนำเข้าสินค้าหรือลักลอบส่งออกสินค้าโดยการเลี่ยงภาษีศุลกากรเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ซึ่งเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับภารกิจและขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานด้านการนำของเข้า และการส่งของออกทางทะเล ทางบก ทางอากาศ และทางไปรษณย์
                   3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานของข้าราชการกรมศุลกากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการตรวจค้น ปราบปราม ตรวจการณ์ ในภารกิจตามข้อ 2 ดังกล่าวเกิดความคล่องตัว และมีเครื่องแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร พ.ศ. 2564
                   4. กค. โดยกรมศุลกากรจึงได้ยกร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของส่วนราชการ ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 29 มีนาคม 2566 ได้พิจารณาร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ดังกล่าวแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ กค. (กรมศุลกากร) กำหนดเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้นข้าราชการกรมศุลกากรหญิงและแก้ไขเพิ่มเติมเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้นข้าราชการกรมศุลกากรชายและปรับปรุงร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ
                   สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี
                   แก้ไขเพิ่มเติมกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร        พ.ศ. 2564 โดยแก้ไขปรับปรุงเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้นในส่วนของเครื่องแบบ ดังนี้
                   1. ปรับปรุงเสื้อเป็นเสื้อคอแบะแบบฝึกปล่อยเอวสีน้ำเงินดำ (เดิมเป็นเสื้อคอพับติดกับกางเกงสีน้ำเงินดำ)
                   2. เพิ่มเติมให้มีกางเกงขายาวแบบฝึกสีน้ำเงินดำ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น
                   3. ปรับปรุงเข็มขัดเป็นเข็มขัดด้ายถักสีน้ำเงินดำ (เดิม เข็มขัดผ้าสีน้ำเงินดำ)
                   4. เพิ่มเติมให้ข้าราชการหญิงมีชุดเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้น (เดิมผู้หญิงไม่มีชุดเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้น)
                   5. รูปแบบเครื่องหมายของเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้น
                             5.1 เพิ่มเติมเครื่องหมายตำแหน่งบนปกเสื้อคอแบะแบบฝึกปล่อยเอวสีน้ำเงินดำสำหรับเครื่องแบบตรวจค้น ด้านขวาให้ปักด้วยไหมสีเหลืองทองหรือวัตถุเทียมไหมสีเหลืองทองบนผ้าเสิร์จสีดำหรือผ้าแบบเดียวกับเสื้อ กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 4.5 เซนติเมตร (เฉพาะเครื่องหมาย กว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร)
                             5.2 เพิ่มเติมเครื่องหมายรูปอาร์ม โดยให้ติดเครื่องหมายรูปอาร์มที่ต้นแขนเสื้อข้างขวา และห่างจากตะเข็บไหล่ 1 เซนติเมตร เครื่องหมายรูปอาร์มมีลักษณะเป็นรูปวงรีทำด้วยผ้าหรือสักหลาดสีดำ มีขอบปักด้วยไหมสีเหลืองทองหรือวัตถุเทียมไหมสีเหลืองทองขนาดส่วนกว้างที่สุด 8 เซนติเมตร ส่วนสูงที่สุด 11 เซนติเมตร         ปักอักษรสีเหลืองทองคำว่า “กรมศุลกากร” อยู่ส่วนบนขนานไปตามแนวขอบโค้ง ตรงกลางเป็นรูปเครื่องหมายราชการกรมศุลกากรปักด้วยไหมสีเหลืองทองหรือวัตถุเทียมไหมสีทอง ใต้รูปเครื่องหมายราชการกรมศุลกากรปักอักษรโรมันสีเหลืองทองว่า “CUSTOMS DEPARTMENT” ขนานไปตามแนวของเครื่องหมายรูปอาร์มด้านล่าง
                   6. ป้ายชื่อของเครื่องแบบปฏิบัติงานตรวจค้น ให้ใช้แผ่นเสิร์จสีดำ ขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 12 เซนติเมตร ปักชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุล ด้วยไหมหรือด้ายสีขาว ขอบปักด้วยไหมหรือด้ายสีเดียวกัน โดยประดับที่อกเสื้อเหนือกระเป๋าบนขวา เหนือคำว่า “CUSTOMS”
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. .... ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ สคก. เสนอว่า
                   1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครอง1 ไม่ได้
                             (1) เป็นคู่กรณีเอง
                             (2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
                             (3) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
                             (4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
                             (5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
                             (6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                   2. โดยที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 22 วรรคสอง กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดำเนินการออกกฎกระทรวงไว้ว่า กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับและบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีนั้น
                   3. สำหรับการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น ในการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้มีมติในส่วนของการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 13 (6) ที่กำหนดเหตุต้องห้ามกรณีอื่นมิให้เจ้าหน้าที่ทำการพิจารณาทางปกครองว่าการออกกฎกระทรวงตามมาตรานี้มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยให้รัฐสามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อรองรับข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ในอนาคตได้ จึงเป็นกรณีที่ต้องตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการออกกฎกระทรวงภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต่อไป ซึ่งมาตรา 22 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 99 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดำเนินการออกกฎกระทรวงให้ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ โดยในวาระเริ่มแรก สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ผลใช้บังคับ การนับระยะเวลาสองปีตามมาตรา 22 วรรคสอง ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 การนับระยะเวลาที่ต้องดำเนินการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 13 (6) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงต้องนับระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 กรณีจึงต้องมีการออกกฎกระทรวงดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
                   4. คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาตามมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเห็นสมควรกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ตามมาตรา 13 (6) เพิ่มเติมขึ้นอีก 8 กรณี จากที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 (1) ถึง (5) เพื่อให้การพิจารณามีความเป็นกลางมากยิ่งขึ้น ดังนี้
                             (1) เคยเป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
                             (2) เป็นหรือเคยเป็นผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับคู่กรณี
                             (3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ซึ่งอยู่กินกับคู่กรณีที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันโดยกำเนิด ในลักษณะเดียวกันกับชายหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา
                             (4) เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานในความเป็นจริงไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องในความเป็นจริงนับได้เพียงภายในสามชั้นของคู่กรณี
                             (5) เป็นหรือเคยเป็นบุตรบุญธรรมของคู่กรณี หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้รับคู่กรณีเป็นบุตรบุญธรรม
                             (6) เป็นลุง ป้า น้า อา ของคู่กรณี
                             (7) เป็นผู้พักอาศัยอยู่ร่วมกับคู่กรณีในสถานที่เดียวกันในลักษณะครัวเรือนเดียวกัน
                             (8) เป็นลูกจ้างหรือที่ปรึกษาซึ่งได้รับค่าตอบแทนของคู่กรณี
และได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. .... และเห็นควรเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้ดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ เพิ่มเติมขึ้นอีก 8 กรณี จากที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 (1) ถึง (5) โดยเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์กับคู่กรณีในทางใดทางหนึ่งซึ่งอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองขาดความเป็นกลางได้

เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ตามมาตรา 13 (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (รวม 5 กรณี)

เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ตามร่างกฎกระทรวงออกตามมาตรา 13 (6) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (รวม 8 กรณี)

(1) เป็นคู่กรณีเอง
(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(3) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 
 
 
 
 
 
 
 
 
(1) เคยเป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(2) เป็นหรือเคยเป็นผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับคู่กรณี
(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ซึ่งอยู่กินกับคู่กรณีที่เป็น
บุคคลเพศเดียวกันโดยกำเนิด ในลักษณะเดียวกันกับชายหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา
(4) เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานในความเป็นจริงไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องในความเป็นจริงนับได้เพียงภายในสามชั้นของคู่กรณี
(5) เป็นหรือเคยเป็นบุตรบุญธรรมของคู่กรณี หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้รับคู่กรณีเป็นบุตรบุญธรรม
(6) เป็นลุง ป้า น้า อา ของคู่กรณี
(7) เป็นผู้พักอาศัยอยู่ร่วมกับคู่กรณีในสถานที่เดียวกันในลักษณะครัวเรือนเดียวกัน
(8) เป็นลูกจ้างหรือที่ปรึกษาซึ่งได้รับค่าตอบแทนของคู่กรณี

