สาระน่ารู้


สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 17 ธันวาคม 2567


                     วันนี้ (17 ธันวาคม 2567)  เวลา 10.00 น.  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
 

กฎหมาย

                     1.        เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า  โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์   เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                     2.        เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                     3.        เรื่อง     ร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. ....
                     4.        เรื่อง     ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ....
                    5.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี ศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. ....
                     6.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
                     7.        เรื่อง     กฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
                     8.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2568)
                    9.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. ....
                     10.      เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2568 พ.ศ. ....
                     11.      เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                     12.      เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
                     13.      เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเสริมเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. ....
                     14.      เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดจํานวน เขตอํานาจ และวันเปิดทําการศาลแขวง ในจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติให้นําวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสําหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  รวม 2 ฉบับ
                     15.      เรื่อง    ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตใบแทนอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. ....  และร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ     
                     16.      เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)]
 

เศรษฐกิจ – สังคม

                     17.      เรื่อง     การขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38
                     18.      เรื่อง     การโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48
                     19.      เรื่อง     การโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48
                     20.      เรื่อง     มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566
                     21.      เรื่อง    การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี –สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่  พ.ศ. 2568
                     22.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์บริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองหลวง (บางส่วน) และบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง (บางส่วน) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รวม 2 เรื่อง)
                     23.      เรื่อง     มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68

ต่างประเทศ

                     24.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบการลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2572 (ค.ศ. 2025 - 2029)
                     25.      เรื่อง     การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน International Partnership for Blue Carbon  (IPBC)
                     26.      เรื่อง     การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA) ครั้งที่ 7
                     27.       เรื่อง     ร่างบันทึกการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาชั้นนําของรัฐสมาชิกการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย
                     28.      เรื่อง     สรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก
                     29.      เรื่อง     สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
                     30.      เรื่อง     การขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก
                     31.      เรื่อง     ผลการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3
 

แต่งตั้ง

         
                     32.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
                     33.      เรื่อง     ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กระทรวงมหาดไทย)
                     34.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                     35.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง   (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     36.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
                     37.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (กระทรวงพาณิชย์)
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์   เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ (1) ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร   พ.ศ. .... และ (2) ร่างพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้า  สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     1. ร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ได้แก่ (1) ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี  อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  และเขตหลักสี่  เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าหน้าที่ในเวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี  และ (2) ร่างพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ภาระในอสังหาริมทรัพย์มีการแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายต้องยอมรับภาระว่าไม่สามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตามปกติแต่ไม่ได้สร้างภาระจนถึงขนาด ที่ รฟม. จะต้องดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น
                     ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
                               1) กรณีเวนคืนเป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในเวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเขตทางทั้งหมดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เพื่อใช้ในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่มีเจ้าของที่ดินในท้องที่ดังกล่าว จำนวน 28 แปลง (จากเดิม 592 แปลง) ไม่ตกลงซื้อขาย ดังนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงได้วางเงินทดแทนให้กับเจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเจ้าของที่ดิน โดยจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยก็ต่อเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยโดยเร็วต่อไป
                               2) กรณีกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ภาระในอสังหาริมทรัพย์มีการแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องยอมรับภาระว่าไม่สามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตามปกติ แต่ไม่ได้สร้างภาระจนถึงขนาดที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น ทางวิ่งของรถไฟฟ้าพาดผ่านบริเวณเหนือที่ดิน สถานีหรือทางขึ้น - ลง ของสถานีรถไฟฟ้าล้ำเข้าไปบริเวณเหนือที่ดิน เป็นต้น ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยยังไม่ได้จดทะเบียนกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดลักษณะภาระนั้น จะตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้วางเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินในท้องที่ดังกล่าวแล้ว แต่เจ้าของที่ดินไม่มาตกลงทำสัญญากำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 แปลง ดังนั้น เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกำหนดลักษณะภาระนั้นจะตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ก็ต่อเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์และพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 เพื่อกำหนดภาระอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี
                     2. กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไทยและมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว และกรมการปกครองได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองของแผนที่ท้ายร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 2 ฉบับแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีตรา   ร่างกฎหมายหรืออนุบัญญัติที่ต้องจัดทำให้มีแผนที่ท้ายแล้ว
 
2.  เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขชื่อผู้มีอำนาจลงนามในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ให้เป็นปัจจุบันด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     สาระสำคัญ
                     1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีได้เคยมีอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วเป็นการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยองเพิ่มเติม จำนวน 2,662 ไร่ ในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ท้องที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง จำนวน 3 บริเวณ (จากพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) จำนวน 6,500 ไร่) เพื่อให้การตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยองในการรองรับผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน สอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในการกำหนดสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นการดำเนินการกำหนดพื้นที่สำหรับการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ตามมติคณะรัฐมนตรี 9 สิงหาคม 2565
                     2. กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และกรมการปกครองได้ตรวจสอบแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย)
 
3. เรื่อง ร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (คกอ.) คณะที่ 4 ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     ร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการฯ ที่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (23 สิงหาคม 2566) เห็นชอบในหลักการและ
คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ตรวจพิจารณาแล้ว
ซึ่งยังคงหลักการเดิมตามร่างระเบียบฯ ที่คณะกรรมการฯ เสนอ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมบางประการ
เช่น กำหนดนิยาม “กมช.” หมายความว่า คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
(เพิ่มใหม่) กำหนดให้คณะกรรมการสรรหามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี เพื่อรองรับการดำเนินการกรณีที่มีเหตุต้องสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ก่อนที่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมจะสิ้นสุดลง (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี) (เพิ่มใหม่) กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากำหนดด้านที่ประสงค์จะให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเสนอให้มีการแต่งตั้งโดยมิได้กำหนดจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้านไว้ เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ตามความจำเป็นของคณะกรรมการฯ และเป็นไปตามความมุ่งหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมทั้งเพิ่มเติมให้คณะกรรมการสรรหาสามารถดำเนินการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้หลากหลายวิธี ได้แก่ วิธีการเสนอชื่อ วิธีการรับสมัครทั่วไป และวิธีการทาบทามโดยจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและได้มาซึ่งบุคคลที่เหมาะสม (เพิ่มใหม่) ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ
 
4. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงแรงงานและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                      สาระสำคัญของเรื่อง
                     1.ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ  เป็นการกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดจำนวนคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี ประเทศละไม่เกิน 100 คนต่อปี และไม่เกิน 50 คนต่อปี สำหรับคนไร้สัญชาติ การออกประกาศดังกล่าวเป็นการออกประกาศรายปีและดำเนินการทุกปี ทั้งนี้ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในแต่ละปีสามารถยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป เมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อพำนักอยู่ต่อเป็นการชั่วคราวในแต่ละปีอีก และมีสิทธิยื่นคำขอแปลงสัญชาติให้เป็นสัญชาติไทยได้ รวมไปถึงบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรโดยเกิดจากการสมรสของบิดามารดาซึ่งเป็น  ผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร บุตรนั้นย่อมมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดนอีกด้วย อันเป็นการส่งเสริม  ให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย
                     2. สาระสำคัญของร่างประกาศ
                     โดยที่มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่า   การกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี แต่มิให้เกินประเทศละ 100 คนต่อปี และสำหรับคนต่างด้าวไร้สัญชาติมิให้เกิน 50 คนต่อปี และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจะเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองและด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม ผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
                     ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติ  ที่ต้องการเข้ามาลงทุน อีกทั้ง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น การให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย มท.จึงเห็นควรประกาศกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี 2567 โดยกำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศมีจำนวนประเทศละไม่เกิน 100 คน และคนต่างด้าวไร้สัญชาติมีจำนวนไม่เกิน 50 คน  ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง     เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ
                     ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 60 ปี ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. .... เป็นการกำหนด ลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบ 60 ปี ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงส่งเสริมพัฒนาด้านเทคนิควิชาการแพทย์ให้ได้มาตรฐานสากล และพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนอุปกรณ์ด้านการแพทย์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยให้แก่โรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของทั้งสามพระองค์ให้นานาประเทศทั่วโลกเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว
 
