สาระน่ารู้


สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 27 กุมภาพันธ์ 2567


                    วันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2567  เวลา 09.00 น.  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

 

กฎหมาย

                     1.        เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. ….
                    2.        เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

เศรษฐกิจ-สังคม

 
                     3.        เรื่อง     การจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 2 ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
                     4.        เรื่อง     รายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)]
                     5.        เรื่อง     สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมกราคม 2567
                     6.        เรื่อง     รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2566
                     7.        เรื่อง     การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2567 - 2569
                    8.        เรื่อง     รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                     9.        เรื่อง     แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค
                     10.      เรื่อง     การปรับวันพิจารณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
                     

ต่างประเทศ

 
                     11.      เรื่อง     เอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 และร่างแถลงการณ์ระดับสูง (High-Level Statement)
                     12.      เรื่อง     การเสนอร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570
                    13.      เรื่อง     การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ
 

แต่งตั้ง

                     14.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                     15.      เรื่อง     การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
                     16.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  (กระทรวงการต่างประเทศ)
                     17.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     18.      เรื่อง     แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว
                     2. รับทราบแผนในการจัดทำฎหมายลำดับรอง กรอบเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
                     ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดหลักประกันในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่    ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้สามารถนำทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของตนเองและครอบครัว และกำหนดให้บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอาจยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและลดขั้นตอนการดำเนินการและภาระค่าใช้จ่ายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ปปง. ในการรวบรวมหลักฐานและการดำเนินคดีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน พ.ศ. .... และกฎกระทรวงการยื่นคำร้องขอดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ พ.ศ. ....
                     สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                     1. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่ดำเนินการให้บุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (บุคคลที่ถูกกำหนด) หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ในค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของคู่สมรส บิดา มารดา และบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลที่ถูกกำหนดด้วย เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
                     2. กำหนดห้ามบุคคลช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด โดยการจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลที่ถูกกำหนด เพื่อตัดช่องทางการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนบุคคลที่ถูกกำหนดในการนำเงินหรือทรัพย์สินไปใช้ในการกระทำความผิด
                     3. กำหนดให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน  มิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เช่น มาตรการในการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดบทลงโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืน ไม่กำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความ จึงระบุให้ชัดเจนในกรณีสำนักงานที่ดิน เนื่องจากไม่ใช่หน่วยงานที่มีความเสี่ยงโดยตรงในการติดต่อกับผู้ใช้บริการที่จะเข้าข่ายเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย)
                     4. กำหนดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลที่ถูกกำหนดสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการมาชำระหนี้ให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนด จะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
                     5. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือการยึด อายัดหรือริบทรัพย์สิน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่สอบถามหรือเรียกผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพส่งเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารต่าง ๆ มาใช้ในการกำหนด และเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด โดยอาจร้องขอข้อมูลที่อยู่ในความครอบครอง หรือควบคุมดูแลของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐก็ได้
                     6. กำหนดเพิ่มเติมความผิดในฐานต่าง ๆ เช่น ฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ฝ่าฝืนให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด ฝ่าฝืนไม่มาให้ถ้อยคำ   ไม่ส่งคำชี้แจง หรือไม่ส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐาน และแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้มีอัตราโทษที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
                     1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     2. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการด้านความปลอดภัยของผู้รับใบอนุญาต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. ....
                               1.1 กำหนดระดับของเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีมี 4 ระดับ ได้แก่ (1) เหตุฉุกเฉินสาธารณะ (2) เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ตั้งสถานประกอบการ (3) เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ปฏิบัติงานทางนิวเคลียร์และรังสี (4) เหตุแจ้งเตือน
                               1.2 กำหนดให้การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ แบ่งออกเป็น 4 จำพวก โดยใช้เกณฑ์ของการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการตอบสนองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเป็นเกณฑ์ในการจัดจำพวกดังกล่าว เช่น
                                         จำพวกที่ 1 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลังเกินกว่า 100 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการสถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เพิ่งนำออกจาก   แกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งมีค่ากัมมันตภาพจากซีเซียม 137 เกินกว่า 0.1 เอกซะเบ็กเคอเรล
                                         จําพวกที่ 2 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลังเกินกว่า 2 เมกะวัตต์ (ความร้อน) แต่ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการ สถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่เพิ่งนำออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งจำเป็นต้องระบายความร้อนตลอดเวลา
                                         จำพวกที่ 3 อาทิ การดำเนินการสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาดกำลัง   ไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ (ความร้อน) การดำเนินการสถานประกอบการที่อาจก่อให้เกิดอัตรา ปริมาณรังสีต่อร่างกายโดยตรงเกินกว่า 100 มิลลิเกรย์ต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร หากเสียวัสดุกำบังไป
                                         จำพวกที่ 4 อาทิ การดำเนินการการครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีที่  อาจก่อให้เกิดอัตราปริมาณรังสีต่อร่างกายโดยตรงเกินกว่า 1 มิลลิเกรย์ต่อชั่วโมง ที่ระยะ 1 เมตร หากเสียวัสดุ   กำบังไป
                               1.3 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนป้องกันและมีข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเพื่อการรักษาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การกำหนดขีดจำกัดปริมาณรังสีของผู้ปฏิบัติงาน การจัดให้มีบุคคลหรือหน่วยงานในการตอบสนอง การจัดให้มีการอบรมและติดประกาศถึงขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และ   รังสี การจัดให้มีการฝึกซ้อมแผน เป็นต้น 
                               1.4 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ดำเนินการจำพวกที่ 1 ถึงจำพวกที่ 4 มีหน้าที่ในการจัดทำและดำเนินการ
                                         1.4.1 จำพวกที่ 1 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทุกระดับ กำหนดเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการรองรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (เขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้า เขตป้องกันเร่งด่วน เขตป้องกันระยะยาว และเขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์)1 และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้แก่ มาตรการป้องกันล่วงหน้าและป้องกันเร่งด่วน
                                         1.4.2 จำพวกที่ 2 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีทุกระดับ กำหนดเขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการรองรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (เขตป้องกันเร่งด่วน เขตป้องกันระยะยาว และเขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์) และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
                                         1.4.3 จำพวกที่ 3 มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้ครอบคลุมระดับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตามข้อ 1.1 (3) และ (4) และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพิ่มเติมในแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในส่วนของมาตรการเร่งด่วน
                                         1.4.4 จำพวกที่ 4 หน้าที่จัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้ครอบคลุมระดับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตามข้อ 1.1 (4)
                     2. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และสถานที่ให้บริการ จัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. ....
                               2.1 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องดังนี้ เช่น (1) การรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคาร (2) แบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบประปา ก๊าซ ไฟฟ้า เครื่องกล ความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น และการป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย (3) แบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม
                               2.2 กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในเรื่องดังนี้ (1) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะอาคารของโรงงานหรือลักษณะภายในของโรงงาน (2) กำหนดลักษณะ ประเภทหรือชนิดของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน    (3) กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ กรรมวิธีการผลิตและการจัดให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใด เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน
                               2.3 กำหนดให้การออกแบบและการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ให้คำนึงถึงหลักการความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ซึ่งประกอบด้วยหลักการควบคุม อันตรกิริยานิวเคลียร์และรังสี การระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากอันตรกิริยานิวเคลียร์ และการกักเก็บวัสดุกัมมันตรังสีและการกำบังรังสี
                               2.4 กำหนดให้อาคารและโครงสร้างนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้รวมถึงข้อกำหนดทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับฐานราก และโครงสร้างในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
                               2.5 กำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ดังนี้ (1) ระบบป้องกันเพลิงไหม้เป็นข้อกำหนดที่ใช้สำหรับอาคารที่ใช้จัดเก็บหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (2) ระบบระบายอากาศ ระบบกรองอากาศ และระบบน้ำทิ้งเพื่อป้องกันมิให้รังสีออกสู่ภายนอกสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ทั้งทางการระบายอากาศและระบบน้ำทิ้งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการปล่อยทิ้งกากกัมมันตรังสี โดยกำหนดให้มีการควบคุมช่องทางเข้าออกของอากาศและการกรองวัสดุกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในอากาศและการบำบัดน้ำทิ้งก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (3) คอนเทนเมนต์ (containment)3 และคอนไฟน์เมนต์ (confinement)4 เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบกักเก็บรังสี สำหรับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ประเภทสถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ทางนิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน โดยควบคุมการกักเก็บกัมมันตรังสีภายในขอบเขตแรงดันน้ำหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และมีข้อกำหนดสำหรับถังหรือบ่อปฏิกรณ์ของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ประเภทที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการวิจัยด้วย
_____________________
1 (1) เขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้า (precautionary action zone หรือ PAZ) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับการป้องกันอันตรายจากผลกระทบทางรังสีนอกเหนือจากเขตป้องกันเร่งด่วน
  (2) เขตป้องกันเร่งด่วน (urgent protective action planning zone หรือ UPZ) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันอันตรายทางรังสีได้ทันที
  (3) เขตป้องกันระยะยาว (extended planning distance หรือ EPD) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบทางรังสีนอกเหนือจากเขตเตรียมการป้องกันล่วงหน้าและเขตป้องกันเร่งด่วน
  (4) เขตป้องกันการบริโภคและโภคภัณฑ์ (ingestion and commodities planning distance หรือ ICPD) ที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีการเตรียมการตอบสนองเพื่อปกป้องห่วงโซ่อาหารน้ำดื่ม และเครื่องอุปโภคจากการปนเปื้อนด้วยวัสดุกัมมันตรังสีอย่างมีนัยสำคัญและเพื่อป้องกันประชาชนจากการบริโภคอาหารและน้ำดื่มและจากการใช้เครื่องอุปโภคที่อาจมีการปนเปื้อนด้วยวัสดุกัมมันตรังสี
2 โรงงานที่มีแรงม้าของเครื่องจักรมากกว่า 500 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ เป็นโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน จึงจะตั้งโรงงานได้
3 containment หมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างกักอากาศ (air-tight) ล้อมรอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อกักเก็บวัสดุกัมมันตรังสีที่อาจออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยมากมักเป็นรูปโดมและทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก
4 confinement หมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างล้อมรอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อจำกัดวัสดุกัมมันตรังสีที่ออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยผ่านกระบวนการหรือช่องทางที่กำหนดไว้
 