 
_________________
1 “การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง
 
 

เศรษฐกิจ-สังคม

5. เรื่อง เสนอจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)  และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบจังหวัดเจ้าภาพสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568  (ค.ศ. 2025)  และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ  ดังนี้ 
                   1. จังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และสงขลา
                   2. จังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2569 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กก. รายงานว่า
                   1. การคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)
                             1.1 คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) มีหนังสือเชิญชวนจังหวัดที่มีความสนใจและประสงค์จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 11-28 ตุลาคม 2565 และมีจังหวัดที่สนใจเสนอตัวแบบจังหวัดเดียวและแบบกลุ่มจังหวัด (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) จำนวน 14 จังหวัด ดังนี้
                                      1.1.1    รูปแบบการเสนอตัว แบบจังหวัดเดียว ประกอบด้วย
                                                (1) จังหวัดเชียงใหม่
                                                (2) จังหวัดนครราชสีมา
                                                (2) จังหวัดกาญจนบุรี
                                      1.1.2 รูปแบบการเสนอตัว แบบจังหวัดเดียว (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด) 
                                                กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และสงขลา
                                      1.1.3 รูปแบบการเสนอตัว แบบกลุ่มจังหวัด (จัดบางชนิดกีฬาตามความพร้อมของจังหวัด)
                                                (1) จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและยโสธร
                                                (2) จังหวัดตรัง กระบี่ ภูเก็ต และพังงา
                             1.2 คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ ได้ให้จังหวัดที่มีความสนใจและประสงค์จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมานำเสนอข้อมูลและความพร้อมด้านต่าง ๆ และให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการเดินทางสำรวจสนามแข่งขันและฝึกซ้อม
                             1.3 คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ พิจารณาจังหวัดที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิดมุ่งส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน รวมทั้งชุมชนต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดที่มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์กลางการกีฬา การท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรม และบริการในระดับมาตรฐานนานาชาติ โดยจังหวัดพร้อมที่จะสนับสนุนและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในการเป็นเจ้าภาพที่ดี เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ จังหวัดยังมีความพร้อมด้านการบริหารจัดการ ซึ่งมีแผนพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวของภาคส่วนบริการที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่การคมนาคมขนส่ง การควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม ควบคู่กับการบริหารจัดการทางสาธารณสุขตามแนวทางวิถีใหม่ ทั้งนี้ จังหวัดให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเน้นการบูรณาการจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้การจัดงานดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                                                1.3.1 ปัจจัยหลัก ด้านสนามแข่งขันและฝึกซ้อม
                                                1.3.2 ปัจจัยสนับสนุน เช่น ด้านที่พักและอาหาร  ด้านสถานพยาบาล ด้านคมนาคม ด้านสถานศึกษา ด้านการตลาดและสิทธิประโยชน์ ด้านบุคลากร อาสาสมัคร ด้านสาธารณูปโภค ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านงบประมาณ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และด้านอื่น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
                                      1.4 คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ ในคราวประชุม  ครั้งที่ 1/2566  เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 มีมติ ดังนี้
                                                1.4.1 เห็นชอบจังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และสงขลา เป็นจังหวัดหลักในการจัดการแข่งขัน
                                                1.4.2 เห็นชอบจังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2569 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา
                                      1.5 คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 มีมติเห็นชอบจังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจังหวัดเจ้าภาพฯ (ตามข้อ 1.4) และให้ กกท. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
                             2. เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรและระเบียบสหพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asian Games Federation: SEAGF) และระเบียบสหพันธ์กีฬาคนพิการอาเซียน (Asean Para Sports Federation: APSF) จะมีการดำเนินการ ดังนี้
                                       2.1 จังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568  (ค.ค. 2025) และจังหวัดเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) จะต้องลงนามการเป็นเมืองเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน (Host City)  ร่วมกับสหพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAGF) และสหพันธ์กีฬาคนพิการอาเซียน (APSF)
                                       2.2 ในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ปี 2566 ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะส่งมอบธงสหพันธ์ให้กับประธานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์และประธานสหพันธ์กีฬาคนพิการอาเซียน โดยประธานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์จะส่งมอบธงสหพันธ์ให้กับประธานคณะกรรมการโอลิมปิก (National Olympic Committee : NOC) ของประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งถัดไป และประธานสหพันธ์กีฬาคนพิการอาเซียนจะส่งมอบธงดังกล่าวให้กับประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกของประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ครั้งถัดไป โดยการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ปี 2566 มีกำหนดการ ดังนี้
                                                2.2.1    การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32
                                                          ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566  ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
                                                2.2.2    การแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12
                                                          ระหว่างวันที่ 1-10 มิถุนายน 2566 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
 
 
6. เรื่อง การพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (มักกะสัน)
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (มักกะสัน) (การพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำฯ) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอดังนี้
          สาระสำคัญของเรื่อง
          กพอ. รายงานว่า
          1. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ซึ่งกำหนดให้ รฟท. ต้องส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน (พื้นที่ TOD มักกะสัน) ประมาณ 140 ไร่ ซึ่งภายในพื้นที่ดังกล่าวมีบึงขุดของ รฟท. เพื่อใช้ระบายน้ำที่มีปริมาตรความจุน้ำ 17,250 ลูกบาศก์เมตร (บึงเสือดำ) จึงเป็นบึงที่เข้าข่ายลักษณะตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2532 ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ให้หน่วยงานนั้น ๆ พิจารณาสร้างระบบกักเก็บน้ำที่มีปริมาตรการกักเก็บไม่น้อยกว่าเดิมมาทดแทน
          2. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 รฟท. สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (สนน.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่ TOD มักกะสัน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในหลักการให้ปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร (โรงพยาบาลฯ) จากเดิม 12,800 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มอีก 17,250 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 30,050 ลูกบาศก์เมตร โดยดำเนินการขุดเพิ่มความลึกของบึงให้สามารถรองรับความจุน้ำที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนพื้นที่กักเก็บน้ำของบึงเสือดำและพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ของ รฟท. ทั้งนี้ ในการปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อขยายความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ โดยไม่กระทบต่องบประมาณและเงินร่วมลงทุนของรัฐ ซึ่งเอกชนคู่สัญญาเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าวแล้ว
          3. สนน.ไม่ขัดข้องในหลักการการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำ โดยใช้การเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำของบึงของโรงพยาบาลฯ และระบบระบายน้ำเพิ่มเติมการขุดลอกคลอง และการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำใหม่เชื่อมบึงมักกะสัน ขนาด 3.50 X 4.00 เมตร ความยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งทำให้มีปริมาตรกักเก็บน้ำและระบบระบายน้ำไม่น้อยกว่าเดิม
          4. กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบและให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำทดแทนบึงเสือดำฯ ต่อไป
 
7. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 และครั้งที่ 6/2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง (กค.) กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 และในคราวประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ ดังนี้
                   1. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566
                             1.1 อนุมัติให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ 58 โครงการ กรอบวงเงิน 219.3050 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว
                             1.2 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เร่งดำเนินการประสานจังหวัดในการตรวจสอบการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยกรณีที่จังหวัดไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีให้จังหวัดเร่งดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ และ/หรือเสนอขอยกเลิกการดำเนินโครงการตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564)
                             1.3 มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1.1 เร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform : eMENSCR) (ระบบ eMENSCR) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รายงานผลสัมฤทธิ์และคืนเงินกู้เหลือจ่าย (ถ้ามี) ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
                   2. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใตพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2566
                             2.1 อนุมัติให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและทดสอบวัคซีน และเกสัชภัณฑ์ในสิงมาร์โมเส็ท (โครงการทดสอบวัคซีนในลิงมาร์โมเส็ท) และโครงการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficacy) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะที่ 2a (โครงการศึกษาวัคซีนโควิด-19 จากพืช ระยะ 2a) โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสอง เป็นสิ้นสุดภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานความก้าวหน้าของโครงการและแผนการดำเนินงานที่ได้มีการปรับแผนพร้อมการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินโครงการข้างต้นจะสามารถแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด และในส่วนของโครงการศึกษาวัคซีนโควิด-19 จากพืช ระยะ 2a นั้น เห็นควรให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาจัดทำแผนการดำเนินงาน/แผนบริหารความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย บรรลุผลผลิต/ผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
                             2.2 อนุมัติให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ 41 โครงการ กรอบวงเงิน 203.2476 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ มอบหมายให้ มท. เร่งดำเนินการประสานจังหวัดในการตรวจสอบการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยกรณีที่จังหวัดไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีให้เร่งรัดจังหวัดดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการและ/หรือเสนอขอยกเลิกการดำเนินโครงการตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต่อไป
                             2.3 มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการตามข้อ 2.1 และ 2.2 เร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบ eMENSCR ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566
                   คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 มีมติเกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการและการยกเลิกโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ของ มท. จำนวน 20 จังหวัด (จังหวัดลำปาง จังหวัดตราด จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดตรัง จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดอุดรธานี จังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา) รวม 58 โครงการ มีรายละเอียด ดังนี้
                             1.1 ยกเลิกการดำเนินโครงการของ 6 จังหวัด (จังหวัดลำปาง จังหวัดตราด จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดตาก และจังหวัดนครนายก) รวม 25 โครงการ กรอบวงเงิน 63.1893 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างและลงนามผูกพันสัญญาได้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี
                             1.2 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2566 ของ 11 จังหวัด (จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดตรัง จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดน่าน) รวม 28 โครงการ กรอบวงเงิน 126.8133 ล้านบาท เนื่องจากได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
                             1.3 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการและขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2566 ของ 4 จังหวัด (จังหวัดพิจิตร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา) รวม 5 โครงการ กรอบวงเงิน 29.3024 ล้านบาท เนื่องจากได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
                   2. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2566
                   คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 มีมติเกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอการขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จำนวน 2 โครงการ และข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ของ มท. จำนวน 13 จังหวัด รวม 41 โครงการ (จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดลำพูน จังหวัดระนอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชุมพร จังหวัดยะลา จังหวัดอ่างทอง จังหวัดตาก จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี) มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                             2.1 เห็นควรให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจำนวน 2 โครงการ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ดังนี้

โครงการ

มติคณะรัฐมนตรีเดิม

มติ คกง.

โครงการทดสอบวัคซีนในลิงมาร์โมเส็ท

สิ้นสุด
เดือนเมษายน 2566 (กรอบวงเงิน 139.8406 ล้านบาท)

ขยายระยะเวลาโครงการ
เป็นสิ้นสุดภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2566
- อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบรายการก่อสร้าง
- ประสบปัญหาความล่าช้าของการจัดซื้อและรับมอบลิงมาร์โมเส็ทจากผู้ค้าภายในประเทศที่อยู่ระหว่างเบิกจ่ายเงินสำหรับลิงมาร์โมเส็ท จำนวน 67 ตัว
- การจัดซื้อจากต่างประเทศ จำนวน 75 ตัว ประสบปัญหาด้านการจัดหาสายการบินสำหรับขนส่งเข้ามาในประเทศ
(ปัจจุบันมีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 69.5082 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.71 ของวงเงินอนุมัติ)

โครงการศึกษาวัคซีนโควิด-19 จากพืช ระยะ 2a

สิ้นสุด
เดือนมิถุนายน 2566 (กรอบวงเงิน 211 ล้านบาท)

ขยายระยะเวลาโครงการ
เป็นสิ้นสุดภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2566
- ประสบปัญหาปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยเฉพาะข้อมูลความปลอดภัยของการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 1 ของกลุ่มอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อนำมาอ้างอิงเพิ่มเติมต่อการขออนุมัติดำเนินการทดสอบวัคซีนในระยะที่สูงขึ้น
- การวิจัยและพัฒนาวัคซีนมีความซับซ้อนทางเทคนิคและจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้วัคซีนมีความปลอดภัยสูงสุด
(ปัจจุบันมีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 116.9000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 55.40 ของวงเงินอนุมัติ)

                             2.2 เห็นควรกำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสองโครงการข้างต้นตามที่เสนอโดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับหน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานความก้าวหน้าของโครงการและแผนการดำเนินงานที่ได้มีการปรับแผนพร้อมการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินโครงการทั้งสองโครงการข้างต้นจะสามารถแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด และในส่วนของโครงการศึกษาวัคซีนโควิด-19 จากพืช ระยะ 2a นั้น เห็นควรให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ประสานกับ อย. อย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาจัดทำแผนการดำเนินงาน/แผนบริหารความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย บรรลุผลผลิต/ผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
                   2.3 เห็นชอบให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ 41 โครงการ กรอบวงเงิน 203.2476 ล้านบาท ดังนี้
                             2.3.1 ยกเลิกการดำเนินโครงการของ 5 จังหวัด (จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดลำพูน จังหวัดระนอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) รวม 10 โครงการ กรอบวงเงิน 21.4958 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างและลงนามผูกพันสัญญาได้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี
                             2.3.2 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2566 ของ 11 จังหวัด (จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชุมพร จังหวัดยะลา จังหวัดอ่างทอง จังหวัดตาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดระนอง) รวม 30 โครงการ กรอบวงเงิน 178.7518 ล้านบาท เนื่องจากได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
                             2.3.3 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการของจังหวัดชุมพร จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกห้วยระกำ วงเงิน 3.0000 ล้านบาท โดยปรับลดเนื้องานเดิมบางส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ไปเพิ่มเติมในพื้นที่ดำเนินการใหม่และขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องจากได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
 
8. เรื่อง การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิกเป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 (ระเบียบฯ) จำนวน 79 วัด ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   วธ. รายงานว่า
                   1. ระเบียบฯ ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาจัดตั้งและรับรองวัดคาทอลิกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก (คณะกรรมการฯ) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิกและเสนอรัฐมนตรีพิจารณารับรองวัดคาทอลิกต่อไป โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 สิงหาคม 2565, 8 พฤศจิกายน 2565 และ 21 กุมภาพันธ์ 2566) เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิกไปแล้วรวม 76 วัด
                   2. ต่อมาคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 และครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ได้พิจารณาคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกทั้ง 79 วัดแล้วเห็นว่า วัดคาทอลิกดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อที่ 16 แห่งระเบียบดังกล่าว ประกอบด้วย (1) ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (2) มีข้อมูลที่ตั้งวัด (3) มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน (4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ (5) มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารวัด/มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนพิธีและการพำนัก/มีสถานที่ สิ่งปลูกสร้าง และอุปกรณ์ ซึ่งจำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจและการพำนักครบถ้วน/วัดได้ดำเนินงานตามภารกิจของมิซซังในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอภิบาลคริสตชนและด้านเผยแผ่ธรรมเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงมีมติให้เสนอคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกรวมจำนวน 79 วัด ต่อคณะรัฐมนตรี1 เพื่อพิจารณาให้การรับรองตามนัยระเบียบดังกล่าว
                   3. รายละเอียดของวัดคาทอลิก จำนวน 79 วัด สรุปได้ ดังนี้
                       3.1 รายละเอียดของจำแนกเป็นรายจังหวัด
หน่วย : แห่ง