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ 
                     สาระสำคัญ
                     โดยที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยข้อ (4) กำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟหรือทางรถไฟฟ้า ซึ่งใช้ในกิจการของการรถไฟหรือการรถไฟฟ้าโดยตรงให้ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน  อย่างไรก็ตาม การกำหนดบทนิยามคำว่า “ทางรถไฟ” และ “ทางรถไฟฟ้า” มีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดย “ทางรถไฟ” หมายความรวมถึงห้องระบบอาณัติสัญญาณประจำสถานี และชานชาลาสถานีเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ผู้โดยสารรอเพื่อขึ้นหรือลงจากรถไฟ ซึ่งไม่มีการระบุไว้ในนิยามคำว่า “ทางรถไฟฟ้า”  ส่งผลให้การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลครอบคลุมกว้างกว่าการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟฟ้า (สิ่งปลูกสร้างของทางรถไฟได้รับยกเว้นภาษีมากกว่าสิ่งปลูกสร้างของทางรถไฟฟ้า) ดังนั้น เพื่อให้การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎกระทรวงฉบับนี้สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟฟ้าซึ่งใช้ในกิจการรถไฟฟ้าโดยตรงสอดคล้องกับการบรรเทาภาระภาษีให้แก่กิจการขนส่งทางรางประเภทอื่น (ทางรถไฟ) จึงได้มีการเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ทางรถไฟฟ้า” โดยเพิ่มคำว่า “ห้องอุปกรณ์อาณัติสัญญาณภายในสถานี ห้องควบคุมระบบบังคับสัมพันธ์ภายในสถานี ห้องอุปกรณ์สื่อสารภายในสถานี และชานชาลาสถานีเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ผู้โดยสารรอเพื่อขึ้นหรือลงจากรถไฟฟ้า” ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเริ่มแจ้งการประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี อันเป็นการสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้เสียภาษีและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
7. เรื่องกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     สาระสำคัญ
                     ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโรงงานในลำดับที่ 88 แห่งบัญชีท้ายกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 เพื่อปรับปรุงประเภทหรือชนิดของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดบนอาคาร (Solar rooftop) ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ ทุกกำลังการผลิตไม่ให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่สะอาดและไม่มีมลพิษ ช่วยลดต้นทุนในการประกอบกิจการ ตลอดจนเพื่อให้ภาครัฐสามารถบรรลุนโยบายด้านพลังงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
 
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2568)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     1. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2568) ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มีสาระสำคัญ เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร - บ้านฉาง ตอนกรุงเทพมหานคร - เมืองพัทยา รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ทางแยกเข้าพัทยา และตอนบ้านหนองปรือ - บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (บ้านอำเภอ) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร    (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน และตอนบางปะอิน - บางพลี ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่และช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว และกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ได้ยืนยันความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงนี้ด้วยแล้ว
                     2. กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงหยุดเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2568  โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 - วันที่ 2 มกราคม 2568 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 207.8645 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโดยสามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 448.0282 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง
 
9. เรื่อง  ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมฯ ที่กระทรวงแรงงานเสนอ เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม (ฉบับละ 50 บาท) และใบแทนบัตรประกันสังคม (ฉบับละ 10 บาท) เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ซึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องจากกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. 2566
ที่จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 (ยกเว้นค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่
31 ธันวาคม 2567) โดยการออกแบบใบแทนดังกล่าวเป็นกรณีหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมหรือบัตรประกันสังคม สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ หากนายจ้างหรือลูกจ้างจะขอรับใบแทนดังกล่าวจะต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้นั้นไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการของภาครัฐ กล่าวคือ รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต้นทุนในการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ที่ให้ส่วนราชการพิจารณายกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น จึงสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนดังกล่าว
                     ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กระทรวงแรงงานได้จัดทำรายงานตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 242,560 บาท ต่อปี
 
10. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2568 พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี  พ.ศ. 2568    พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2568 พ.ศ. .... เป็นการขยายระยะเวลาการนำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) สำหรับปี 2568 พิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 1005.90.99 รหัสสถิติ 001 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้นำเข้าจะต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบการนำเข้า เช่น หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) หรือหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) เอกสารที่ปรากฏคำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin Declaration) ซึ่งจัดทำโดยผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Certified Exporter) ได้แก่ ใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice) หรือใบเรียกเก็บเงินค่าสินค้า (Billing Statement) และหนังสือรับรองหรือเอกสารหลักฐานอื่นใด ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองดังกล่าวของประเทศผู้ส่งออก ผู้นำเข้าจะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ในอัตราร้อยละ 0 ในกรณีองค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้าต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568  และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ต้องนำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านกักสัตว์ หรือมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของด่านดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ และให้เสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้าในอัตราเมตริกตันละ 0 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่    1 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 อันเป็นการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องจากมาตรการตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2566 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567  โดยคงนโยบายและมาตรการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2567 เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดน้อย ตลอดจนเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันไว้
 
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
 
 
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  มีสาระสําคัญเป็นการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ในกรณีสงเคราะห์บุตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตนในวันที่ 1 มกราคม 2568  รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการเพิ่มอัตราการมีบุตรของผู้ประกันตนและเป็นการบรรเทาภาระการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมซึ่งมีสาระสําคัญ ดังนี้
                     1. กําหนดให้มีผลใช้บังคับสําหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตั้งแต่วันที่   1 มกราคม 2568  เป็นต้นไป
                     2 เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน (เดิม เหมาจ่ายในอัตรา 800 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน)
                     3. รง. ได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และ มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยการจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 1 (รัฐบาล) ของค่าจ้างมีการใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 0.83 ของค่าจ้าง ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบไม่เกินร้อยละ 1 ของค่าจ้าง (อัตราเงินสมทบที่จัดเก็บ) จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะกองทุน ทั้งนี้ การเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนดีขึ้น
 
12. เรื่องร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
                     คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                     1. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้ที่ดินเป็นที่ตั้งของโรงผลิตน้ำประปาและโรงผลิตน้ำประปา รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตน้ำประปา ได้รับลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องเริ่มดำเนินการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 อันจะทำให้ อปท. สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาให้แก่กิจการผลิตน้ำประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ
                     2. กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้ อปท. สูญเสียรายได้ประมาณ 54.45 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาให้แก่กิจการผลิตน้ำประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมการดำเนินกิจการผลิตน้ำประปาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตน้ำประปายังคงมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของอาคารซ่อมและบำรุงรักษาภายในโรงงานผลิตน้ำ โดยไม่ได้รับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมาตรการดังกล่าว
 
13. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเสริมเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเสริมเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเสริมเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. .... เป็นการขยายกำหนดเวลากรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการนับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ (ปกติหากยื่นด้วยวิธีอื่น เช่น ยื่นที่สำนักงานประกันสังคม จะต้องยื่นในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบ) สำหรับการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบสำหรับค่าจ้างในครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ถึงเดือนธันวาคม 2572 เป็นระยะเวลา 60 เดือน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป (เช่นในงวดเดือนมกราคม 2568จะต้องนำส่งภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งตามร่างประกาศฉบับนี้กำหนดให้ขยายเวลายื่นแบบฯ และนำส่งเงินฯ ออกไปอีก 7 วันทำการนับแต่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบ คือ จะต้องนำส่งภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568) เพื่อให้การดำเนินการมีผลใช้บังคับต่อเนื่องกับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยืนแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. 2566 (สำหรับการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบสำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 เป็นระยะเวลา 12 เดือน) ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการขยายกำหนดเวลาการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงวดเดือนธันวาคม 2567 และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้าง และเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมให้สถานประกอบการชำระเงินสมทบแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการ e - Payment ภาครัฐ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e - Payment Master Plan ในการทำธุรกรรมทางการเงินให้ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล สอดคล้องกับนโยบายปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก
 
14. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดจํานวน เขตอํานาจ และวันเปิดทําการศาลแขวง ในจังหวัดร้อยเอ็ด   พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นําวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสําหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ (1) ร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดจํานวน เขตอํานาจ และวันเปิดทําการศาลแขวงในจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. .... และ (2) ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสําหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...  ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     1. ร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดจํานวน เขตอํานาจ และวันเปิดทําการศาลแขวงในจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. .... มีสาระสําคัญเป็นการกําหนดให้มีศาลแขวงสุวรรณภูมิ ในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีเขตอํานาจในอําเภอเกษตรวิสัย อําเภอปทุมรัตต์ อําเภอพนมไพร อําเภอโพนทราย อําเภอสุวรรณภูมิ และอําเภอหนองฮี และกําหนดให้เปิด   ทําการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
                     2. ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสําหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสําคัญเป็นการกําหนดให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด สําหรับคดีอาญาที่อยู่ในอํานาจศาลแขวงซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในท้องที่อําเภอจตุรพักตรพิมาน อําเภอจังหาร อําเภอเชียงขวัญ อําเภอทุ่งเขาหลวง อําเภอธวัชบุรี อําเภอโพธิ์ชัย อําาเภอโพนทอง อําาเภอเมยวดี อําเภอเมืองร้อยเอ็ด อําเภอเมืองสรวง อําาเภอศรีสมเด็จ อําเภอเสลภูมิ อําเภอหนองพอก และอําเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
 
15. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตใบแทนอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ     
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไป
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตนำเข้า ใบอนุญาตส่งออก การออกใบแทนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว รวมทั้งกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 6 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 (เป็นกฎหมายใหม่ภายหลังจากการถอดพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) ที่ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดเรื่องดังกล่าว ไว้ในกฎกระทรวง สรุปสาระสําคัญดังนี้
                     1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. .... มีสาระสําคัญเป็นการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตนําเข้า ใบอนุญาตส่งออก การออกใบแทนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตพืชกระท่อม (มีอายุ 5 ปี) กรณีการนําเข้า ส่งออก การออกใบแทนใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต เช่น 1) ใบอนุญาตนําเข้าพืชกระท่อม ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 5,000 บาท 2) ใบอนุญาตส่งออกใบกระท่อม ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 5,000 บาท 3) ใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 1,000, บาท 4) การต่ออายุใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสําหรับใบอนุญาตนั้น และลดค่าธรรมเนียมการส่งออกใบกระท่อมลงกึ่งหนึ่งแก่ผู้ส่งออกใบกระท่อม ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และลดค่าธรรมเนียมการส่งออกใบกระท่อมลงกึ่งหนึ่งแก่ผู้ส่งออกใบกระท่อม ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน และให้ยกเว้น ค่าธรรมเนียมการส่งออกใบกระท่อมแก่ผู้ส่งออกใบกระท่อมซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนและหน่วยงานของรัฐตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
                     2) ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม พ.ศ. ....
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม ซึ่งจะเป็นมาตรการในการกํากับดูแลการนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนําเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม เช่น
                               (1) กําหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นคําขอ ใบอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เช่น เป็นหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้อนุญาต นิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอํานาจทําการแทนนิติบุคคลซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กําหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือ   คนเสมือนไร้ความสามารถ และเป็นกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือเป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นผู้ได้รับมอบหมายกิจการแทนซึ่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กําหนด เช่น ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต และไม่เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าด้วยการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติพืชกระท่อมฯ
                               (2) การยื่นคําขอและต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคําขออนุญาตต่อผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ไม่สามารถดําเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นด้วยตนเอง พร้อมด้วยข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานตามที่กําหนด เช่น เลขประจําตัวประชาชน ในกรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ขออนุญาต ชื่อและเลขทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต
                     3) ข้อยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตนําเข้าหรือส่งออก ได้แก่ การนําใบกระท่อมติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อบริโภคเป็นการส่วนตัว (สําหรับบริโภคเล่น เช่น ลักษณะคล้ายเคี้ยวหมากฝรั่ง) หรือบริโภคเพื่อบําบัด รักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยของผู้ซึ่งเดินทางระหว่างประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตนําเข้าหรือส่งออก ทั้งนี้ ต้องไม่เกินปริมาณที่กําหนด (ใบของพืชกระท่อมจํานวนไม่เกิน 50 ใบ หรือมีน้ำหนักใบของพืชกระท่อมไม่เกิน 100 กรัม และน้ำต้มใบของพืชกระท่อม จํานวนไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร)
 
16. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)]
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้ 
                     1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.)]
                     2. มอบหมาย สบร. ร่วมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้ และความเข้าใจมาตรการภาษี
เพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่ สบร. รวมทั้งร่วมติดตามและประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้
และนําส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ กค. เป็นรายปีจนสิ้นสุดมาตรการเพื่อประกอบการจัดทํารายงานเปรียบเทียบประโยชน์ ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติ
วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     1) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่ สํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.)] ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจํานวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค สําหรับการบริจาคที่กระทําผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e - Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่สํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สําหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้าหรือสําหรับการกระทําตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่หน่วยงานดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน และเพิ่มโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้พัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ในพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเสมอภาคทางสังคม ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการ สํานักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเป็นอํานาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาอนุมัติหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลัง  เสนอได้
                     2) ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีรายละเอียดสรุป ดังนี้

ประเด็น รายละเอียด
1. ผู้ได้รับประโยชน์ • บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้แก่ สบร. ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e - Donation) ของกรมสรรพากร
2. สิทธิประโยชน์ • บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจํานวน 2 เท่าของจํานวนเงินที่บริจาค
 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค และเมื่อรวมกับ
เงินได้ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกําหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้
พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
• บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค
ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน
 และเมื่อรวมกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกําหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจํานวน 2 เท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละ 10 ของกําไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่าย เพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกําไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือ เพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตาม มาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
• ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สําหรับการโอนทรัพย์สิน
การขายสินค้า หรือการกระทําตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่ สบร. โดยจะต้องไม่นําต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว มาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่ละกรณี
3. เงื่อนไข • บุคคลธรรมดาที่ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ต้องไม่นําเงินบริจาคที่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว ไปหักลดหย่อนเป็นเงินบริจาคตามมาตรา 47 (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรอีก
• บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ต้องไม่นําเงินหรือ ทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือ เพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรอีก
4. วันบังคับใช้ วันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 69

 

เศรษฐกิจ – สังคม

17. เรื่อง การขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเล    อ่าวไทยหมายเลข B8/38
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2578 ทั้งนี้ พน. จะได้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     เรื่องนี้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์    (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่  24 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2578  เนื่องจากสัมปทานดังกล่าวจะสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ในวันที่ 23 ตุลาคม 2568 และผู้รับสับสัมปทานได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัมปทานอย่างครบถ้วนและได้ยื่นคำขอ  ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามขั้นตอน ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เจรจากับผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับผลประโยชน์พิเศษเพิ่มเติมจนได้ข้อยุติแล้ว โดยคิดเป็นมูลค่า 39.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                     นอกจากนี้ คาดว่าการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว จะก่อให้เกิดเป็นรายได้แก่รัฐตลอด การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมประมาณ 752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการปิโตรเลียม   (ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566/610 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี    (ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 - 23 ตุลาคม 2578) แล้ว
 
18. เรื่อง การโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัท พลังโสภณ จำกัด โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 11 ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ให้แก่บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และกระทรวงพลังงาน (พน.) จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 ตามแบบ  ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กระทรวงพลังงาน เสนอขออนุมัติการโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ตามที่ บริษัท พลังโสภณ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมถือสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานแปลงดังกล่าว  ในปัจจุบันได้แจ้งความประสงค์ขอโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานที่ถือครองอยู่ ในสัดส่วนร้อยละ 11 ให้แก่ บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานในแปลงสำรวจดังกล่าวอยู่แล้ว (ถือครองสิทธิ ประโยชน์ และพันธะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 64) ทั้งนี้ การดำเนินการโอนสัมปทานดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อค่าภาคหลวงที่ภาครัฐได้รับแต่อย่างใด
                     สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติให้บริษัท   พลังโสภณ จำกัด โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 11 ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่  8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ให้แก่ บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่ พน. เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติการโอนสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวได้
 