เศรษฐกิจ-สังคม

 
3. เรื่อง การจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 2 ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำาหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด Soft Loan) คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,453.11 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

การจ่ายเงินชดเชยตามพระราชกำหนด Soft Loan

จำนวน (ล้านบาท)

1) เงินชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันการเงิน (จำนวน 24 แห่ง)

1,312.11

2) เงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 (จำนวน 12 แห่ง)

60.63

3) เงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 2 (จํานวน 12 แห่ง)

80.37

รวมทั้งสิ้น

1,453.11

ทั้งนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กค. จะดำเนินการยื่นขอรับจัดสรรงบกลาง รายการ เงินสำรองจ่าย   เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามขั้นตอนต่อไป
                     ทั้งนี้ กค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและและเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และรอบแรกครั้งที่ 2 ของสถาบันการเงิน ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด Soft Loan)      เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,453.11 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกำกับการจ่ายชดเชยในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2566     เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณเงินชดเชยดอกเบี้ยและเงินชดเชยความเสียหาย สำหรับการคำนวณเงินชดเชยรอบแรก ครั้งที่ 1 ของสถาบันการเงิน จำนวน 1,372.74 ล้านบาท และผลการคำนวณเงินชดเชยความเสียหายสำหรับการคำนวณเงินชดเชยรอบแรก ครั้งที่ 2 ของสถาบันการเงิน จำนวน 80.37 ล้านบาท ตามลำดับ โดยได้ผ่านกระบวนการสอบทานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว รวมถึงได้แจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้สถาบันการเงินผู้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยเพื่อทราบ โดยสถาบันการเงินไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด และได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจ้งจำนวนเงินชดเชยดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
 
4. เรื่อง รายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)]
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการและความเห็นในภาพรวมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
                     เรื่องเดิม
                     คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) รับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 [เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)] ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของ ผผ. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วให้ สธ. สรุปผลการพิจารณา /ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
                     สาระสำคัญ
                     สธ. รายงานว่า ได้รวบรวมและสรุปผลการพิจารณาฯ ในภาพรวมแล้ว สรุปได้ ดังนี้

ข้อเสนอแนะของ ผผ. [ตามมติคณะรัฐมนตรี
(28 พฤศจิกายน 2566)]

ผลการดำเนินการ/ความเห็นเพิ่มเติม

1. ให้รัฐบาลผลักดันเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันเชิงนโยบายให้หน่วยงานดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรต่อไป

ผลการดำเนินการ
สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับชาติ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
- จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์  โดยยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาระบบ
บริการสาธารณสุขและสร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งมีการดำเนินงานเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการป้องกันภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์และลดความพิการแต่กำเนิด (โครงการสาวไทยแก้มแดง)1 และโครงการวิวาห์สร้างชาติ2 ซึ่งทั้ง 2 โครงการให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมภาวะโลหิตจางและป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก โดยการส่งเสริมโภชนศึกษาและการเสริมวิตามินธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก 2.8 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ให้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ตามชุดสิทธิประโยชน์
- ศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติได้มีการให้บริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดครอบคลุมทั่วประเทศและรายงานผลการตรวจคัดกรองเพื่อให้ได้รับการรักษาทันเวลา
- พัฒนาเรื่องการดำเนินงานการจดทะเบียนพิการแต่กำเนิดระดับประเทศ

2. ให้รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน เพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องการป้องกันความพิการ
แต่กำเนิดในระดับชาติและระดับจังหวัดอันจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการดำเนินการ
สธ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษาและป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด โดยมีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน อนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีรองอธิบดีกรมอนามัยและรองอธิบดีกรมการแพทย์เป็นเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันพิจารณาจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษาและป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำคำสั่ง สธ. เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและ                 กรดโฟลิก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก (MCH Board) 3 ต่อไป

3. ให้รัฐบาลผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร

ผลการดำเนินการ
- คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้พัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขภายใต้รายการหรือกิจกรรมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีรายการบริการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและลดความพิการแต่กำเนิดภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น หญิงตั้งครรภ์ได้รับยาเสริมธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม กรดโฟลิก (วิตามิน B9) 0.4 มิลลิกรัม  ไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน รับประทานทุกวันตลอดการตั้งครรภ์หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 25-45 ปี ได้รับธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัมและกรดโฟลิก (วิตามิน B9) 2.8 มิลลิกรัม ต่อสัปดาห์ สปสช. ได้ปรับการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการที่ให้บริการยาดังกล่าวเป็นการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) กรณีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับบริการพื้นฐาน4 เช่น บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก 80 บาทต่อครั้ง (แบบเหมาจ่ายคนละ 1 ครั้งต่อปี) โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ณ หน่วยบริการสาธารณสุข ทั้งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการร่วม เช่น ร้านขายยา คลินิกพยาบาล

4. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ สธ. ในด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาว รวมถึงการจัดทำนโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพประชากรสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป

ผลการดำเนินการ
สธ. สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณและหาแหล่งเงินทุนเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) สำหรับพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับประเทศ
สสส. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพต่าง ๆ

5. ให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการความร่วมมือในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรทราบถึงประโยชน์ของการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) โดยประชาสัมพันธ์สร้างความรอบรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายและช่องทางอื่นตามบริบทของพื้นที่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

          (1) สธ. ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้
และรณรงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์และการเข้าถึงโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ตลอดจนรับรู้สิทธิและประโยชน์ของตนเองเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ผลการดำเนินการ
สธ. ได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรอบรู้และความตระหนักแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรผ่านช่องทาง                ต่าง ๆ ในเรื่องของประโยชน์และการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของการได้รับบริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)
สธ. ขยายผลโครงการสาวไทยแก้มแดงในสถานประกอบการ โดยกรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสู่ระดับพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากโดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566มีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 115 แห่ง ครอบคลุมหญิงวัยเจริญพันธุ์ 35,973 คน