จังหวัด

จำนวนวัด

จังหวัด

จำนวนวัด

กรุงเทพมหานคร

4

ชลบุรี

5

สุพรรณบุรี

1

ระยอง

1

ลพบุรี

2

ปราจีนบุรี

1

เพชรบูรณ์

5

พิจิตร

1

ตาก

6

พิษณุโลก

1

ลำปาง

2

กำแพงเพชร

1

ลำพูน

1

สุโขทัย

1

เชียงใหม่

4

อุตรดิตถ์

1

อุดรธานี

7

สกลนคร

7

หนองบัวลำภู

1

นครพนม

5

หนองคาย

5

ขอนแก่น

6

บึงกาฬ

7

เลย

3

พระนครศรีอยุธยา

1

 

                       3.2 ประโยชน์ของวัดคาทอลิกที่มีต่อชุมชน/ท้องถิ่น
                             3.2.1 เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อความสงบและการพัฒนาจิตใจ
                             3.2.2 เป็นสถานที่พบปะพูดคุยของคนในชุมชนเมื่อมาประกอบศาสนกิจ ส่งผลให้เกิดความสามัคคีในชุมชน
                             3.2.3 ใช้สถานที่ของวัดเป็นที่ออกกำลังกาย
                             3.2.4 เป็นแหล่งศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีของคาทอลิกแก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป
                             3.2.5 เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมคำสอนคริสต์ศาสนาและฝึกอบรมพัฒนาการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับประชาชนชาวไทย
_____________________
1 วธ. แจ้งเป็นการภายในว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับรองวัดคาทอลิกเป็นวัดตามกฎหมายในครั้งนี้แล้ว จะคงเหลือวัดอีกประมาณ 233 วัด ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องให้การรับรองภายใน 2 ปี ภายหลังจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2566)
 
9. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ประเด็นการสร้างและใช้ Big Data ภาคเกษตร ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ประเด็นการสร้างและใช้ Big Data ภาคเกษตร ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                   เรื่องเดิม
                   1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ประเด็นการสร้างและใช้ Big Data ภาคเกษตร ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะและแนวทางดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 9 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ด้านข้อมูล 2) ด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูล 3) ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล 4) ด้านความเป็นเอกภาพของข้อมูล 5) ด้านงบประมาณและแผนดำเนินงาน 6) ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชน 7) ด้านกฎหมายระเบียบ และนโยบาย 8) ด้านบุคลาการ และ 9) ด้านโครงสร้างและอัตรากำลัง โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน (ดำเนินงานในปี 2566 - 2567) และระยะถัดไป (ดำเนินงานในปี 2568 - 2570)
                   2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวและสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                   ข้อเท็จจริง
                   กษ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ

ผลการดำเนินงาน

1. ด้านข้อมูล พบว่า แต่ละหน่วยงานไม่มีมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูล โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และแนวทางของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น ควรให้ทุกหน่วยงานใช้หลักเกณฑ์การจัดทำมาตรฐานข้อมูลภาครัฐของ สสช. ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

· หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการบริหารจัดการข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐและจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ ของ สพร. และขับเคลื่อน โดย สสช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกัน สะดวกต่อการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้ง สสช. ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้พัฒนาและเผยแพร่โปรแกรม CKAN Open-D เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อันจะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้อย่างสะดวก

2. ด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูล ควรสนับสนุนการพัฒนา Application สำหรับการให้บริการทางการเกษตร ที่สามารถใช้ได้ง่าย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ โดยควรดำเนินการเป็น “กรณีเฉพาะเจาะจงในรายสินค้า/รายปัญหา” เพื่อเป็นการนำร่องในการพัฒนาและก่อให้เกิดความเข้าใจในการสร้าง Big Data ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง

· หน่วยงานได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงาน ระบบบัญชีข้อมูลของหน่วยงาน เป็นต้น นอกจากนี้ มีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการนำข้อมูลให้บริการประชาชนในรูปแบบ Application เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานของเกษตรกร

3. ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสามารถรองรับการเชื่อมโยงแบบ GDX และ API โดยอาจสนับสนุนให้หน่วยงานใช้ระบบกลางในการให้บริการ Cloud Service

· ดศ. มีบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) เป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัย ส่งเสริมการทำงานภาครัฐในลักษณะแพลตฟอร์ม

4. ด้านความเป็นเอกภาพของข้อมูล ควรกำหนดหน่วยงานหลักในระดับกระทรวงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลข้อมูล และประสานงานภายใน กษ. ทั้งระดับกรมและระดับพื้นที่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ ที่สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

· กษ. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร และคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและเป็นเอกภาพและในระยะต่อไป กษ. จะกำหนดมาตรฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลที่หน่วยงานจัดทำสามารถใช้วิเคราะห์ร่วมกันได้ และสามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลของต่างประเทศ
· การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า กษ. ควรทบทวนบทบาทและภารกิจของศูนย์ข้อมูลฯ ให้มีความชัดเจนและเหมาะสม

5. ด้านงบประมาณและแผนดำเนินงาน ควรสนับสนุนให้มี Roadmap ด้าน Big Data ภาคเกษตรของ กษ. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการสร้างและใช้ Big Data ที่ชัดเจน และควรกำหนดระยะเวลาและงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการสร้างและใช้ Big Data ภาคเกษตร ให้สอดคล้องและมีความต่อเนื่อง

· ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ โดย สศก. ได้จัดทำ Roadmap ด้าน Big Data ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2570 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
    - ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2567) เป็นการดำเนินการด้านข้อมูล คุณภาพข้อมูล และทักษะด้านข้อมูล (Data Quality and Literacy)
    - ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569) เป็นการดำเนินการจัดทำ Data Service Platform
    - ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2570) เป็นการให้บริการข้อมูลที่ตอบสนองความต้องการระดับปัจเจก (Customer & Citizen Centric)
รวมถึงได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2570) ประกอบด้วยโครงการสำคัญเพื่อเป็นฐานในการจัดทำคำของบประมาณ

6. ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยผลักดันการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อนำข้อมูล Open Data ไปพัฒนาต่อยอด โดยภาครัฐเป็น “ผู้ควบคุมและผู้อำนวยความสะดวก” ด้านข้อมูลให้มีความถูกต้องและส่งต่อให้เอกชนเข้ามา “มีบทบาทร่วม” ในการนำข้อมูลไปลงทุนพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ”

· หลายหน่วยงานได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ รวมถึงการพัฒนางานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์จากข้อมูล เกิดเป็นนวัตกรรม หรือบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร

7. ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบาย ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายระดับ ซึ่งมีข้อขัดแย้งกันส่งผลให้หน่วยงานไม่กล้าตัดสินใจในบางกรณี ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข้อติดขัดในการเชื่อมโยงข้อมูล ควรให้กระทรวงและกรมพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนา Big Data สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

· หน่วยงานได้ปปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูลได้มีการจำแนกข้อมูลตามชั้นความลับ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความมั่นคงและข้อมูลความลับ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ดศ. มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ

8. ด้านบุคลากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีจำนวนอัตราของตำแหน่งที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน Big Data เช่น ตำแหน่ง Data Scientist ตำแหน่ง Data Engineer และตำแหน่ง Data Analyst เป็นต้น

· สำนักงาน ก.พ. มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานพิจารณาใช้บุคลากรที่เป็นการจ้างงานในรูปแบบอื่น เช่น การจ้างเหมาบริการ หรือการจ้างงานในโครงการที่มีลักษณะเป็นการชั่วคราว เป็นต้น และเห็นควรให้มีการจัดสรรทุนฝึกอบรมแก่บุคลากร เพื่อยกระดับทักษะด้าน Data Analytics

9. ด้านโครงสร้างและอัตรากำลัง ปัจจุบันหน่วยงานส่วนใหญ่ยังขาดบุคลากรที่มีทักษะการทำงานด้าน Big Data และการรับบุคคลภายนอกที่มีทักษะเข้าทำงานยังเป็นอุปสรรคอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ ส่งผลให้ขาดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติงาน จึงควรสนับสนุนการวางแผนอัตรากำลังคนให้สอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กรและบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้มีการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ด้าน Big Data ภาคเกษตรให้ชัดเจน