19. เรื่อง การโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 33.33 ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ให้แก่บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ พน. จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
 
                     สาระสำคัญ
                     1. กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เสนออนุมัติการโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ตามที่โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมถือสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานดังกล่าวในปัจจุบัน ได้แจ้งความประสงค์ขอโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 33.33 ให้แก่ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน และผู้ดำเนินงานในแปลงสำรวจดังกล่าวอยู่แล้ว (ถือครองสิทธิ ประโยชน์ และพันธะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 66.67) ทั้งนี้ เมื่อการโอนสัมปทานตามที่เสนอขอในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว จะมีผลทำให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานเพียงรายเดียวของสัมปทานนี้
                     2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ขัดข้องต่อการโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/ แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ตามที่ พน. เสนอ
 
20. เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 โดยให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 21 - 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาหาฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยจัดประชุมรูปแบบผสมผสานทั้ง ณ สถานที่ประชุมและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อกับเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดทุกแห่ง รวมถึงมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 3,882 คน โดยที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 มีฉันทมติต่อระเบียบวาระ จำนวน 3 มติ ดังนี้

มติ 1 ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง
(Mental well-being system for non-violent Thai society)
เนื่องจากความรุนแรงในสังคมไทยนับวันจะมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างซับซ้อนในการสร้าง “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่คนสามารถมีสุขภาวะและทำให้สังคมโดยรวมมีความยั่งยืน
ทางสุขภาพจิต จำเป็นต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต” ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม
อันครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคล พฤติกรรม วิถีชีวิต การเยียวยารักษาไปจนถึงการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เป็นไปตามหลักสากล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีสำหรับทุกคนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ตามแนวทางการสร้างเสริมป้องกันและคัดกรอง รักษา และฟื้นฟู รวมถึงปัจจัยสังคมและเศรษฐกิจกำหนดสุขภาพจิต ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงรุกกระจายทั่วถึง
ไม่ตีตรา เข้าถึงตามขั้นการดูแลของกลไกในระบบสุขภาวะทางจิต สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม
บริบทชุมชนพื้นที่ โดยคำนึงถึงกติกา พันธสัญญาและข้อตกลงทั้งในและระหว่างประเทศ
กรอบทิศทางนโยบาย ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) ระบบสุขภาวะทางจิต ประกอบด้วยกลไกในระดับต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน
ได้แก่ กลไกบ้าน กลไกชุมชนและสังคม กลไกนโยบายและกฎหมาย กลไก
การบริการสุขภาพจิต
(2) พัฒนานวัตกรรมการสื่อสารสร้างเสริมสุขภาพจิตที่เข้าถึงประชาชน
ทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) พัฒนาวิธีคิดและวิธีการในการค้นหา ทำความเข้าใจสุขภาวะทางจิตของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน
(4) มีมาตรการเฉพาะกับกลุ่มประชากรที่มีโอกาสและแนวโน้มใกล้ชิดกับความรุนแรงและความเสี่ยงทางสุขภาพจิตหรือประชากรที่มีสภาวะเปราะบาง
โดยลงทุนและให้คุณค่ากับสภาพแวดล้อมสำหรับประชากรกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ และสร้างเสริมสุขภาพจิตและเยียวยาบาดแผลทางใจในกลุ่มประชากรเปราะบาง
(5) ยกระดับและเสริมพลังกลไกประสานและขับเคลื่อนในระดับชาติและระดับพื้นที่
(6) ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพจิตในชีวิตประจำวัน
- กรมสุขภาพจิต (หน่วยหลัก)
- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
- สำนักงานกองทุนสนับสนุน
การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- กระทรวงมหาดไทย (มท.)
- กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
- กระทรวงยุติธรรม (ยธ.)
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ตร.)
มติ 2 การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่
(Strengthening the mechanisms of Water Resources Management (WRM) at local levels)
เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งให้ส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่โดยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนอย่างมีส่วนร่วมของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเครือข่าย โดยมีแผนบูรณาการกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด องค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนในระดับพื้นที่ ทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีและสร้างหลักประกันพื้นฐานในสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต รวมถึงอนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
กรอบทิศทางนโยบาย ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) การสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งต่อกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่โดยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนต่อการจัดการสมดุลน้ำและผังน้ำระดับ
ชุมชนซึ่งชุมชนท้องถิ่นต้องมีข้อมูลระบบสารสนเทศประกอบการตัดสินใจ
(2) ผลักดันการบูรณาการและสนับสนุนพื้นที่กลางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามความต้องการอย่างเหมาะสมของพื้นที่ผ่านกลไก
ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อผลักดันการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม
(3) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมเพื่อสร้างโอกาส
การพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
(4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเสียและสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ (การปล่อยทิ้งน้ำเสียจากบ้านเรือน อุตสาหกรรม)
(5) การส่งเสริมการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและป้องกันการบุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติ
(6) การส่งเสริมวิจัยและใช้ประโยชน์งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี
ที่เหมาะสมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่
- สำนักงานทรัพยากรน้ำ
แห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงาน
หลัก)
- กรมโยธาธิการและผังเมือง
-กรมส่งเสริมการปกครอง
ท้องถิ่น
- กรมชลประทาน
- กรมทรัพยากรน้ำ
- กรมป่าไม้
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม
- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
มติ 3 การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
(Promoting quality births and child growth for population development)
เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเด็กในการเป็นอนาคตของชาติ และร่วมกันเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อสร้างค่านิยมร่วมในสังคม “สร้างบ้านแปงเมืองด้วยการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ภายใต้แนวคิด “Happy Child - Happy Family – Happy Community”
กรอบทิศทางนโยบาย ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) สร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Momentum) โดยทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะในช่วง 2,500 วันแรก โดยผู้มีบทบาทสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อความคิด (Influencers) เช่น กลุ่มดารา กลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
(2) เร่งผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว โดยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตร ผ่านมาตรการเชิงบังคับร่วมกับการสร้างแรงจูงใจในการให้สวัสดิการครอบครัว 4 มิติ ได้แก่ เวลาการเงิน การสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร และกฎหมาย
(3) นำแนวคิดชุมชนนำ (community-led approach) ในการสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ปลอดภัยและเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
(4) พัฒนาระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการวางนโยบาย ได้แก่ การกำหนดฉากทัศน์ภาพอนาคตเด็กไทยที่พึงประสงค์ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในระดับพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการจัดทำงานวิจัย
- สำนักงานสภาพัฒนาการ
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) (หน่วยงานหลัก)
- สสส. (หน่วยงานหลัก)
- กรมกิจการเด็กและเยาวชน
- สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์
- กรมสวัสดิการและคุ้มครอง
แรงงาน
- สำนักงานประกันสังคม
- กรมส่งเสริมการปกครอง
ส่วนท้องถิ่น
- กรมสรรพากร