          (2) ศธ. ร่วมกับ สธ. จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สุขศึกษารอบด้านในทุกระดับชั้นอย่างเหมาะสมกับอายุและมีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงประโยชน์ของโฟลิก เอซิด  (วิตามิน B9) รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ เช่น สภานักเรียน สภาเด็กและเยาวชน

ผลการดำเนินการ
ศธ. จัดทำกรอบหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาการเรียนรู้ด้านสุขศึกษาแก่เยาวชนทุกระดับและเหมาะสมตามวัยโดยมุ่งเน้นให้เด็กเยาวชนหญิงมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด  (วิตามิน B9)

          (3) กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. ให้หน่วยงานในสังกัดหรือกำกับ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนผ่านหอกระจายข่าวอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ผลการดำเนินการ
มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กำกับ ดูแลการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

          (4) พม. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รวมถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับประชาชน วัยรุ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัว และชุมชนได้รับทราบ

ผลการดำเนินการ
พม. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิแก่เด็กและเยาวชน จัดบริการสวัสดิการ และประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดภายใต้ภารกิจการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี

          (5) รง. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ เกี่ยวกับประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) และอนามัยเจริญพันธุ์ การเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ในสถานประกอบการ

ความเห็นเพิ่มเติม
รง.พร้อมสนับสนุนการบูรณาการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ ในสถานประกอบการ ทั้งนี้ รง. มีภารกิจในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพการจ้างงาน สภาพการทำงาน สวัสดิการแรงงาน โดยได้ปรับปรุงชุดบริการสุขภาพในสถานประกอบการภายใต้สิทธิประกันสังคมให้มีรายการบริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์เช่นเดียวกับการบริหารงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.

          (6) สปสช. ชี้แจงทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานแก่หน่วยงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน

ผลการดำเนินการ
สปสช. ได้ดำเนินการจัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข รายการบริการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและลดความพิการแต่กำเนิด ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ณ หน่วยบริการสาธารณสุข ทั้งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการร่วม เช่น ร้านขายยา คลินิกพยาบาล

          (7) สสส. บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการผลิตสื่อและสื่อสารสู่ประชาชนในช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินการ
สสส. ได้ผลักดัน สนับสนุน ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพภายใต้แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว และแผนสนับสนุนการสร้างเสริมระบบบริการสุขภาพ

          (8) องค์การเภสัชกรรมควรผลิตโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ในราคาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ผลการดำเนินการ
องค์การเภสัชกรรมได้วิจัย พัฒนา และผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ในประเทศที่วางแผนจะมีบุตรและมารดาในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร จำนวน 5 รายการ5
สธ. สำรวจคุณภาพยาเม็ดโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 5 มิลลิกรัม โดยการตรวจวิเคราะห์ตามข้อกำหนดมาตรฐานของตำรับยาสากล เพื่อให้ได้ยาที่มีมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัย
ความเห็นเพิ่มเติม
องค์การเภสัชกรรมเห็นว่า หากมีการผลักดันรายการยาดังกล่าวเข้าชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาในกลุ่มเป้าหมาย

6. ให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC)

ผลการดำเนินการ
สธ. พัฒนาระบบเฝ้าระวังความพิการแต่กำเนิดระดับประเทศจากแหล่งข้อมูลความพิการแต่กำเนิดที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และพัฒนา Template ตัวชี้วัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์หญิงวัยเจริญพันธุ์ เด็กปฐมวัย รวมถึงตัวชี้วัดติดตามการได้รับยาน้ำและยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็กวัยเรียน เพื่อใช้ในการกำกับติดตามสถานการณ์ในระบบคลังข้อมูลสุขภาพ
 
ความเห็นเพิ่มเติม
สธ. เห็นว่า
การบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิของมารดาในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ยังขาดการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
- ควรเร่งรัดสื่อสารประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติงานตามข้อเสนอของ ผผ. ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตลอดจนภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งกำหนดกลไกเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาอุปสรรคและการกำกับ ติดตามประเมินผลที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

7. ให้มีการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ อสม. เป็นผู้นำความรู้ในเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดแก่ประชาชนในชุมชน

ผลการดำเนินการ
สธ. ได้ผลิตสื่อสำหรับ อสม. เพื่อใช้ในการสื่อสารและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมงานอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งพัฒนาทักษะและให้คำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์และความสำคัญของการได้รับวิตามินโฟลิก                 เอซิด (วิตามิน B9) แก่ อสม.

8. ให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันความพิการแต่กำเนิดโดยให้มีการเต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในระดับจังหวัด
เพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการตามนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

ผลการดำเนินการ
สธ. อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. เพื่อพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว

ให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีจังหวัดนำร่องเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด

ผลการดำเนินการ
สธ. อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. เพื่อพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว

___________
โครงการสาวไทยแก้มแดง เป็นโครงการรณรงค์เพื่อลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงวัยเจริญพันธุ์สู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด
2โครงการวิวาห์สร้างชาติ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้คู่รักทุกคู่มีการเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานและมีบุตร รวมถึงส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ใช้ชีวิตคู่และวางแผนที่จะมีบุตรได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก สัปดาห์ละ 1 เม็ด ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด
3คณะกรรมการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก มีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์อนามัยแม่และเด็กและจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอนามัยแม่และเด็ก มีการกำหนดการประชุมคณะกรรมการฯ ทุก 3 เดือน
4เป็นการจ่ายชดเชยสำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการเฉพาะของประชาชนทุกสิทธิ
5วิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) จำนวน 5 รายการได้แก่ (1) Ferrofolic (Iron 60 mg/Folic acid 2.8 mg (2) Folic F GPO (Folic acid 0.4 mg) (3) Triferdine (lodine 0.15 mg Folic acid 0.4 mg/Iron 60.81 mg (4) lolic (Iodine 0.15 mg/Folic acid 0.4 mg และ (5) Folic acid tablet (Folic acid 5 mg)
 
 
 
5. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมกราคม 2567
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมกราคม 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ 
                     สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง

 

  1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนมกราคม 2567 ดังนี้

                     ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.11 (YOY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือนมกราคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.83 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข  (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย)
                    สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 พบว่า ประเทศไทยสูงขึ้นเพียง ร้อยละ 1.23 อยู่ระดับต่ำอันดับที่ 9 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลขสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของหลายประเทศที่มีทิศทางชะลอตัวจากปี 2565 ค่อนข้างชัดเจน
                     อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงร้อยละ 1.11 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
                     หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.13 ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 E20 E85 และค่ากระแสไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน) นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตามการจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย ทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น รวมถึง สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และแชมพูสระผม ราคาปรับลดลงเช่นกัน สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระค่าแต่งผมสตรี เครื่องถวายพระ ค่าทัศนาจรต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์ ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน
                     หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 1.06 ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ผักสด (มะเขือ มะนาว แตงกวา) และผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ลองกอง มะม่วง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว กะทิสำเร็จรูป น้ำพริกแกง กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)
                     ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.28  โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่ลดลงติดต่อกัน 4 เดือน ซึ่งปรับสูงขึ้นทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (โฟมล้างหน้า น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ราคาปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ เสื้อและกางเกงสตรี อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.31 ตามการลดลงของข้าวสารเหนียว ขนมปังปอนด์ ไข่ไก่ นมเปรี้ยว ผักสดและผลไม้ (มะเขือเทศ ผักคะน้า พริกสด ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ปลานิล กะทิสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำหวาน กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)
 

  1. แนวโน้มเงินเฟ้อ

                     แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์  17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567  และ (2) ผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น (2) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น (3) ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ (4) การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว หลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทย ของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น
                     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
                     ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2567 ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นโดยปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 54.5 จากระดับ 54.8 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีฯ ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น (ดัชนีฯ มีค่าตั้งแต่ระดับ 50 ขึ้นไป) คาดว่ามาจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน และยางพารา ประกอบกับภาครัฐดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ส่วนปัจจัยกดดันที่ทำให้               ดัชนีฯ ปรับลดลงเล็กน้อย อาทิ ปัญหาหนี้สินในครัวเรือนและรายได้ที่ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพเท่าที่ควร
 
6. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2566
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)  เสนอ
                     สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                     ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ CLMV ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนธันวาคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ               ปีก่อน คือ
                     1. รถยนต์ หดตัวร้อยละ 20.59 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยหดตัวจากตลาดในประเทศ (-30.66%) ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่ามากขึ้น ประกอบราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงต่อเนื่องกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่
                     2. น้ำตาล หดตัวร้อยละ 22.93 จากการเปิดหีบช้ากว่าปีก่อน 10 วัน (ปีก่อนเปิดหีบ 1 ธ.ค. 65) เนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่เพาะปลูกเป็นอุปสรรคต่อการเข้าตัดอ้อย ส่งผลต่อปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีก่อน
                     3. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 12.61 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก เป็นไปตามทิศทางความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
                     อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                     1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 7.22 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซหุงต้ม เป็นหลัก ตอบสนองการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงปีก่อนโรงกลั่นเริ่มกลับมาผลิตปกติหลังหยุดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า
                     2. สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 43.29 จากสายไฟฟ้าเป็นหลักตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ (+55.55%) หลังได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐและความต้องการใช้ในภาคเอกชนขยายตัว
                     3. กระดาษ ขยายตัวร้อยละ 20.28 จากกระดาษคราฟท์และเยื่อกระดาษเป็นหลักตามความต้องการใช้ในบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า
 
7. เรื่อง การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2567 - 2569
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก1 [World Trade Organization (WTO)] โดยให้เปิดตลาด 1 ปี (ปี 2567) สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ) เสนอ ดังนี้

ชนิดสินค้าเกษตร

ปริมาณโควตา (ตันต่อปี)

อัตราภาษี

1. เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่

3.15

- ในโควตาร้อยละ 0
- นอกโควตาร้อยละ 218

2. หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผง และไม่เป็นผง)

1,256.50

- ในโควตาร้อยละ 27
- นอกโควตาร้อยละ 142

3. หัวพันธุ์มันฝรั่ง

ไม่จำกัดจำนวน

- ในโควตาร้อยละ 0
- นอกโควตาร้อยละ 125

4. หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป

 ปี 2567 จำนวน 75,500

- ในโควตาร้อยละ 27
- นอกโควตาร้อยละ 125

และให้คณะกรรมการฯ รับไปพิจารณาหารือเรื่องความเหมาะสม ราคา ช่วงระยะเวลาการนำเข้าไม่ให้กระทบกับการผลิตสินค้าของไทย
ทั้งนี้ การบริหารการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและการกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง (คณะอนุกรรมการ)
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ รายงานว่า
                     1. คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลง WTO ปี 2567 - 2569 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ซึ่งมีปริมาณโควตาและอัตราภาษีแตกต่างจากที่ผูกพันไว้กับ WTO โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
 
 
                               1.1 ปริมาณโควตาและอัตราภาษี

ชนิดสินค้าเกษตร/รายการ

ที่ผูกพันตามกรอบ WTO2

ที่ขอเปิดตลาดในครั้งนี้

1) เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่

ปริมาณโควตา (ตันต่อปี)

3.15

อัตราภาษีในโควตา

ร้อยละ 30

ร้อยละ 01

อัตราภาษีนอกโควตา

ร้อยละ 218

2) หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผงและไม่เป็นผง)

ปริมาณโควตา (ตันต่อปี)

365

1,256.502

อัตราภาษีในโควตา

ร้อยละ 27

อัตราภาษีนอกโควตา

ร้อยละ 142

3) หัวพันธุ์มันฝรั่ง

ปริมาณโควตา (ตันต่อปี)

302

ไม่จำกัดจำนวน3

อัตราภาษีในโควตา

ร้อยละ 27

ร้อยละ 03

อัตราภาษีในนอกโควตา

ร้อยละ 125

4) หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป

ปริมาณโควตา (ตันต่อปี)

302

ปี 2567 จำนวน 75,500

อัตราภาษีในโควตา

ร้อยละ 27

อัตราภาษีนอกโควตา

ร้อยละ 125

หมายเหตุ : 1เป็นการขอลดอัตราภาษีในโควตาจากที่ผูกพันไว้ภายใต้กรอบความตกลง WTO เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงและราคาถูกเพื่อใช้ในการเพาะปลูกหอมหัวใหญ่สำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ
             2เป็นการขอเพิ่มปริมาณโควตาการนำเข้าจากที่ผูกพันไว้ภายใต้กรอบความตกลง WTO เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตหอมหัวใหญ่ชนิดหั่นผงและหั่นแห้งได้ และมีความจำเป็นต้องนำเข้าเพราะเป็นส่วนผสมของสินค้าแปรรูป เช่น ผงชูรสในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีความต้องการบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องเพิ่มปริมาณโควตาให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าว
             3ปริมาณโควตาและอัตราภาษีในโควตาไม่เป็นไปตามกรอบความตกลงที่ผูกพันไว้กับ WTO เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้มีหัวพันธุ์มันฝรั่งทันกับฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกรและมีผลผลิตเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อเพาะปลูกทุกปี การไม่เก็บภาษีจึงช่วยลดภาระต้นทุนของเกษตรกรลงได้
                               1.2 การบริหารการนำเข้า

ชนิดสินค้าเกษตร

การบริหารการนำเข้า

1) เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่

ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ

2) หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผงและไม่เป็นผง)

ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้บริหารการนำเข้า เพื่อจัดสรรให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ

3) หัวพันธุ์มันฝรั่ง

อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ได้แก่
1) ให้มีการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปีละ 3 ครั้ง โดยผู้ที่ต้องการจะนำเข้าต้องจัดทำหนังสือและแจ้งความประสงค์มายังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรภายในระยะเวลาที่กำหนด
2) ให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า
3) ให้ผู้นำเข้าทำหนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีทะเบียนเกษตรกรและข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์มันฝรั่ง โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรอง และในกรณีที่บริษัทนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง
4) ผู้นำเข้าต้องจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งให้แก่เกษตรกรไม่เกินกิโลกรัมละ 35 บาท และรับซื้อหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ดังนี้
          - ในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม - ธันวาคม) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท
          - ในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม - มิถุนายน) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท

4) หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป

อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ได้แก่
1) ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคล
2) ผู้นำเข้าหรือผู้แทนนำเข้าต้องรับซื้อหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ดังนี้
          - ในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม - ธันวาคม) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท
          - ในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม - มิถุนายน) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท
และมอบหมายคณะอนุกรรมการจัดการฯ พิจารณาราคาประกันขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดในแต่ละปีต่อไป ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้ามีการรับซื้อในราคาต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจะมีผลต่อการพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าในปีต่อไป
3) ให้มีการนำเข้าในเดือนมกราคม และเดือนกรกฎาคม - ธันวาคมของทุกปี1 โดยการนำเข้าในเดือนมกราคมให้นำเข้าไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรในโควตาของผู้ประกอบการแต่ละราย

หมายเหตุ : 1ฤดูการเพาะปลูกของมันฝรั่งจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ดังนั้น การกำหนดให้นำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม จะเป็นการลดความขาดแคลนของหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปและทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการของตลาด
                     2. คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ได้มีการวิเคราะห์การเปิดตลาดเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามกรอบความตกลง WTO ปี 2567 - 2569 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ ว่าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหอมหัวใหญ่ (ชนิดแห้งเป็นผงและไม่เป็นผง) ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย รวมถึงหัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปในประเทศไทยมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ดังกล่าวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตภายในประเทศ และเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าในราคาที่เหมาะสม รวมถึงให้สหกรณ์ซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย ทั้งนี้ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลง WTO 2567 - 2569 เป็นการดำเนินการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547) โดยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป โดยหากสินค้ารายการใดจำเป็นต้องเปิดตลาด และมีปริมาณในโควตา อัตราภาษีในและนอกโควตาแตกต่างจากที่กำหนด [มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539] ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบทุกรายการเป็นแต่ละครั้งไป
 
_________________
1 WTO เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศและเป็นเวทีสำคัญในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า รวมทั้งจัดทำกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศมีความเสรีมากขึ้นบนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WTO ตั้งแต่ปี 2538 และได้ผูกพันสินค้าเกษตรทั้งหมด 23 รายการ (รวมถึงเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง) ไว้ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการเกษตรของ WTO ทั้งนี้ WTO ได้กำหนดมาตรการโควตาอัตราภาษีเพื่อกำกับดูแลการนำเข้า ซึ่งการนำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีทั้งในและนอกโควตาตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ
2 ปริมาณโควตาและอัตราภาษีที่ผูกพันภายใต้ WTO ตั้งแต่ปี 2539 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539
 
8. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ               พ.ศ. 2566
                        คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) เสนอดังนี้
                     1. รับทราบสรุปรายงานผลการดำเนินงานของ กปช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                     2. มอบหมายหน่วยงานภาครัฐรับข้อเสนอของประชาชนไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                     3. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย (มท.) เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนในพื้นที่และสั่งการให้หน่วยงานในระดับจังหวัดสนับสนุนและประสานการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ         
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กปช. รายงานว่า ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการภายใต้ กปช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ผลการดำเนินงานของ กปช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปได้ ดังนี้
                     1. การสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อสารที่สำคัญของประเทศและเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสม เสริมสร้างค่านิยมที่ดีในสังคม โดยคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ กำกับ ติดตาม และประเมินผล
                               1.1 การประเมินผลการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 7 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้

เรื่อง

ผลการรับรู้/ข้อเสนอของประชาชน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(1) การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ
หมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy: BCG
Economy)

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 78.36 โดยให้ความสนใจแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรสื่อสารโดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงวิธีการที่เป็นรูปธรรม เช่น ลดการใช้ทรัพยากร ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้โซล่าเซลล์ผลิตพลังงานเพื่อใช้ในครัวเรือนคาร์บอนเครดิตและเศรษฐกิจหมุนเวียน และควรเน้นการสื่อสารแบบสองทางผ่านสื่อบุคคล เพื่อให้ความรู้และรายละเอียดและเมื่อประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น จึงสื่อสารทางเดียวด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 86.93 โดยคาดหวังกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก เช่น โครงการกระตุ้นการใช้จ่ายและการได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง มุ่งเน้นการสื่อสารฟื้นฟูตลาดแรงงานโดยเฉพาะเด็กจบใหม่ เพื่อพัฒนาความสามารถให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ

- กระทรวงการคลัง
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)
- กระทรวงพาณิชย์
- กระทรวงแรงงาน (รง.)

(3) การบริหารจัดการระบบสาธารณสุข
และสถานการณ์โรคอุบัติใหม่

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 90.41 โดยควรเน้นย้ำให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบการสื่อสารที่น่าสนใจ เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ในทุกช่วงวัย เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เข้าใจง่าย และควรเน้นให้ความรู้เรื่องพืชสมุนไพรทางการแพทย์โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจและอาจนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

(4) สังคมสูงวัยกับวิถีชีวิต
ในอนาคต

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 92.50 โดยส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลข่าวสารเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ เช่น การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ และควรพัฒนาแอปพลิเคชันทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ข้อมูลและบริการครบทุกวงจร เช่น สุขภาพ การเงินและการออมสวัสดิการภาครัฐ ผลิตภัณฑ์และความบันเทิง

- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- มท.
- กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
- สธ.

(5) การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 98.75 โดยเสนอว่าควรผลิตสื่อและนำเสนออย่างมีความรับผิดชอบเพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทัน เช่น สนับสนุนมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ จัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดจากเกมสู่สายอาชีพ (E-sports) ผลักดันกฎหมายกำกับดูแลไซเบอร์ช่องทางการร้องเรียนแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวจากฐานข้อมูลภาครัฐ

- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
- กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
- สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.)
[สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)]

(6) ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของไทย

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 97.75 โดยเสนอว่าควรมุ่งเน้นการสื่อสารสร้างค่านิยมไทยร่วมสมัยให้ประชาชนตระหนักว่าการประพฤติตนตามคุณธรรมและค่านิยมพื้นฐานเป็นเรื่องที่ควรทำไม่ควรเป็นการบังคับ เช่น ความรับผิดชอบต่อสังคม การเคารพกฎหมาย การเคารพสิทธิของผู้อื่นและการยอมรับความแตกต่างตลอดจนธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ เช่น ละครเสริมสร้างคุณธรรม การใช้สื่อบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม

- วธ.
- ศธ.
- นร. (สปน. และ กปส.)

(7) ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ

ประชาชนรับรู้คิดเป็นร้อยละ 89.50 โดยเสนอว่าควรเพิ่มความถี่ในการสื่อสารช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐควรขี้แจงนโยบายและข้อเท็จจริงภายใต้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการปราบปรามการทุจริตที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานภาครัฐอย่างมีธรรมาภิบาล

- มท.
- กระทรวงยุติธรรม (ยธ.)
- นร. (สปน. และ กปส.)
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                                         ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายฯ ได้กำหนดเรื่องสื่อสารสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ (1) การส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (2) การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย (3) การสร้างการรับรู้ความเข้าใจและปลูกฝังพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (4) การพัฒนาสังคมและส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยกับยุคปัจจุบัน (5) การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล และ (6) ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐและจะได้ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป         
                               1.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) และจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการตามแนวทางการพัฒนาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่องาน “PR Plan for all สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ รวมพลังขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เพื่อสื่อสารให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเข้าใจแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 311 คน
                     2. การสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทยต่อประชาคมโลกโดยคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 23 หน่วยงาน ได้ผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องที่สำคัญด้านต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้

เรื่อง

ผลการดำเนินงาน

(1) BCG Economy เศรษฐกิจยุคใหม่... เพื่ออนาคตไทย

เน้นประชาสัมพันธ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy การเกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ 5 อุตสาหกรรม S-curves หลัก1 และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น สกู๊ปข่าว สปอตวิทยุ ข่าวแจก ดิจิทัลโพสต์ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ

(2) Tech and Innovation and Cooperation นวัตกรรมไทย
ไฮ-เทคโนโลยี
และความร่วมมือ
ระหว่างประเทศ

เน้นประชาสัมพันธ์ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ Start-up เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) และได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น สกู๊ปข่าวคลิปวิดีโอ ดิจิทัลโพสต์ รายการวิทยุ การสัมภาษณ์

(3) Health Care
ความก้าวหน้า
ทางการแพทย์
ระดับโลก

เน้นประชาสัมพันธ์การจัดอันดับโลกด้านสาธารณสุข การให้บริการสาธารณสุขการแพทย์ทางไกล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งการมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ข่าว อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ รายการวิทยุ สปอตวิทยุ ป้ายแบนเนอร์

(4) Thai Soft Power
ความเป็นไทยสู่สากล

เน้นการประชาสัมพันธ์ความเป็นไทย เช่น อาหารไทย ศิลปะการแสดง งานฝีมือและหัตถกรรม ประเพณีเทศกาล มวยไทย วัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F (Food, Film, Fashion, Fighting, Festival) เทศกาลประเพณีไทย ตามนโยบายของรัฐบาล และได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น สกู๊ปข่าว คลิปวิดีโอ แผ่นพับ รายการโทรทัศน์