· เห็นชอบกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ

 
10. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
 สาระสำคัญ
                   ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ รถยนต์ การกลั่นน้ำมัน จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า
                   อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                    1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 35.35 ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
                   2. เฟอร์นิเจอร์ หดตัวร้อยละ 56.55  จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะเป็นหลัก โดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของผู้ผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยางพารารายใหญ่ที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นการปรับลดลงเข้าสู่สภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งในช่วงดังกล่าวจีนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ส่วนเครื่องเรือนทำด้วยโลหะการผลิตกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากปีก่อนได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ
                   3. เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 14.47 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์ความต้องการยังไม่กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน และระดับราคายังชะลอตัวตามความต้องการในตลาดประกอบกับผู้ผลิตชะลอการผลิตลดลงเพื่อดูทิศทางตลาด รวมถึงยังคงมีการปิดซ่อมบำรุงในโรงงานบางโรงอยู่
                   อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                   1. น้ำตาล ขยายตัวร้อยละ 23.46 จากสินค้าสำคัญคือ น้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานปี 65/66 มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา
                   2. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 6.64 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนของเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ทำให้สามารถทำการผลิตได้เพิ่มขึ้น
 
11. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเสนอ ผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 (6) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจติดตาม ประเมินผล และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ1 ให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการฯ [โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธาน] ได้ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. สรุปผลการดำเนินงานฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ 13 ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายจำนวน 28 ค่าเป้าหมาย ซึ่งมีผลการดำเนินงานผ่านค่าเป้าหมายทั้งสิ้น 8 ค่าเป้าหมาย คิดเป็นร้อยละ 29 ของค่าเป้าหมายทั้งหมด ประกอบด้วย

ตัวชี้วัด

ผลการดำเนินงาน เช่น

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน  เป็นการมุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและทันการณ์ มีการพัฒนาระบบบริหารการจัดหาวัคซีนเพื่อให้มีวัคซีนสำรองที่เพียงพอและลดปัญหาการขาดแคลนวัคซีนที่จำเป็น

1. อัตราครอบคลุมของการได้รับวัคซีนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

สามารถให้บริการวัคซีนพื้นฐานกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย  (เด็กแรกเกิด-12 ปี) ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จำนวน 3 ชนิด (จาก 19 ชนิด)2 ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เนื่องจากปัญหาความครบถ้วนของการรายงานผลการให้บริการที่สถานบริการแต่ละแห่งตามระบบการส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง รวมทั้งการรับบริการวัคซีนในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานไทย แรงงานต่างชาติ และพื้นที่ชายแดน

2. จำนวนชนิดวัคซีนมีเพียงพอใช้ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ จำนวน 800,000 โดส และคาดว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้บริการวัคซีนดังกล่าวแก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
- ดำเนินการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเสริมในพื้นที่เสี่ยงให้แก่เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและเด็กต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) และพื้นที่อำเภอชายแดนไทย-เมียนมา (จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี) รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโรคหัดเยอมัน3ให้แก่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-40 ปี กลุ่มผู้ต้องขังรายใหม่และเจ้าหน้าที่เรือนจำทั่วประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาครัฐและกลุ่มทหารเกณฑ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน

3. บรรจุวัคซีนชนิดใหม่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ไม่สามารถดำเนินการบรรจุวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดอีก 1 โดส ไว้ในแผนงานสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนประกอบกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่สามารถใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดแล้วตามด้วยวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานได้ตามเดิม

4. ความสำเร็จในการจัดซื้อวัคซีนในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

- มีการผลักดันให้มีการจัดซื้อวัคซีนแบบหลายปี (2 ปี) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2564 จากการประเมินประสิทธิภาพการบริหารปริมาณวัคซีนคงคลัง 18 เดือน (ปริมาณวัคซีนที่ใช้ใน 12 เดือน รวมกับปริมาณวัคซีนสำรอง 6 เดือน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการใช้วัคซีนในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนสำรองจาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- การสำรองวัคซีนกรณีเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในคลังผู้ผลิตยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก ทำให้ไทยต้องจัดหาวัคซีนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรค โดยขยายกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 120 ล้านโดส (จากเดิม 103.5 ล้านโดส) เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอ

5. ข้อมูลชนิดและปริมาณความต้องการรายวัคซีนที่จำเป็นในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและวัคซีนที่ใช้ตอบโต้การระบาด

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน เพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนา การผลิต และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สวช. ได้วางแผนพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ช่วยในการแก้ปัญหาให้ข้อมูลมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสอบสวนอาการภายหลังได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้บูรณาการระบบดังกล่าวเข้ากับระบบงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงทำให้ไม่มีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒณา และการผลิตวัคซีนรองรับความต้องการในการป้องกันโรคของประเทศเป็นการสร้างศักยภาพการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป้าหมายและวัคซีนเพื่อตอบโต้การระบาด เพื่อให้สามารถต่อยอดสู่การผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตวัคซีน

1. วัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา

ดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกา4 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดสอบความเป็นพิษของวัคซีนในหนู พบว่า หนูที่ได้รับซิกาวัคซีนที่มีความเข้มข้นต่างกันจำนวน 3 ครั้ง มีความปลอดภัยดีและหนูทุกตัวมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซิกา

2. วัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศและได้รับการขึ้นทะเบียน

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำได้รับการขึ้นทะเบียน แต่การนำไปใช้ในกลุ่มอายุ 18-64 ปี ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากผลการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิผลและการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายหลังจากได้รับวัคซีน 360 วัน ยังไม่ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวัคซีนสำหรับโควิด-19 ก่อนเป็นอันดับแรก และวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้รับการขึ้นทะเบียนและการเฝ้าระวังความปลอดภัยการใช้วัคซีนหลังจากออกสู่ตลาดยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากข้อมูลด้านความต้องการวัคซีนระดับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อแนวทางการวางแผนดำเนินการ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแนวทางความร่วมมือและความเป็นไปได้ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและส่งออกได้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมวัคซีนของประเทศ โดยการแสวงหาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือระเบียบปฏิบัติที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน

1. มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนในประเทศ

ยังไม่สามารถกำหนดหรือออกมาตรการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและด้านภาษีแก่ผู้ผลิตวัคซีนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม สวช. ได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือกและวิธีการจัดซื้อยาที่เป็นวัคซีนที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน พ.ศ. 2563 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 โดยประกาศผลการคัดเลือกรายชื่อที่เป็นวัคซีนซึ่งผลิตภายในประเทศและผู้ผลิตที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่ง สวช. ได้มีการติดตามผลการจัดซื้อตามประกาศฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และติดตามต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายวัคซีนได้ตามที่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุน
- มาตรการสนับสนุนที่เอื้อต่อการผลิตวัคซีนสัตว์สู่คน โดยวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายในเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับคนยังอยู่ในห้องปฏิบัติการจึงยังไม่มีกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เอื้อต่อการผลิตวัคซีนสัตว์สู่คนให้ได้รับรองมาตรฐานที่ชัดเจน

2. มูลค่ารวมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกวัคซีนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการร่วมลงทุนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 โดย สวช. ได้สนับสนุนโครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A ภายใต้วงเงิน 211 ล้านบาท5

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรด้านวัคซีนของประเทศให้เข้มแข็งและบริหารจัดการทรัพยากรวัคซีนของประเทศให้มีคุณภาพและเพียงพอ เช่น การให้ความสำคัญกับการผลิต การพัฒนา และการรักษาบุคลากรในสาขาที่จำเป็นและขาดแคลนให้เพียงพอ รวมทั้งการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานสากล

1. จำนวนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนมีเพียงพอ

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรมาเป็นการอบรมออนไลน์ ประกอบกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านวัคซีนต้องวางแผนรับมือตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรได้

2. โครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนได้รับการพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล

ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถรักษาระบบมาตรฐานสัตว์ทดลองสากล6 (Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International: AAALAC) และ ISO9001 ในการผลิตสัตว์ทดลอง (หนูเมาส์ จำนวน 80,737 ตัว/ปี หนูตะเภา จำนวน 6,107 ตัว/ปี และกระต่าย 1,134 ตัว/ปี) ที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อบริการให้แก่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้ สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองสู่มาตรฐาน OECD Good Laboratory Practice (OECD GLP)7 และ AAALAC เพื่อทดสอบและตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในสัตว์ทดลองและการเตรียมความพร้อมโรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 หรือการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน

3. เครือข่ายศูนย์ทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์เพื่อการวิจัยด้านวัคซีน

ดำเนินการสร้างความร่วมมือให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพฯ มาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้จัดทำแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาและใช้บริการชีววัสดุของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย8 เพื่อเป็นมาตรฐานการจับเก็บและการให้บริการ อีกทั้งในปี 2563 ได้มีการขยายเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพฯ สู่สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การบริหารจัดการเครือข่ายศูนย์ทรัพยากรชีวภาพฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้สามารถดำเนินการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความจำเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ

ความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

ในปี 2565 เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการร่วมลงทุนในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ โครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A และมีการบูรณาการงบประมาณระหว่าง สวช. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เช่น โครงการศึกษาความปลอดภัยและระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS CoV29 จากวัคซีน mRNA ในเด็กวัยรุ่นไทย และโครงการการศึกษาภูมิคุ้มกันหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในเด็กไทยอายุ 5-11 ปี ที่เคยติดเชื้อโควิด-19

 

 

 

                   2. ปัญหา/อุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานด้านวัคซีน สรุปได้ ดังนี้
                       2.1 ปัจจัยภายนอก

สถานการณ์

ปัญหาและอุปสรรค

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อตอบโต้การระบาด เช่น งานเฝ้าระวังโรค งานสอบสวนโรค การวางแผนการจัดหา จัดสรร และให้บริการวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานประจำหรืองานพื้นฐานต้องล่าช้าออกไป ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลต่อเนื่องถึงปี 2565 มีการเลื่อนหรือยกเลิกการดำเนินงานในบางกิจกรรม เช่น การเลื่อนหรือยกเลิกการนัดหมายให้บริการวัคซีน ทำให้การรายงานผลความครอบคลุมการได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน

- เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง หน่วยงานวิจัยบางแห่งมีการปิดสถานที่ รวมถึงการลดจำนวนผู้เข้าปฏิบัติงานตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19

การให้บริการวัคซีนล่าช้าในบางพื้นที่ เนื่องจากบุคลากรและสถานที่ปฏิบัติการมีจำกัด

โครงการส่วนใหญ่ไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานและบางโครงการได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากหน่วยงานต้องปรับแผนการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ข้อเสนอแนะ : ควรมีแผนรองรับสถานการณ์การระบาดให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้

                   2.2 ปัจจัยภายใน

ด้าน

ปัญหาและอุปสรรค

1. การบริหารจัดการ

วัคซีนเป้าหมายที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเพื่อพิจารณาบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคยังไม่ถูกผลักดันให้บรรจุได้ตามแผนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน

ข้อเสนอแนะ : พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของวัคซีนเป้าหมายที่ควรมุ่งส่งเสริมและสนับสนุน รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านบุคลากร หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

2. งบประมาณ

การได้รับงบประมาณล่าช้า กรณีโครงการที่ได้รับงบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และกระทบกับแผนการดำเนินงาน

ข้อเสนอแนะ ควรมีหน่วยงานกลางในการประสานการยื่นขอรับงบประมาณจากแหล่งงบประมาณต่าง ๆ หรือจัดสรรงบประมาณให้โดยตรง กรณีหน่วยงานได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานอาจพิจารณาปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ หรือขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ควรพิจารณางบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่น เช่น งบเงินหมุนเวียน เงินรายได้ และงบเงินกู้ ทั้งนี้ การบริหารจัดการเงินทุนวิจัยต้องมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส

3. บุคลากร

จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เช่น การขยายวิธีการทดสอบและเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในสัตว์ทดลองและด้านการผลิตวัคซีน รวมถึงการเกษียณอายุราชการโดยไม่มีการสอนงานหรือถ่ายทอดงาน

ข้อเสนอแนะ ส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรม ฝึกงาน และศึกษาจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ และควรวางแผนการสอนงานหรือถ่ายทอดงาน ในกรณีที่จะมีผู้เกษียณอายุราชการ

4. เทคโนโลยี

สถานบริการบางพื้นที่ไม่มีข้อมูลการรับวัคซีนของผู้รับบริการนอกพื้นที่ในระบบ รวมถึงระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีนใช้ระยะเวลาในการสืบค้นข้อมูลนาน

ข้อเสนอแนะ : ควรมีการอัปเดตฐานข้อมูลในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การกำกับติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5. วัสดุอุปกรณ์

เครื่องจักร/เครื่องมือมีอายุการใช้งานยาวนาน มีการชำรุดและซ่อมแซมหลายครั้งและกรงเลี้ยงสัตว์ทดลองมีจำนวนไม่เพียงพอ ต้องนำกรงที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถใช้งานได้ชั่วคราว

ข้อเสนอแนะ ควรบริหารจัดการให้มีวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการดำเนินการ ทั้งการจัดซื้อใหม่ จัดซื้อเพิ่มและจัดซื้อทดแทนของเดิมที่ชำรุด โดยจัดหางบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง

6. การสื่อสาร

เจ้าหน้าที่ขาดทักษะในการสื่อสารเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจและยอมรับการได้รับวัคซีน เช่น ผู้ปกครองมีความกังวลในการฉีดวัคซีนหลายเข็มและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัคซีนไม่ครบถ้วน

ข้อเสนอแนะ : เพิ่มพูนความรู้ใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานและพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผลิตสื่อสำหรับประชาสัมพันธ์เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญต่อการเข้ารับวัคซีน

 
______________________
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 มีนาคม 2563) เห็นชอบร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคชีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ภายใต้กรอบงบประมาณ 11,078.95 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 มีนาคม 2565) เห็นชอบร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้กรอบงบประมาณ 14,326.54 ล้านบาท ตามที่ สธ. เสนอ (ปรับยุทธศาสตร์จาก 5 ยุทธศาสตร์ เป็น 4  ยุทธศาสตร์ โดยยุบรวมยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน)
2วัคซีนพื้นฐาน เช่น วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบปี (HBV) วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Hib) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV)  วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (JE) วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV) วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT) และวัคซีนโรต้า (วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าในเด็กเล็ก)
3โรคหัดกับโรคหัดเยอรมันไม่ใช่โรคเดียวกัน โดยโรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา ซึ่งพบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด  ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก ผ่านการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โดยเกิดได้กับทุกอายุและพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2-14 ปี ส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย ส่วนโรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่ามักพบการระบาดในโรงเรียน สถานที่ทำงาน ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้ออยู่โดยเชื้อนี้อยู่ในร่างกายได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อจะใช้เวลา 14-21 วัน จึงเริ่มเกิดอาการ สำหรับทารกถ้าติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มีโอกาสที่อวัยวะต่าง ๆ จะผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิด
4โรคไข้ซิกาเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสซิกาโดยมียุงลายเป็นพาหะ มีอาการคล้ายไข้เลือดออก ขณะนี้ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อในไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจึงอยู่ในระยะเฝ้าระวัง
5คณะรัฐมนตรีมีมติ (12 เมษายน 2565) อนุมัติและเห็นชอบโครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตชับยูนิตวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A กรอบวงเงิน 211 ล้านบาท ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและลดการระบาดของโควิด-19 ในไทย เป็นทางเลือกในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ รวมถึงไทยมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมยาและวัคซีน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาและเกิดองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใหม่
6 ระบบมาตรฐานสัตว์ทดลองสากลเป็นการรับรองที่นำมาตรฐานด้านการเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกมาพิจารณาร่วมกับกฎหมายและข้อกำหนดของประเทศที่ขอการรับรอง เช่น ไทยมีพระราชบัญญัติการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานวิทยาศาสตร์ และจรรยาบรรณการใช้สัตว์ที่กำหนดโดย สวช. นอกจากนี้ ยังนำเอาข้อกำหนดสากลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมาพิจารณาร่วมด้วย โดยมุ่งเน้นให้มีการดูแลและใช้สัตว์อย่างมีคุณธรรมตลอดเวลาการทดสอบหรือวิจัย
7 OECD GLP ระบบคุณภาพที่ช่วยจัดการห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐาน นิยมใช้ห้องปฏิบัติการที่เน้นทางด้านการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ทดลองในมนุษย์
สวทช. จัดตั้งศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการให้บริการชีววัสดุประเภทต่าง ๆ เช่น จุลินทรีย์ สารพันธุกรรม เซลล์สัตว์ และเนื้อเยื่อพืช เพื่อการวิจัยประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีการเก็บรักษาและศึกษาวิจัยด้านการใช้ประโยชน์ชีววัสดุให้เหมาะสมกับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งระดับภูมิภาค ประเทศ และท้องถิ่น
ไวรัส SARS CoV2 เป็นไวรัสที่มีการอุบัติใหม่และสามารถก่อให้เกิดโควิด-19 ในมนุษย์ได้
 
12. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   ผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่        28 เมษายน 2566)
                   1. การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มีผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือ รวมจำนวนทั้งสิ้น 894,321 ครัวเรือน รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,225,829,000 บาท คงเหลืองบประมาณ 1,032,711,000 บาท มีรายละเอียดดังนี้
                             1.1 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัด 56 จังหวัด มีผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือ รวมจำนวน 579,349 ครัวเรือน จำนวนเงิน 3,649,089,000 บาท
                             1.2 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่ 13 จังหวัด มีผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือ รวมจำนวน 314,972 ครัวเรือน จำนวนเงิน 1,576,740,000 บาท
                   2. ปัญหาอุปสรรค
                             2.1 การตรวจสอบข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือจะต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยที่ขอรับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนด โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรับรองผู้ประสบภัยที่ขอรับความช่วยเหลือให้อำเภอ และจังหวัดยืนยันรับรองข้อมูลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและให้กรมการปกครองตรวจสอบสถานะของผู้ประสบภัย เพื่อให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ทำให้การจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ในบางรายเกิดความล่าช้า
                             2.2 การพิจารณาตรวจสอบและรับรองผู้ประสบภัย จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในพื้นที่โดยรอบคอบ อาทิ กรณีน้ำท่วมขังที่พักอาศัยประจำจะต้องมีขอบเขตการพิจารณาที่ชัดเจน เพื่อให้การช่วยเหลือฯ ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และเป็นธรรม
                             2.3 ในบางกรณีไม่สามารถโอนเงินให้แก่ผู้ประสบภัยได้ อาทิ
                                      (1) ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลสถานะบุคคลของกรมการปกครองด้วยผู้ยื่นคำร้องได้เสียชีวิตก่อนการตรวจสอบสถานะบุคคลของกรมการปกครอง
                                      (2) ไม่สามารถโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ได้ เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องไม่ประสงค์ลงทะเบียนพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชน บัญชีพร้อมเพย์ของผู้ยื่นคำร้องมีสถานะบัญชีไม่เคลื่อนไหว หรือบัญชีพร้อมเพย์ของผู้ยื่นคำร้องถูกปิดบัญชีไปแล้ว
                   การดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่      29 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งคืนงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงาน จำนวนเงิน 1,032,711,000 บาท คืนสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
 
13. เรื่อง มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 เรื่อง การพิจารณาให้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
                   การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ประชุมได้พิจารณาการให้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้
                   (1) กำหนดให้กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชยการนำเข้า
                   (2) กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV  ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 kWh ขึ้นไป ซึ่งกำหนดให้ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้า หากมีกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ์ แม้จะมีเลขซีรีส์ที่แตกต่างกัน ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ
 

ต่างประเทศ

14.  เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers
(AEM) Retreat] ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2566 ณ์ เมืองมาเกอลัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายวันชัย วราวิทย์) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. การประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 29 มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

ประเด็นการประชุม

ผลการประชุม เช่น

(1) ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่อินโดนีเซียในฐานะประรานอาเซียนผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2566

เห็นชอบประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ รวม 16 ประเด็น โดยมีประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ AEM จำนวน 7 ประเด็น เช่น การอำนวยความสะดวกด้านการบริการของอาเซียนโดยมุ่งลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนด้านบริการ การยกระดับความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยมุ่งปรับปรุงความตกลงให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับรูปแบบการค้ายุคใหม่ และการเสริมสร้าง
ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในอาเซียน

(2) มาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการในปี 2566

เห็นชอบมาตรการสำคัญ จำนวน 48 มาตรการ (จากทั้งหมด 111 มาตรการ) และมอบหมายให้องค์กรรายสาขาภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2566 เช่น แผนการดำเนินงานของความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) การศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) การเจรจายกระดับความตกลง FTA อาเซียน-สาธารณรัฐประชาชนจีน และการศึกษาร่วมในการดำเนินความตกลง FTA อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

(3) การเจรจายกระดับความตกลง ATIGA

1) รับทราบการรายงานของคณะกรรมการเจรจายกระดับความตกลง ATIGA ซึ่งได้มีการยกระดับความตกลงฯ ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง โดยกำหนดให้ต้องให้สิทธิทางภาษีที่เท่าเทียมกันแก่สมาชิกอาเซียน รวมถึงประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การค้าและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการค้าไร้กระดาษ
2) ขอให้คณะกรรมการฯ เร่งเจรจาตามแผนงานและรายงานผลสรุปความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 55 ในเดือนสิงหาคม 2566

(4) กรอบความตกลง DEFA

1) รับทราบความคืบหน้าการศึกษากรอบความตกลง DEFA ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัลอาเซียน และเร่งกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2566 ได้กำหนดให้แถลงการณ์ของผู้นำในการจัดทำกรอบความตกลง DEFA เป็นผลลัพธ์สำคัญด้านเศรษฐกิจด้วย
2) เร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำกรอบความตกลง DEFA เพื่อให้มีการรับรองระหว่างการประชุม AEM ในเดือนสิงหาคม 2566 และสามารถเริ่มเจรจาได้ในปี 2566

(5) ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (ASEAN Strategy for Carbon Neutrality)

1) รับทราบเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนฯ ซึ่งจะอยู่บนหลักการ 6 ประการ ดังนี้
          1.1) การจัดลำดับผลกระทบมุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง
          1.2) การเน้นความร่วมมือภายในภูมิภาค โดยคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศสมาชิก
          1.3) การพัฒนาต่อยอดจากโครงการริเริ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ของอาเซียนเพื่อลดความซ้ำช้อนในการดำเนินการ
          1.4) การดำเนินการที่สามารถปฏิบัติได้จริง
          1.5) การครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละประเทศสมาชิก
          1.6) การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
ทั้งนี้ จะเสนอให้ที่ประชุม AEM เห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2566
2) รับทราบผลการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product. GDP) และการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยจะมีการดำเนินการ เช่น การสำรวจจัดทำบัญชีคาร์บอนของภูมิภาค การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กลไกตลาดเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน
3) ขอให้ตั้งหน่วยประสานงานหลักของแต่ละประเทศเพื่อเป็นกลไกช่วยให้การดำเนินการจัดทำเผนยุทธศาสตร์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(6) การดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (Implementation of the AEC
Blueprint 2025)

1) รับทราบการประเมินผลการดำเนินงานตามแผน AEC Blueprint ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเปิดเสรีบริการที่กว้างขึ้น การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคโดยมีความคืบหน้าการดำเนินงานร้อยละ 54
2) เร่งรัดดำเนินการตาม AEC Blueprint 2025 เพื่อช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้ขยายตัวจาก 5.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 เป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