 
21. เรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568             
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา - ชลบุรี) ทางยกระดับ  ด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถีเป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2567 และประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก
(บางพลี - สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษและอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษบูรพาวิถี  และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี- สุขสวัสดิ์) และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     1. ในช่วงเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2567 กระทรวงคมนาคม มีแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษบูรพาวิถี โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 กำหนดให้ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 นาฬิกา โดยในส่วนของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีบัญชาในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พิจารณายกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) (รวมทางเชื่อม)ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางสายดังกล่าว เช่นเดียวกับทางพิเศษบูรพาวิถี เนื่องจากเป็นสายทางที่ต่อเนื่องกันเพื่อระบายการจราจรแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
                     2. คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่   25 กันยายน 2567 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 24.00 นาฬิกา และหากกรมทางหลวงมีการปรับปรุงแก้ไขกำหนดวันยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวงพิเศษเป็นประการใด ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยปรับปรุงแก้ไขกำหนดวันที่ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ให้สอดคล้องกับกรมทางหลวงก่อนที่จะดำเนินการตามชั้นตอนต่อไป
                     3. วันที่ 30 กันยายน 2567 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เกี่ยวกับกำหนดการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ว่ากรมทางหลวงจะกำหนดให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568
                     4. ประโยชน์และผลกระทบ
                     การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก   (บางพลี - สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 เวลา 24.00 นาฬิกา รวม 8 วัน
                     ประโยชน์ ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะได้รับนอกเหนือจากผลประโยชน์ที่ประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ (VOC Saving, VOT Saving) ยังมีผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ ได้แก่ ความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางพิเศษ และลดมลพิษทางอากาศบริเวณหน้าด่านเก็บ    ค่าผ่านทางพิเศษ อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษในช่วงเทศกาลที่มีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก และเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่มีต่อประชาชนเพื่อให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงาน และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาใช้ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางมากยิ่งขึ้น
                     ผลกระทบ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ได้รับรายได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 รวม  8 วัน ซึ่งจะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษ ประมาณ 2,659,056 คัน เป็นรายได้ประมาณ 96,023,112  บาท
                     5. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา หรือการสูญเสียรายได้
                     การดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษดังกล่าวในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 รวม 8 วัน จะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,659,056 คัน จะทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ได้รับรายได้ประมาณ 96,023,112  บาท แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 113,947,400 บาท ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ (Vehicle Operating Cost Saving : VOC Saving) 43,171,544 บาท และมูลค่าจาจาจาการประหยัดเวลาในการเดินทาง (Value of Time Saving : VOT Saving)  70,769,856 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 113,941,400 บาท
 
22. เรื่อง ขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์บริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองหลวง (บางส่วน) และบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง (บางส่วน) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รวม 2 เรื่อง)
                               คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
                               1. การจำหน่ายที่ดินซึ่งที่ตั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองหลวง (บางส่วน) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 2729 ท้องที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นจำนวนเงินประมาณ 57,145,920 บาท โดยราคาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง หลังจากทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน
                               2. การจำหน่ายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง 2 (บางส่วน) ของ กฟผ. ตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 238448 ท้องที่ตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 13 – 3 – 01 ไร่ ให้ กฟภ. ในราคาทั้งสิ้น 87,994,562.71 บาท
                               โดยมีเงื่อนไขให้ กฟภ. เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและ  ค่าภาษีทุกประเภทที่ต้องชำระ ณ สำนักงานที่ดินเองทั้งสิ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 43 (6) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535
                               สาระสำคัญของเรื่อง
                               1. เรื่องนี้เป็นการขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ) จำหน่ายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าจำนวน 2 แห่ง ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองหลวง 3 และสถานีไฟฟ้าบางละมุง 2 ระบบ 115/115 กิโลโวลต์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

สถานี วัตถุประสงค์ ที่ตั้ง เนื้อที่ (ไร่) วงเงิน (บาท)
1. สถานีไฟฟ้าคลองหลวง 3 เพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 13 57,145,920
2.สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง 2 (บางส่วน) เพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 13 – 3 – 01 87,994,562.71

                              
                               ทั้งนี้ กฟผ. เห็นว่า การจำหน่ายที่ดินบางส่วนให้แก่ กฟภ. ข้างต้นจะช่วยลดการลงทุนในภาพรวมของประเทศไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กฟผ. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ้าผลิตแห่งประเทศไทยในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567  เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติให้แบ่งขายที่ดินดังกล่าวตามจำนวนเนื้อที่และวงเงินที่ระบุข้างต้น โดยมีเงื่อนไขให้ กฟภ. เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าภาษีทุกประเภทที่ต้องชำระ ณ สำนักงานที่ดินเองทั้งสิ้น  ซึ่ง กฟภ. ได้ตอบรับราคาและยืนยันการขอแบ่งซื้อที่ดินดังกล่าวตามราคาและเงื่อนไขที่ กฟผ. กำหนดแล้ว
                               2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย (มท.)   สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง โดย มท. และ สงป. เห็นควรให้ กฟผ. ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

23. เรื่อง มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68

 

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (1) รับทราบผลการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง (มาตรการฯ)  ปี 2566/67 (2) รับทราบการดำเนินโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าพืชไร่ (โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดฯ) ปีการผลิต 2567/68 (3) รับทราบแนวทางมาตรการในการขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง (มาตรการขยายตลาดส่งออกฯ) ปี 2567/68 รวมทั้งอนุมัติในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68 (มาตรการฯ ปี 2567/68) จำนวน 4 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงิน 368,900,000 บาท ได้แก่ (1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง (โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกฯ) ปี 2567/68 วงเงินงบประมาณ 300,000,000 บาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันการเกษตร (โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังฯ) ปี 2567/68 วงเงินงบประมาณ 17,500,000 บาท (3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง (โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกฯ) ปี 2567/68 วงเงินงบประมาณ 41,400,000 บาท และ (4) โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันสำปะหลัง) (โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปฯ) วงเงินงบประมาณ 10,000,000 บาท
                   สาระสำคัญ
                   ความเห็นสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่า  มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68 เป็นการช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร เพื่อรักษาเสลียรภาพราคามันสำปะหลังในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายมันสำปะหลังในราคาที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และสร้างศักยภาพการแปรรูปของเกษตรกร ตลอดจนเป็นการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตมันสำปะหลัง ประกอบกับมาตรการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 แล้ว จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะรับทราบ (1) ผลการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 (2) การดำเนินโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าพืชไร่ ปีการผลิต 2567/68 และ (3) แนวทางมาตรการในการขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง ปี 2567/68 รวมทั้งพิจารณาอนุมัติในหลักการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68 จำนวน 4 โครงการ ภายในกรอบวงเงิน 368,900,000 บาท  ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
          อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 เป็นการดำเนินโครงการที่รัฐจะต้องชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เข้าข่ายการดำเนินการตามนัยมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงเห็นสมควรพิจารณาให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น เห็นควรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป สำหรับโครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ) เห็นควรให้กรมการค้าภายในพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่และภารกิจของหน่วยดำเนินการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจหลักให้เป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาสนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องสับมันสำปะหลังให้แก่กลุ่มเกษตรกรไม่ซ้ำข้อนกับกลุ่มที่ได้รับไปแล้ว เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิตดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายและความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินมาตรการเป็นไปด้วยความเป็นธรรม ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เห็นควรให้โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 ใช้อัตราชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2567/68  และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2567/68 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
                   รวมทั้งเห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำระบบหรือกลไกในการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนไม่ซ้ำซ้อน และทันต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของข้อมูลด้านการลงทะเบียนเกษตรกร จำนวนเกษตรกร ปริมาณผลผลิตต่อไร่ จำนวนพื้นที่เพาะปลูกจำนวนสถาบันเกษตรกร ตลอดจนพิจารณาดำเนินการในพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายอื่น รวมทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อทำการเกษตร ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 และกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของมันสำปะหลังในพื้นที่ผิดกฎหมายหรือการลักลอบนำเข้ามาสวมสิทธิจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพิจารณาดำเนินมาตรการ/โครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตรตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 โดยเคร่งครัดด้วย ตลอดจนปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการดำเนินการ เพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารงานอย่างถูกต้องครบถ้วนสำหรับประกอบการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เหมาะสมและยั่งยืน
                              

 

ต่างประเทศ


24. เรื่อง ขอความเห็นชอบการลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2572 (ค.ศ. 2025 - 2029)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2572 (ค.ศ. 2025 - 2029) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
 
 
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) หรือยูเนสโก (คณะกรรมการบริหารฯ) ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2572 (ค.ศ. 2025 - 2029) ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารฯ รวม 5 วาระ (วาระล่าสุดระหว่างปี 2562 - 2566 โดยครบวาระการเป็นสมาชิก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566) และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกในคณะกรรมการบริหารฯ ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 43 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ทั้งนี้ การลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารฯ เป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้รัฐสมาชิกของยูเนสโกเห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมในการบริหาร การดำเนินภารกิจ โครงการ และงบประมาณของยูเนสโกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกของยูเนสโก และกระชับความสัมพันธ์กับรัฐสมาชิกเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้กรอบยูเนสโกของประเทศไทย ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารฯ ไม่มีการจัดทำความตกลงขึ้นใหม่ จึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย
 