                               นอกจากนี้ ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ประจำปี พ.ศ. 2567 ในหัวข้อ “สื่อสารประเด็นชัด มัดใจไทยและเทศ” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เพื่อกำหนดประเด็นเรื่องสื่อสารสำคัญด้านต่างประเทศ ดังนี้ (1) Economic Growth การเจริญเติบโต โอกาส และความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ (2) Health Care ความก้าวหน้าทางการแพทย์ระดับโลก (3) Environmental Management การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และ (4) Social Development and Cultural Promotion การส่งเสริมการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ได้มีมติเห็นชอบประเด็นเรื่องสื่อสารดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
                     3. การส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อและข่าวปลอม (Fake News) สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านช่องทางที่น่าเชื่อถือ มีผลการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
                               3.1 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุกควบคู่กับการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร โดยจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานและผลตอบรับของประชาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ผลิตสื่อสร้างสรรค์ “รายการเปลี่ยนโฉมประเทศไทย” เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาประเทศนวัตกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ออกอากาศทาง NBT 2 HD และเพจข่าวจริงประเทศไทย การจัดการข่าวปลอมหรือ (Fake News) ผ่านรูปแบบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พร้อมระบบชี้แจงประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและนำไปขยายผลส่งต่อให้ประชาชนทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและเพจข่าวจริงประเทศไทย ได้เผยแพร่การแก้ไขข่าวปลอมไปแล้วกว่า 5,000 เรื่อง
                               3.2 คณะอนุกรรมการพัฒนาคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ ได้จัดทำ (ร่าง) โครงการพัฒนาคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ2 เพื่อช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลข่าววิกฤตและภาวะปกติ แก้ไขปัญหาการเกิดข่าวปลอมได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการป้องกันและเตรียมรับมือกับปัญหาข่าวปลอมในอนาคตที่จะรุนแรงขึ้น โดยที่ประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
                     4. การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัล โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะเดิม (Up-Skill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Re-Skill) ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารมวลชนของภาครัฐในยุคดิจิทัล ได้แก่ หลักสูตร “รู้เท่าทันสื่อ” และ “การสื่อสารในภาวะวิกฤต” เพื่ออบรมบุคลากรภาครัฐผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชน รวมถึงพัฒนาหลักสูตร “นักประชาสัมพันธ์และสื่อสารของภาครัฐ (PR Change Agent Project)” เพื่ออบรมบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศทั้ง 20 กระทรวง ให้มีทักษะและความรู้ในการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมในปี 2566 โดยเน้นรายวิชาการสื่อสารในยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนำกรอบหลักสูตร “การสื่อสารยุคดิจิทัล” ไปใช้ในการจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 6,934 คน รวมถึงการกำหนดตำแหน่งและสร้างกรอบหลักสูตรเพื่อพัฒนา “ผู้บริหารจัดการข่าวสารของภาครัฐระดับสูง (Chief Information Management Officer: CIMO) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของหน่วยงานโดยจะนำเสนอ กปช. พิจารณาต่อไป
                     5. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาภายใต้นโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติในระดับจังหวัด โดยคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติระดับจังหวัด 76 จังหวัด เช่น ประชาสัมพันธ์มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล “ฟื้นฟูประเทศด้วยการท่องเที่ยว” กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภาคบริการทั้งด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนผ่านเรื่องสื่อสารที่สำคัญระดับประเทศตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ของหน่วยงานในพื้นที่ การประเมินความพึงพอใจงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐในพื้นที่
_________________________
1 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (2) การแปรรูปอาหาร (3) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (4) การแพทย์ครบวงจร และ (5) การท่องเที่ยว
2 ระบบคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะมี 5 ส่วน ได้แก่ (1) ระบบฐานข้อมูลข่าวสารภาครัฐ (2) ระบบจัดเก็บและคัดกรองสื่อออนไลน์ (3) ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวสารภายในประเทศ (4) ระบบแสดงผลตรวจสอบข่าวสาร และ (5) ระบบแจ้งเตือนความน่าเชื่อถือของข่าวสารสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
9. เรื่อง แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค
                     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                     เรื่องเดิม
                     คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 พฤศจิกายน 2566) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่าปัจจุบันการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยให้เติบโตต่อไป สมควรจะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริม และกำกับดูแลการประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยอย่างเป็นระบบครบวงจรเป็นการเฉพาะ โดยมอบหมายให้ อก. รับเรื่องนี้ไปประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความจำเป็น เหมาะสม และเป็นไปได้ในการยกระดับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและจัดตั้งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องนี้อย่างครบวงจรเป็นการเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในภูมิภาคนี้ต่อไป
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     อก. รายงานว่า
                     1. ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการยกระดับหน่วยงานในการส่งเสริมและกำกับดูแลอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทย อก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินการหารือกับสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อวางกลไกขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ประกอบด้วย แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล ในรูปแบบศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล (ระยะสั้น) ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) และแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) โดยทั้งสองแนวทางเห็นควรมีข้อเสนอกลไกการบริหารงานที่จะต้องมีผู้แทนการค้าไทยด้านฮาลาล (Halal Thai Trade Representative: HTTR) เพื่อเป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจากับต่างประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ ท่าที ของรัฐบาลตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งจะทำให้กลไกการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                     2. อก. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) (คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ) ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธานกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลเสนอแนะสิทธิประโยชน์ให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพ มาตรฐาน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
                     3. คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง กอฮช. และเห็นชอบแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล
                     4. อก. ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ เพื่อเป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอจัดตั้ง กอฮช. เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                               4.1 ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

หัวข้อ

สาระสำคัญ

(1) หลักการและเหตุผล

          (1.1) สถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล ในปี 2564 ตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารฮาลาลธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย (เติบโตร้อยละ 12.5) เป็นต้น และกลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป (เติบโตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 8.6) เป็นต้น โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราและเอเชียใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ และ 3,500 ร้าน ตามลำดับ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 (มีแนวโน้มลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน) สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่งที่มีมากกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งด้านสินค้าและบริการโดยเฉพาะสินค้าอาหาร เนื่องจากไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น หากประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างบูรณาการและเป็นระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป
          (1.2) ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับฮาลาลกระจายอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เช่น กษ. (กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) อก. (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ หน่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ครอบคลุม/ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่งผลต่อการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่อาจจะล่าช้า รวมถึงอายุการรับรองมีระยะสั้นและค่าใช้จ่ายสูงเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ

(2) วิสัยทัศน์

ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571

(3) วัตถุประสงค์

          (3.1) เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ของฮาลาลของประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน
          (3.2) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อน Soft Power ของไทย
          (3.3) เพื่อลดข้อจำกัดและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งบูรณาการการทำงานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล

(4) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม

          (4.1) อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (เช่น Snack Bar)
          (4.2) แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง
          (4.3) ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางฮาลาล
          (4.4) โกโก้ฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง
          (4.5) บริการและท่องเที่ยวฮาลาล

(5) ตัวชี้วัด (ระยะ 5 ปี)

          (5.1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
          (5.2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571

(6) มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ

          (6.1) มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย (Demand) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ
          (6.2) มาตรการที่ 2 การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Supply) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ และการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก
          (6.3) มาตรการที่ 3 การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Ecosystems) ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center) (ศูนย์ฯ) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย

(7) กรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ

          (7.1) ในปีแรกใช้พื้นที่ของสถาบันอาหารเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ฯ ภายใต้ อก. (อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ : สถาบันอาหาร) และในระยะต่อไป ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามตัวชี้วัด เพื่อยกระดับจัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกรม หรือองค์การมหาชน ตามความเหมาะสมต่อไป
          (7.2) องค์ประกอบของศูนย์ฯ ประกอบด้วย ผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) ทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในส่วนของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้ยืมตัวข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทอำนวยการหรือบริหารใน อก. เพื่อปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ในระยะทดลอง 1 ปี) สำหรับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ให้ยืมตัวข้าราชการ พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง [ตามข้อ (1.2)] (ในระยะทดลอง 1 ปี)
          (7.3) โครงสร้างของศูนย์ฯ ประกอบด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และฝ่ายพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

(8) ตัวชี้วัดการดำเนินงานในระยะ 1 ปีแรก

          (8.1) การจัดงานเปิดตัว (Kick Off) อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อแสดงศักยภาพสินค้าฮาลาลไทย จำนวน 1 ครั้ง (กำหนดจัดในเดือนมีนาคม 2567)
          (8.2) การจัดทำกรอบความร่วมมือและเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย จำนวน 2 กรอบความร่วมมือ
          (8.3) การขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยเข้าร่วมงาน Halal Fair ในประเทศไทย จำนวน 2 ครั้ง และร่วมงานแสดงสินค้าฮาลาล (Halal Expo) ในต่างประเทศ จำนวน 2 ครั้ง
          (8.4) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) จำนวน 1 ระบบ
          (8.5) การจัดตั้งศูนย์ฯ และศึกษารูปแบบองค์กรที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลในอนาคต โดย อก. จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้พิจารณาการจัดตั้งศูนย์ฯ และกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ และประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานในระยะ 1 ปีแรกเพื่อปรับบทบาทหน่วยงานตามความเหมาะสมในระยะต่อไป

(9) งบประมาณ

วงเงินจำนวน 1,230 ล้านบาท

(10) ระยะเวลา

5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ 2567 - 2571)