(7) การจัดลำดับความสำคัญในการจัดทำความตกลง FTA ของอาเซียน

1) รับทราบข้อเสนอของสำนักเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับแนวทางการจัดลำดับความสำคัญของการเจรจา FTA ของอาเซียน เช่น ความตกลง ATIGA (จะเสร็จสิ้นในปี 2024) ความตกลง FTA อาเซียน-จีน (จะเสร็จสิ้นในปี 2025) และการทบทวนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในปี 2027
2) เห็นชอบการเร่งเจรจาสรุปความตกลงฯ โดยเฉพาะความตกลง ATIGA ความตกลง FTA อาเซียน-จีน และเร่งรัดให้ความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับกับทุกประเทศโดยเร็ว

(8) ความตกลง RCEP

1) รับทราบสถานะการมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับกับ 14 ประเทศ (เนอการาบรูไนดรุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ซึ่งขณะนี้ยังคงเหลือสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จึงขอให้ฟิลิปปินส์เร่งกระบวนการภายในหลังจากให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 25661
2) สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนเพื่อเป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินการภายใต้ความตกลง RCEP ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยเห็นว่าควรพิจารณาการจ่ายเงินสนับสนุนเท่ากันระหว่างอาเซียนร้อยละ 50 และประเทศคู่เจรจา ร้อยละ 50 ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีแรก ประเทศคู่เจรจาอาจสนับสนุนงบประมาณให้แก่กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ได้แก่ ก้มพูชา ลาว และเมียนมา

(9) การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของสาธารณรัฐประชาธิปไตย
ติมอร์-เลสเต

รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต โดยจะเสนอให้ที่ประชุม AEM พิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนเมษายน 2566 ก่อนที่จะนำไปรวมกับ Roadmap ที่เสร็จสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อให้การรับรองต่อไป

 
                   2. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญ ปี 2566 ภายใต้ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (2) การพัฒนาที่ยั่งยืน (3) การรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุข (4) ความมั่นคงทางอาหาร และ (5) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยเน้นการลดอุปสรรคทางการค้าใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีอยู่ การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบผ่านระบบการพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW2) และการยกระดับมาตรฐานและประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานฝีมือ ทั้งนี้ มีโครงการที่จะดำเนินการในปี 2566 เช่น โครงการ ASEAN QR Code เพื่อสนับสนุนการชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลในอาเซียน โครงการ Digital Lending Platform (P2P3) เพื่อจับคู่นักลงทุนกับผู้ยืม และโครงการ Carbon Center for Excellence เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าคาร์บอน
________________________
ปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว จะมีผลบังคับใช้วันที่ 2 มิถุนายน 2566
ระบบ ASW เป็นระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยการเชื่อมโยงระบบข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ใช้ เช่น ผู้ประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และผู้ให้บริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ประเทศสมาชิกอาเซียน
P2P Lending หรือ Peer-to-Peer Lending หมายถึง ธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
 
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองแถลงการณ์ฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
[สหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ประจำปี 2566 (การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30) กำหนดให้มีการรับรองร่างแถลงการณ์ฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีการลงนาม ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ณ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา]
                   สาระสำคัญ
                   เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำ ปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง (ร่างหลักการทั่วไปที่ไม่มีผลผูกพันเรื่องบริการที่สนับสนุนการจัดเก็บขยะในทะเลของเอเปค) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 พฤษภาคม 2566ณ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือทิศทางของการค้าระหว่างประเทศและให้แนวทางเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการค้าการลงทุนและประเด็นที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบเอเปค ทั้งนี้ ในส่วนของร่างแถลงการณ์ฯ มีสาระสำคัญเพื่อมุ่งเน้นการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 และแผนปฏิบัติการเอาทีอารอที่ให้ผลักดันและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกใน 3 มิติ คือ (1) การค้าและการลงทุน (2) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ (3) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม รวมทั้งสหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี 2566 ได้สานต่อความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยนำเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อไปขับเคลื่อนต่อในวาระมาโนอา (Manoa Agenda) สำหรับความยั่งยืนและความครอบคลุมทางเศรษฐกิจต่อไป และในส่วนของร่างหลักการทั่วไปฯ มีสาระสำคัญ เช่น อำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในการจัดเก็บขยะในทะเล และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนการพัฒนาของตลาดสำหรับการบริการจัดเก็บขยะในทะเล โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเรื่องบริการจัดเก็บขยะในทะเล
                   ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างเอกสารดังกล่าวและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
16. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยการทบทวนครึ่งวาระของกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยง ค.ศ. 2015-2030
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยการทบทวนครึ่งวาระของกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ค.ศ. 2015-2030 ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างปฏิญญาฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) และกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้ นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก หรือผู้แทน ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้รับรองร่างปฏิญญาดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   ร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยมีสาระสำคัญเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นและการเร่งรัดการดำเนินการตามพันธกิจ 4 ประการ (Priorities for Action) ของกรอบเซนได ประกอบด้วย พันธกิจที่ 1 เข้าใจความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พันธกิจที่ 2 เสริมสร้างศักยภาพในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พันธกิจที่ 3 ลงทุนในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อให้พร้อมรับมือและฟื้นคืนกลับได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และพันธกิจที่ 4 พัฒนาศักยภาพในการเตรียมความพร้อมผชิญเหตุภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการฟื้นสภาพและซ่อมสร้างที่ดีกว่าเดิมในช่วงของการบูรณะฟื้นฟูภายหลังเหตุภัยพิบัติ โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดำเนินการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมและการปฏิบัติให้มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติของประเทศ การบูรณาการหลักการลดความเสี่ยงเข้าไว้ในกระบวนการจัดทำนโยบายของภาคส่วนต่าง ๆ การส่งเสริมขีดความสามารถและการมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของท้องถิ่นและชุมชนโดยใช้แนวปฏิบัติตามการสร้างชุมชนและเมืองแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน 10 ประการ (Making Cities Resilient 2030) ของสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) การส่งเสริมแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การจัดทำมาตรการและเครื่องมือทางการเงินเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การลงทุนด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภาคส่วนสาธารณสุขโดยต่อยอดจากหลักการกรุงเทพฯ ว่าด้วยการอนุวัติประเด็นสาธารณสุขภายใต้กรอบเซนได (Bangkok Principles) และการพัฒนาด้านการแจ้งเตือนภัยที่หลากหลายประเภทภัย เป็นต้น โดยคำนึงถึงบริบท ความต้องการและการจัดลำดับความสำคัญของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ
 
17.  เรื่อง การขออนุมัติในหลักการสำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมากรณีพายุไซโคลนโมคา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงการต่างประเทศและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมากรณีพายุไซโคลนโมคาอย่างเร่งด่วนตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   เมียนมาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย ไทยกับเมียนมามีความสัมพันธ์อันดีและมีความร่วมมือทวิภาคีที่ใกล้ชิด และโดยที่คำนึงว่าทางการเมียนมาได้มีคำขอรับการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคาอย่างเป็นทางการในกรอบทวิภาคี รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์แสดงความพร้อมของประเทศสมาชิกที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภัยพิบัติอย่างเร่งด่วนแก่เมียนมา กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าทางการไทยควรให้ความช่วยเหลือด้านนุษยธรรมแก่เมียนมาอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะการสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือและปัจจัยดำรงชีพขั้นพื้นฐาน โดยอาจดำเนินการควบคู่ไปกับบทบาทของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management: AHA Centre) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาในกรณีนี้ด้วย
 

แต่งตั้ง

18. เรื่อง การเปลี่ยนโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอการเปลี่ยนโฆษกประจำ ทส. [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจากนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกประจำ ทส. ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลการดำเนินงานของ ทส. ตลอดจนการชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ ทส. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทส. ได้แต่งตั้ง นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโฆษกประจำ ทส. (คำสั่ง ทส.ที่ 137/2566 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 26 เมษายน 2566)


ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/68253