25. เรื่อง การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน International Partnership for Blue Carbon (IPBC)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน International Partnership for Blue Carbon (IPBC) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     ทส. รายงานว่า
                     1. IPBC เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 ประเทศ ทั้งนี้ IPBC มีวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญในการปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศบลูคาร์บอนในขอบเขตระดับโลก อันมีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจมหาสมุทร และการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง โดย IPBC มีเวทีสำหรับการประชุมอภิปรายที่เปิดกว้างสำหรับหน่วยงานรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์การระหว่างประเทศ และสถาบันวิจัย เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจากทั่วโลกในการสร้างแนวทางการแก้ปัญหา ตลอดจนร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
                     2. ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับหนังสือจาก IPBC เพื่อเชิญเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน IPBC ในนามของประเทศไทย ซึ่ง ทส. เห็นว่าการเป็นพันธมิตรของ IPBC จะทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถประสานความร่วมมือกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านบลูคาร์บอน โดยนักวิชาการของไทยจะได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในนโยบายและการแลกเปลี่ยนทางเทคนิคเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในระดับโลก ทั้งนี้ ทีมประสานงานของ IPBC คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน สิ่งแวดล้อมและน้ำ ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งทีมประสานงานของ IPBC จะเป็นผู้ดูแลการดำเนินงานของพันธมิตร ซึ่งรวมถึงการติดต่อกันระหว่างพันธมิตรการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ
                     3. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
                               1) การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรไม่มีค่าธรรมเนียม แต่เป็นในลักษณะของการร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเป็นเจ้าภาพในการประชุมเชิงปฏิบัติการและ/หรือกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นประโยชน์สำหรับการหารือระดับกลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายและด้านเทคนิค หรือสนับสนุนเอกสารแนวทางและสื่อประชาสัมพันธ์ ตลอดจน   การสนับสนุนเงินทุน (Funding) หรือการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ (in-kind support) สำหรับกิจกรรม การบริหารและประชาสัมพันธ์ของสำนักเลขาธิการ IPBC
                               2) การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน IPBC จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่เชื่อมโยงกับแนวคิดบลูคาร์บอน รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลักดันการดำเนินงานและการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม หรือข้อริเริ่มใหม่ ๆ   อีกทั้งเป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรจากการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านวิทยาศาสตร์นโยบาย และการจัดการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญ คือ ป่าชายเลนและหญ้าทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อตอบสนองนโยบายตามพันธกิจต่าง ๆ [เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ความตกลงปารีส (Paris Agreement) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) เป้าหมายภายใต้กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ]
 
26. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA) ครั้งที่ 7

                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia : CICA) ครั้งที่ 7 จํานวน 4 ฉบับ โดยหากมีความจําเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายสามารถพิจารณาดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยจะรายงานผลให้ทราบในภายหลัง
                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ CICA ครั้งที่ 7 ร่วมรับรองเอกสารทั้ง 4 ฉบับ
                  สาระสำคัญของเรื่อง
                  การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ CICA ครั้ง 7 จะจัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ซึ่งในการประชุมจะมีการรับรองเอกสารจํานวน 4 ฉบับ (แบบออนไลน์) เพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ ของการประชุมดังกล่าว รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                 (1) ร่างแถลงการณ์คณะมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ CICA เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีของปฏิญญาว่าด้วยหลักการกำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก CICA เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐสมาชิก CICA มีสาระสําคัญในการยืนยันว่าปฏิญญาดังกล่าวยังคงเป็นหลักสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิก CICA โดยการสร้างความเชื่อมั่น ความร่วมมือ และการตัดสินใจโดยยึดหลักฉันทามติการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนที่เอื้อต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองทั่วทั้งภูมิภาค (2) ร่างข้อตัดสินใจของที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเอกสารระบุข้อตัดสินใจของที่ประชุมรัฐมนตรีของ CICA เพื่อนํามาใช้ในการปฏิบัติตามมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของ CICA ในปัจจุบันมีสาระสําคัญ 5 หมวด ได้แก่ 1) ขอบเขตอํานาจหน้าที่ของผู้ประสานงานและผู้ประสานงานร่วม 2) เอกสารแนวคิดและแผนปฏิบัติการในกรอบที่มีความสําคัญ 3) การทบทวนการดําเนินการตามมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ 4) การแลกเปลี่ยนข้อมูล และ 5) ข้อบทสุดท้าย (ระบุถึงรายละเอียดการแก้ไขร่างข้อตัดสินใจฉบับนี้ การปรับปรุงรูปแบบการดําเนินการตามมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของ CICA และบทบาทของสํานักงานเลขาธิการ CICA ในการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการและด้านวิชาการให้แก่รัฐสมาชิก) (3) ร่างข้อตัดสินใจของคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโสในการปรับปรุงบัญชีรายชื่อมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของ CICA ให้เป็นปัจจุบัน มีสาระสําคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีรายชื่อมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของ CICA และ (4) ร่างข้อกําหนดการประชุมสุดยอดด้านการเงินของ CICA มีสาระสําคัญเป็นการกําหนดวัตถุประสงค์ โครงสร้าง และรูปแบบการดําเนินงานของการประชุมสุดยอดด้านการเงินภายใต้ CICA ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการดําเนินมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของ CICA ในด้านการเงิน ซึ่ง กต. (กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างเอกสารทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีถ้อยคําหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
27. เรื่อง ร่างบันทึกการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาชั้นนําของรัฐสมาชิกการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
                  1. เห็นชอบร่างบันทึกการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาชั้นนําของรัฐสมาชิกการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ร่างบันทึกการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือฯ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคําที่มิใช่สาระสําคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย (ไทย) ให้ อว. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                  2.  อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference of Interaction and Confidence Building Measures in Asia: CICA) ครั้งที่ 7 ร่วมรับรองร่างบันทึกการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือฯ
                 สาระสำคัญ 
                 CICA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือในการส่งเสริมสันติภาพเสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียโดยหลักการฉันทามติ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกและความสมัครใจ ครอบคลุมความร่วมมือ 5 มิติ ได้แก่ (1) การเมืองและการทหาร (2) เศรษฐกิจ(3) ภัยคุกคามและสิ่งท้าทายใหม่ (4) สิ่งแวดล้อม และ (5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบันมีรัฐสมาชิก จํานวน 28 ประเทศ ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกลําดับที่ 17 เมื่อปี 2547 ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ CICA ครั้งที่ 7 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวและร่วมรับรองร่างบันทึกการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือฯ ที่มุ่งเน้นการจัดตั้งเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาชั้นนําของรัฐสมาชิก CICA  (Partnership Network of Leading Universities of the CICA Member States: PNLU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา การวิจัย และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

 
28. เรื่อง สรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาค  เอเชีย – แปซิฟิก
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยน   ผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (การประชุมฯ) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