                               4.2 การจัดตั้ง กอฮช.
                                         4.2.1 องค์ประกอบ ประกอบด้วย 1) รองนายกรัฐมนตรี (ที่กำกับการบริหารราชการ อก. หรือผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล) ประธานกรรมการ 2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รองประธานกรรมการ 3) กรรมการจากภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 15 คน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                                         4.2.2 หน้าที่และอำนาจ เช่น
                                                   (1) กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย เพื่อส่งเสริมการผลิต การจำหน่ายในประเทศและการส่งออก
                                                   (2) บูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงานและงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้มีความสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล
                                                   (3) กำกับ ดูแล และเร่งรัดการดำเนินการของส่วนราชการและองค์กร   ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ
                                                   (4) ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
                     5. การดำเนินการในระยะต่อไป อก. จะได้ขับเคลื่อนตามแนวทางข้างต้น ดังนี้
                               5.1 กราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) หรือมอบหมายผู้แทนการค้าไทยท่านใดท่านหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทาง และกำกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ รวมถึงพิจารณาองค์ประกอบของ กอฮช. และพิจารณาให้มีคำสั่งแต่งตั้ง กอฮช. ตามขั้นตอนต่อไป
                               5.2 นำเรื่องการจัดตั้งศูนย์ฯ และกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ เสนอสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณา และประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานในปีแรกเพื่อปรับบทบาทหน่วยงานตามความเหมาะสมในระยะต่อไป
                               5.3 นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
                     6. การดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงกระตุ้นการบริโภค การลงทุนและการส่งออกสินค้าของไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ภายใน 5 ปี ส่งผลให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571 และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค
 
10. เรื่อง การปรับวันพิจารณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบการปรับวันพิจารณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567) ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
                     สาระสำคัญ
                     สงป. รายงานว่า
                     การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ               งบฯ ปี พ.ศ. 25671 จึงมีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ให้ปรับกำหนดวันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี  พ.ศ. 2567 ดังนี้

ลำดับ

วัน/เดือน/ปี

ขั้นตอนและกิจกรรม

เดิม
ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (มติคณะรัฐมนตรี
14 พฤศจิกายน 2566)

ข้อเสนอในครั้งนี้
มติคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
งบฯ ปี พ.ศ. 2567
(14 กุมภาพันธ์ 2567)

การอนุมัติงบประมาณ

1

3 - 4 เมษายน 2567

20 - 21 มีนาคม 2567

สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 วาระที่ 2 - 3

2

9 - 10 เมษายน 2567

25 - 26 มีนาคม 25672

วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567

3

17 เมษายน 2567

3 เมษายน 2567

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

_____________________
1 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 ได้รับการแต่งตั้งในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 ให้แล้วเสร็จทันภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
2 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีกำหนดแถลงข้อเท็จจริงหรือเข้าชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 ส่งผลให้วันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 ของวุฒิสภา คงเหลือวันที่ 26 มีนาคม 2567 เพียงวันเดียว
 

ต่างประเทศ

 
11. เรื่อง เอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 และร่างแถลงการณ์ระดับสูง (High-Level Statement)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อม                         แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 (ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ) และร่างแถลงการณ์ระดับสูง High-Level Statement on Plastic Pollution, including in the Marine Environment (ร่างแถลงการณ์ระดับสูงเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก โดยกลุ่มเอเชียแปซิฟิก สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ)
                     2. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยขอให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
(จะมีการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1  มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา)
                     สาระสำคัญ
                     การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ -               1 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ภายใต้หัวข้อหลัก “การดำเนินการพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ” เพื่อเตรียมความพร้อม และระดมความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และผู้แทน ทส. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย             ซึ่งในการประชุมจะมีการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ดังนี้
                     1. ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ มีเป้าหมายเพื่อรับมือกับความท้าทายปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม                 ทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ และการตัดไม้ทำลายป่า อย่างมีประสิทธิผล ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1) ภัยคุกคาม สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษ เช่น  (1) รับทราบถึงภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม (2) ตระหนักว่าการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิทั่วโลกให้ได้ถึงร้อยละ 43 ภายในปี ค.ศ. 2030และลดลงร้อยละ 60 ภายในปี ค.ศ. 2035 และมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050* 2) การดำเนินการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น มุ่งมั่นที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องชุมชนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยแล้ง ฝนตกหนัก ไฟป่า และน้ำท่วม
                     2. ร่างแถลงการณ์ระดับสูงฯ ซึ่งเสนอโดยสาธารณรัฐสิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในการสนับสนุนและส่งเสริมความพยายามระดับโลกในเรื่องมลพิษจากพลาสติก ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1) สนับสนุนแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล 2) ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของพลาสติก 3) พยายามเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิม ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง และระบบภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ปัญหาของมลภาวะจากพลาสติก 4) มุ่งมั่นที่จะดำเนินการ และระบุแนวทางแก้ไขเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติกที่สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะของประเทศนั้น ๆ
­­­­­­­­______________________________
*ในส่วนของประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึงร้อยละ 30 - 40 ภายในปี พ.ศ. 2573
 
12. เรื่อง การเสนอร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอดังนี้
                     1. ร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า1ของประเทศไทย (Decent Work Country Program: DWCP) (ร่างแผนงาน DWCP) วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) โดยหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ รง. ดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบในภายหลัง
                    2. ให้ปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในฐานะรัฐบาลไทย ร่วมกับผู้แทนองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
(มีกำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ พร้อมทั้งเปิดตัวแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร)
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     รง. รายงานว่า
                     1. ร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 เป็นแผนงาน DWCP ฉบับที่ 2 ของไทย (ฉบับแรก คือ วาระปี 2562-2564 และขยายระยะเวลาไปจนถึงปี 2565) โดยแผนงาน DWCP เป็นกรอบความร่วมมือที่ ILO จัดทำร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศสมาชิกผ่านการวางกลยุทธ์แนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจน สอดรับกับบริบทและวาระเร่งด่วนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับมิติและพันธสัญญาในการพัฒนาระดับชาติและระดับนานาชาติของไทย รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ทั้งนี้ การจัดทำและขับเคลื่อนแผนงาน DWCP จะต้องดำเนินการในลักษณะไตรภาคีผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย
                     2. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 คณะกรรมการไตรภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบโครงร่างแผนงาน DWCP เพื่อให้ ILO ขอรับความเห็นต่อร่างแผนงานฯ ฉบับสมบูรณ์จากกลไกรับรองคุณภาพของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 ได้ผ่านความเห็นชอบจากกลไกรับรองคุณภาพของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศฯ เรียบร้อยแล้ว โดยร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 มีประเด็นความสำคัญ 3 ประการ2 ดังนี้
                               2.1 ความสำคัญที่ 1 อนาคต (Future) พัฒนาตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พัฒนาทักษะและอาชีพสำหรับแรงงานในอนาคต โดยระบุทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพิ่มการจับคู่ในตลาดแรงงาน และเพิ่มการลงทุนในทุนมนุษย์ ปรับปรุงการเข้าถึงดิจิทัลและทักษะดิจิทัลเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเศรษฐกิจฐานศิจิทัลและตลาดแรงงาน ส่งเสริมงานสีเขียวเพื่องานที่มีคุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของไทยด้วยการให้สัตยาบันพิธีสารระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาหลัก ปรับปรุงกฎหมายแรงงานไทย และการเพิ่มการตระหนักรู้ สร้างงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุ โดยยกระดับการแนะแนวอาชีพ บริการจัดหางานภาครัฐ สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะดิจิทัล สำหรับเยาวชน สตรี คนพิการและผู้สูงอายุ
                               2.2 ความสำคัญที่ 2 เข้าถึง (Reach) รับรองการคุ้มครองทางสังคม และงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองทางสังคมเพื่อมอบสิทธิคุ้มครองที่ครอบคลุมและเพียงพอ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคม สร้างความมั่นคงทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมให้องค์กรนายจ้างและลูกจ้างครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและวิสาหกิจที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ทั่วถึง โดยเพิ่มตัวแทนในกลุ่มต่าง ๆ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างศักยภาพ เพิ่มโอกาสในการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางและกลุ่มพิเศษ โดยสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ขจัดรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
                               2.3. ความสำคัญที่ 3 เชื่อมต่อ (Connect) เสริมความแข็งแกร่งในการจัดการข้อมูล การสื่อสาร และศักยภาพของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการกำหนดเป้าหมายและการจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาฐานข้อมูล Big data ระหว่างหน่วยงาน การจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่เครื่องมือและความรู้ในวงกว้าง ส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและการผลักดันนโยบาย โดยยกระดับการเจรจาทางสังคมระดับทวิภาคี การให้สัตยาบันอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง และการปรับปรุงพัฒนาการสื่อสารระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์กรคู่งานและสาธารณชน โดยเพิ่มความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการติดตามและประเมินผล เพิ่มการสื่อสารระหว่าง ILO และองค์กรคู่งาน รวมถึงเพิ่มการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน
                     3. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลไทย (รง.) องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้าง และ ILO เพื่อดำเนินการตามแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมและเพียงพอสำหรับแรงงานทุกคน เสริมความเข้มแข็งในการจัดการข้อมูล สื่อสาร และศักยภาพของรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน รวมทั้งยึดถือประเด็นสำคัญ 3 ประการ (ตามข้อ 2) ทั้งนี้ ILO จะให้ความช่วยเหลือในการระดมทรัพยากรและให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในการดำเนินการตามแผนงาน DWCP โดยรัฐบาลจะอนุญาตให้ ILO บุคลากรของ ILO และบุคคลใด ๆ ที่ได้รับมอบหมายจาก ILO ให้เข้าร่วมในกิจกรรมของ ILO เพื่อการดำเนินการตามแผนงาน DWCP และได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และการคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษ ค.ศ. 1947 รวมถึงให้การสนับสนุนงบประมาณที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้ร่างแผนงานฯ และร่างบันทึกความเข้าใจฯ ข้างต้น โดยบันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้นับแต่การลงลายมือชื่อจากคู่ภาคี และในกรณีที่ข้อกำหนดที่อยู่ในแผนงาน DWCP ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้และมีผลเหนือกว่าแผนงาน
__________________
1งานที่มีคุณค่า หมายถึง งานที่สามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนได้ เช่น งานที่นำมาซึ่งโอกาสในการทำงานและรายได้ที่เป็นธรรม งานที่ทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ทำงาน งานที่สามารถสร้างความมั่นคง/ความคุ้มครองทางสังคมให้กับครอบครัว งานที่ช่วยให้ได้พัฒนาตนเอง
ร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 มีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขยายผลจากความสำเร็จในอดีต และครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญและความท้าทายที่ถูกระบุผ่านกระบวนการการปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรคู่งานไตรภาคีซึ่งมีความแตกต่างจากแผนงาน DWCP วาระปี 2562-2564 (ฉบับแรก) ที่มีประเด็นสำคัญ 3 ประการในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของการจ้างงานที่ดีและมีประสิทธิผล (2) สร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่เปราะบาง และ (3) เสริมสร้างการกำกับดูแลตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
 
13. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้
                     1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers' Meeting Retreat: ADMM Retreat) (การประชุม ADMM Retreat) จํานวน 1 ฉบับ คือ ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยผลสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนภายใต้การดำเนินงานตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคง ค.ศ. 2025 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ กห. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                     2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าว
[จะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในการประชุม ADMM Retreat ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)]
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กห. รายงานว่า
                     1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว ได้มีหนังสือเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ สปป.ลาว ซึ่งในห้วงการประชุมดังกล่าวจะมีรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
                               1.1 วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 แน่วแน่ในการจัดตั้งอาเซียนที่ยึดมั่นในกฎกติกาทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมี “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” เพื่อพัฒนาศักยภาพในการตอบสนองต่อความท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างให้เป็นประชาคมที่มองออกไปนอกภูมิภาคในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนไว้ (ซึ่งวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ณ ปัจจุบัน ใกล้จะสิ้นสุดลงในปี 2568 และอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียน 2045 ซึ่งคาดว่าจะมีการรับรองในปี 2568)
                               1.2 ความร่วมมือ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนผ่านกลไกการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับมิตรประเทศของอาเซียนและคู่เจรจา
                               1.3 การขับเคลื่อน เรียกร้องของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เอาชนะความท้าทายร่วมกันและความเป็นหนึ่งของอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาและเจตนารมณ์ร่วม ที่จะอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพที่ยืนยง มีการส่งเสริมและดำรงความเป็นสามัคคีและความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคง 2025*
                               1.4 มุ่งมั่นที่จะดำเนินการ ดังนี้
                                         (1) รักษาบทบาทของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) และ                 การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) ในฐานะที่เป็นกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับสูงสุดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา และรับทราบถึงความสนใจของมิตรประเทศอาเซียนและคู่เจรจาในการมีส่วนร่วมในความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค
                                         (2) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการป้องกันประเทศและการทหาร ผ่านทางกลไกที่มีอยู่เพื่อพัฒนาศักยภาพ สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก และปฏิบัติตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคง 2025 อย่างเต็มที่
                                         (3) มีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงภายใต้วิสัยทัศน์อาเซียน 2045 เพื่อให้สาขาด้านความมั่นคงสามารถรับมือกับประเด็นด้านความมั่นคงที่อุบัติใหม่และในอนาคตได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความเป็นแกนกลางอาเซียน
                                         (4) หวังที่จะให้การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 จะสามารถยกระดับบทบาทของสาขาด้านความมั่นคงในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาค
                     2. ประโยชน์และผลกระทบ
                               ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ADMM Retreat เป็นการแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการป้องกันประเทศภายใต้กรอบ ADMM และ ADMM-Plus เป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคง บนพื้นฐานความเป็นแกนกลางอาเซียนในด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่จะช่วยรักษาดุลยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ เสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับประเทศนอกภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงของภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
                     3. กห. แจ้งว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่มีรูปแบบ ถ้อยคำ หรือบริบท ที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการลงนามในเอกสารดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                     4. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) พิจารณาแล้วเห็นว่า
                               4.1 ไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ หาก กห.               เห็นว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบาย และผลประโยชน์ของไทย สามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นไปตามพันธกรณีของไทยภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ไว้แล้ว 
                               4.2 ในกรณีที่ร่างเอกสารดังกล่าว ไม่ใช่ร่างสุดท้าย (final agreed text) หากมีการปรับแก้ ขอให้ กห. พิจารณาให้ร่างสุดท้ายของร่างเอกสารฯ เป็นไปตามแนวทางข้างต้นด้วย 
                               4.3 ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ ที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย กห. ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่อง                  จึงควรพิจารณาเสนอร่างเอกสารดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2558
__________________
*แผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคง 2025 มีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ (1) การเป็น ประชาคมที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ (rules-based) มุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centred) (2) การเป็นประชาคมที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาความมั่นคงทั้งในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักการของความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ (comprehensive security) (3) การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน                    ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาค และ (4) การมีสถาบันและกลไกอาเซียนรวมถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนที่เข้มแข็งและ              มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  

แต่งตั้ง

14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                     1. นายเกษม ตั้งเกษมสำราญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค [นายแพทย์เชี่ยวชาญ                (ด้านเวชกรรมป้องกัน)] สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค [นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน)] สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
                     2. นางน้ำทิพย์ หมั่นพลศรี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566
                     3. นางสาวสมจินต์ จินดาวิจักษณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566
                     4. นางดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2566
                     5. นางสาววนิดา สมบูรณ์ศิลป์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม)                  กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
15. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม                  (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
 
16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                  (กระทรวงการต่างประเทศ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูล                    พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ตามลำดับ ดังนี้
                     1. นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ                              ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
                     2. นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศในลำดับที่ 1 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว
 
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                  (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอแต่งตั้ง               นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สกท. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สกท. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
18. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดมีจำนวนกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อแทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก จำนวน 1 คน และแต่งตั้งเพิ่มเติม จํานวน 3 คน รวม 4 คน ดังนี้
                     1. นางชลิดา พันธ์กระวี
                     2. นายวรวงค์ ระฆังทอง
                     3. นายสร้างรัฐ หัตถวงษ์ แทน นายสุรเชษฐ์ ลักษมีพงศ์
                     4. นางสาวสุชาวดี พิทักษ์พรพัลลภ
                     โดยผู้ได้รับแต่งตั้ง ราย นายสร้างรัฐ หัตถวงษ์ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป


ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79515