 
                      สาระสำคัญ
                     1. การประชุมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ประเด็น ผลการประชุม
การแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงนโยบายในการสร้างอนาคตดิจิทัลที่ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ESCAP ได้นำเสนอผลการศึกษาที่สำคัญจากรายงานการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ค.ศ. 2024 ซึ่งระบุถึงความสำคัญของการเร่งรัดการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว รวมถึงบทบาทของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืนภายใต้บริบทของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในการนี้ ปลัด ดศ. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายของประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ
(เช่น โครงการการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐ การสนับสนุนผู้พิการ ผ่านการให้คูปองดิจิทัลเพื่อสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์) รวมถึงการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาดิจิทัลที่ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน
การส่งเสริมดิจิทัลโซลูชันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ESCAP ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีใน
การประยุกต์ใช้ดิจิทัลโซลูชันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนดิจิทัลโซลูชัน รวมถึงข้อริเริ่มของรัฐบาลสาธารณรัฐคาซัคสถานในการเสนอจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลโซลูชันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้บริการดิจิทัลโซลูชันที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคเอเชียกลางและภูมิภาคอื่น ๆ โดยศูนย์ดิจิทัลโซลูชันจะจัดตั้งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคภายใต้ ESCAP ต่อไป
การเสริมสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ESCAP ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อริเริ่มในระดับโลกและระดับภูมิภาคเกี่ยวกับความร่วมมือด้านดิจิทัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามข้อริเริ่มทางด่วน ข้อมูลสารสนเทศแห่งเอเชียและแปซิฟิก ค.ศ. 2022 – 2026 ที่ให้ความสำคัญกับความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางดิจิทัลการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ข้อมูลดิจิทัล เพื่อเร่งการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 
                     2. นอกจากนี้ ปลัด ดศ.  ยังได้มีการหารือทวิภาคีกับกระทรวงการพัฒนา ดิจิทัล นวัตกรรม และอุตสาหกรรมอวกาศของสาธารณรัฐคาซัคสถาน และได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุม สรุปได้ ดังนี้

ประเด็น ผลการประชุม
การหารือทวิภาคี การผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่าง ดศ. กับกระทรวงการพัฒนาดิจิทัล นวัตกรรมและอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะมีการดำเนินการความร่วมมือผ่านกลไกที่เป็นรูปธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องของดิจิทัลโซลูชัน และหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
การเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน (1) ปลัด ดศ. ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในเวทีการหารือระดับสูงเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ในหัวข้อ (1.1) Emerging Technology for Tackling Air Pollution and Climate Change และ (1.2) Digital Public Services for Enhanced Competitiveness of Small and Medium - sized Enterprises
(2) การเข้าร่วมชมนิทรรศการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและดิจิทัลโซลูชัน
ซึ่งเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภาครัฐ และภาคเอกชนของสาธารณรัฐคาซัคสถานในด้านต่าง ๆ เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เทคโนโลยีของภาครัฐ (Government Technology) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่
(Big Data) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ของ ESCAP

 
                     3. ดศ. แจ้งว่า การประชุมฯ และการรับรองปฏิญญาอัสตานาฯ เป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในทุกมิติที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล-การนำเทคโนโลยีดิจิทัล ICT และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลและนำไปสู่การสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม มั่นคงปลอดภัย และยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
 
29. เรื่อง สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินทางเยือนกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ครั้งที่ 5 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency: IRENA) (การประชุมฯ) รวมทั้งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 และการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 18 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ สาระสำคัญ
ภาพรวม
การประชุม
(1) ประเทศสมาชิกอาเซียนหารือร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้
แผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 - 2568 (APAEC Phase II: 2021 - 2025) ทั้ง 7 สาขา ได้แก่ ด้านไฟฟ้า ปิโตรเลียม ถ่านหินสะอาด ประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงานภูมิภาค และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวเครือข่ายความร่วมมือ ด้านการกํากับกิจการพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสําคัญในการดําเนินงาน
ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงได้เป็นประธานสาขาประสิทธิภาพ
และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการดําเนินการที่สําคัญ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาเซียนได้ร้อยละ 24.5 การหารือในระดับรัฐมนตรีกับประเทศคู่เจรจา
และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน
ตามแผน APAEC Phase II
(2) ที่ประชุมฯ ได้มีการร่วมรับรองร่างเอกสารสําหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ร่างเอกสารฯ) จํานวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ถ้อยแถลงร่วมสําหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 (2) ถ้อยแถลงร่วมสําหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 และ                          (3) ถ้อยแถลงร่วมสําหรับการประชุมรัฐมนตรีโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 5
(3) รับทราบรายงานทิศทางอนาคตพลังงานของอาเซียนที่คาดว่าจะมีความต้องการ
ใช้พลังงานมากขึ้นประมาณสามเท่าภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับปี 2565
ซึ่งภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมมีแนวโน้มใช้พลังงานมากที่สุด ขณะที่ภาคครัวเรือน
จะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมสู่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและไฟฟ้าในการประกอบอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะลดการใช้ถ่านหิน
และใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
(4) ไทยหารือทวิภาคีกับ สปป.ลาว และมาเลเซียถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือ ด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งหารือพหุภาคี 4 ฝ่ายร่วมกับ สปป.ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ เกี่ยวกับความสําเร็จของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (Lao PDR - Thailand - Malaysia - Singapore Power Integration Project: LTMS - PIP) ระยะที่ 1 ซึ่งได้ดําเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2565 - มิถุนายน 2567 ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมยินดีกับการเริ่มซื้อขายไฟฟ้าระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อต่อยอดเข้าสู่การดําเนินโครงการ LTMS - PIP ระยะที่ 2 ด้วย
(5) แสดงความยินดีกับคณะผู้ประกอบการจากประเทศไทยที่เข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจําปี 2567 ซึ่งไทยได้รับรางวัลมากที่สุดในปีนี้ จํานวน 24 รางวัล
ประเด็นที่ไทยผลักดัน ไทยได้ผลักดันความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
(1) การเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยได้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงไฟฟ้าต่าง ๆ ในภูมิภาค และสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยมุ่งเน้นความสอดคล้อง
กับแนวนโยบายของไทยและผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย
(2) สนับสนุนความร่วมมือในการสํารองน้ำมันภายใต้กรอบอาเซียนบวกสาม โดยไทย
อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายการสํารองน้ำมันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ
(3) ผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับ สปป.ลาว และความร่วมมือด้าน
ก๊าซธรรมชาติกับมาเลเซีย
ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกัน
(4) เน้นย้ำการปฏิรูประบบพลังงานและการผลักดันการสํารองน้ำมันและก๊าซ
เชิงยุทธศาสตร์
 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่กับการลดการใช้ถ่านหิน

                     พน. แจ้งว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นโอกาสในการส่งเสริม แสวงหาและต่อยอดความร่วมมือด้านพลังงานของไทยทั้งในเชิงพหุภาคีและทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา
และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ ศักยภาพ และแนวนโยบายพลังงานของไทย
ซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานควบคู่กับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายต่อไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพลังงานของไทยในเวทีนานาชาติด้วย
 
30. เรื่อง การขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
                     1. รับทราบผลการเข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก (Indo – Pacific Economic Framework: IPEF) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) ระหว่างวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2567 และ การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป
                     2. มอบหมายให้ กต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือ IPEF ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติตามความตกลงในแต่ละเสาความร่วมมือ (Pillar) และการดำเนินข้อริเริ่มและโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุม และยั่งยืน
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF และ IPEF Clean Economy Investor Forum เมื่อวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2567 ณ สิงคโปร์ ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจาก 13 ประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไดนารุสซาลาม ฟีจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม และมีนักลงทุนและผู้บริหารบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
                               1.1 การประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เป็นประธานร่วม โดยที่ประชุมได้หารือถึงพัฒนาการความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Pillar II: Supply Chain) เสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pillar III: Clean Economy) เสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Pillar IV: Fair Economy) และแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมลงนามความตกลง IPEF จำนวน 3 ฉบับ (ตามมติคณะรัฐมนตรีข้อ 2) พร้อมทั้งย้ำความพร้อมร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีจากประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าการลงทุน และแสวงหาโอกาสในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในหลายมิติ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสะอาด ห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ ระบบและเกษตร
                               1.2 การประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (sustainable infrastructure) และเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (climate tech) ในประเทศหุ้นส่วน IPEF ซึ่งมีรัฐมนตรี นักลงทุน บริษัทกองทุนชั้นนำ ภาคเอกชน และบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนา climate tech ในประเทศ และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนตร์ไฟฟ้า รวมทั้งนำเสนอจุดแข็งของประเทศไทยในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร การกำหนดนโยบายภาครัฐที่แน่ชัดเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และปลดระวางการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การจัดหาพลังงานหมุนเวียน การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว การพัฒนาตลาดคาร์บอน เป็นต้น นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้จัดทำข้อเสนอโครงการลงทุนด้าน sustainable infrastructure และบริษัทด้าน climate tech ที่ได้รับคัดเลือกมาพบปะกับนักลงทุนและบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา และประเทศที่สนใจเพื่อส่งเสริมโอกาสความร่วมมือในการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยในภาพรวมมีข้อเสนอโครงการด้าน sustainable infrastructure จากประเทศหุ้นส่วน IPEF ต่าง ๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีโครงการที่พร้อมดำเนินการทั้งหมด 20 โครงการ โดยในส่วนของประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมนำเสนอ 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงรังสิต - บางปะอิน (M5) โดยกรมทางหลวง มูลค่าการลงทุน 837.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (2) โครงการด้านการดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture and Utilization: CCU) มูลค่าการลงทุน 15 - 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                     2. การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในระยะต่อไป เช่น (1) ประเทศหุ้นส่วน IPEF มีแผนที่จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF สำหรับเสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้าในเดือนธันวาคม 2567 (2) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการต่อต้านการทุจริตและการจัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ (3) ในส่วนของการดำเนินการภายในประเทศ กต. จะร่วมกับหน่วยงานหลักของเสาความร่วมมือ (Pillar Lead) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติตามความตกลงของแต่ละเสาความร่วมมือควบคู่ไปกับการติดตามข้อริเริ่มและโครงการความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เช่น ความร่วมมือด้านแร่ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไซเบอร์และเทคโนโลยีอุบัติใหม่
                     3. โดยที่ประเทศไทยได้ดำเนินการให้สัตยาบันข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง IPEF เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (ความตกลงฯ) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ทำให้ความตกลงฯ ได้เริ่มมีผลผูกพันกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2567 กต. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือ  IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทาน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานในระยะต่อไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องและพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ความตกลงฯ ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนความร่วม IPEF ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
31. เรื่อง ผลการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                     1. ผลการประชุมระดับผู้นํากรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue Summit: ACD Summit) ครั้งที่ 3 (ผลการประชุมระดับผู้นํา ACD)
                     2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าตามตารางติดตามผลการประชุมระดับผู้นํา ACD
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     1. รัฐกาตาร์เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นํา ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้ หัวข้อหลักการทูตผ่านกีฬา (Sports Diplomacy) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยที่ประชุมระดับผู้นํา ACD ได้มีการรับรองปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการทูตผ่านกีฬาที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งมีสาระสําคัญเน้นการขับเคลื่อนให้ ACD เป็นเวทีหารือที่ก้าวข้ามการเมืองและยอมรับความแตกต่างด้วยการทูตผ่านกีฬา มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแก้ไขปัญหาความท้าทายและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างสร้างสรรค์
                     2. นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นํา ACD โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                               2.1 ย้ำความสําคัญของการร่วมมือกันในทวีปเอเชียเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะการเสนอทางออกสําหรับความท้าทายที่สําคัญ ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และความเชื่อมโยง
                               2.2 กรอบความร่วมมือเอเชียจะมีบทบาทที่ครอบคลุมทุกประเทศ ในเอเชีย และไทยมุ่งหวังให้กรอบความร่วมมือเอเชียที่เป็นแกนกลางในการผลักดันประเด็นผลประโยชน์ของเอเชียในห้วงศตวรรษแห่งเอเชีย
                               2.3 ไทยจะใช้โอกาสในฐานะประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย วาระปี 2568ทําหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) ประสานผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน โดยมุ่งมั่นที่จะ (1) รื้อฟื้นและสนับสนุนกิจกรรมภายใต้ 6 เสาหลักความร่วมมือ(2) ส่งเสริมการทํางานร่วมกันระหว่าง ACD กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เช่น อาเซียน (ASEAN) กลุ่ม BRICS คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และ (3) เสนอแนวคิดการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงินที่สมดุลและยืดหยุ่น และสอดคล้องกับประเด็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาของสหประชาชาติ (Financing for Development) ผ่านการจัดการประชุมหารือระดับสูงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางการเงิน
                     3. กต. เห็นว่า ผลการประชุมระดับผู้นํา ACD มีประเด็นสําคัญซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้

ประเด็น ประเด็นที่ต้องดําเนินการ เช่น
1. การขับเคลื่อน 6 เสาความร่วมมือตามแผนงานกรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2021 - 2030 (จําแนกตามเสาความร่วมมือ)
 - ความเชื่อมโยง (ตุรกีและรัสเซียเป็นประเทศผู้ร่วมขับเคลื่อนหลัก)
- วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (อินเดียเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก)
- การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (อิหร่านเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก)
- ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (จีนเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก)
- ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (อิหร่านเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก)
- ความร่วมมือด้านการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และครอบคลุม (ไทยเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก)
- เข้าร่วมการประชุมคณะทํางาน หรือให้ความเห็นต่อการจัดกิจกรรมหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งริเริ่มจัดกิจกรรมที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไทย
- ผลักดันความร่วมมือและกิจกรรมตามแผนงานกรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2021 – 2030
หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กค. พณ. คค.
- พิจารณาการตั้งเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยว ACD ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ACD ในปี 2568
หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กก. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
2. การเพิ่มเสาความร่วมมือด้านการค้าและการขาดทุน - พิจารณาขอบเขต บทบาทและกิจกรรมของเสาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน
- พิจารณาข้อเสนอแนะและท่าทีของไทยเกี่ยวกับการจัดตั้งเสาความร่วมมือ
ด้านการค้าการลงทุน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กค. พณ.
3. การเสนอแนวคิดการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงินที่สมดุลและยืดหยุ่นและสอดคล้องกับประเด็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาของสหประชาชาติ (Financing for Development: FfD) - พิจารณาเสนอแนวคิดการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงินที่สมดุลและยืดหยุ่น
- ศึกษาการสร้างแพลตฟอร์มด้านการเงินและการพัฒนาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในเอเชีย (Asian-owned Credit Rating Agencies) เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากสถาบันดังกล่าวในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กค.

 

แต่งตั้ง

 
32. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
                     1. นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล เป็นประธานกรรมการ 
                     2. นายพณิชย์ วิทยาภัทร์ (ด้านการบริหาร) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     3. นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา (ด้านผังเมือง) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     4. นางสาวสมฤดี จิตรจง (ด้านการท่องเที่ยว) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดสันต์ สุทธิพิศาล (ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     6. นางอังคณา อุทัยแสงชัย (ด้านสิ่งแวดล้อม) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                     ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
 
33. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กระทรวงมหาดไทย)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายราชันย์ ซุ้นหั้ว เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง แทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก                ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
 
34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้ 1. นางสุพิชชา จันทรโยธา 2. นางสุภา หารหนองบัว 3. นายสมหมาย เตชวาล 4. นางบุษบา ฤกษ์อำนวยโชค
                     ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
 
35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง   (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติรับโอน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง    เป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว
 
36.  เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายปารเมศ  โพธารากุล เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์)]
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
 
37. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (กระทรวงพาณิชย์)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จำนวน 14 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
                     1. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาศิลปศาสตร์
                     2. นายคณิต วัฒนวิเชียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาวิทยาศาสตร์
                     3. นายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขารัฐศาสตร์
                     4. นายวินัย สมประสงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาเกษตรศาสตร์
                     5. นายสมชาย รัตนชื่อสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขานิติศาสตร์ 
                        (ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค)
                     6. นายสมหมาย เตชวาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาภูมิศาสตร์
                     7. นางสาวกริชผกา บุญเฟื่อง สาขานิติศาสตร์
                     8. พันตำรวจเอก ประเวศน์ มูลประมุข สาขารัฐศาสตร์
                     9. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ สาขาเกษตรศาสตร์
                     10. นายสถิระ อุดมศรี สาขาเกษตรศาสตร์
                     11. นางพรพิณี บุญบันดาล สาขาเกษตรศาสตร์
                     12. นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์  สาขาประวัติศาสตร์
                     13. นางธิติมา มิ่งโมฬี สาขาวิทยาศาสตร์
                     14. นางสาวศศิวิมล มีจรูญสม  สาขาวิทยาศาสตร์ 
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม


ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/91467